5 องค์กรชั้นนำของไทย ร่วมเสวนาสร้างองค์กรให้เป็นที่ทำงานเพื่อความหลากหลาย
เนื่องในเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (Pride Month) ปี 2023 บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ไทยบริดจสโตน จำกัด, บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด, วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลพญาไท 2 ร่วมจัดเสวนาภายใต้หัวข้อ “การยอมรับในความแตกต่างและการมีส่วนร่วมในสถานที่ทำงาน (Diversity & Inclusion in the workplace)” ณ วิคเตอร์คลับ สาทร สแควร์ วันที่ 27 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา
ความหลากหลาย (Diversity) และการมีส่วนร่วม (Inclusion) เป็นสองแนวคิดที่มีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งความหลากหลายที่พูดถึงกันอยู่ในปัจจุบันนี้ สื่อได้ถึงอัตลักษณ์ของบุคคล ที่มีความแตกต่างกัน ทั้งทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา หรืออายุ ขณะที่การมีส่วนร่วม คือการสะท้อนว่าสังคมสามารถเปิดรับมุมมอง การแสดงตนของบุคคลที่มีความแตกต่างกันได้ พร้อมกับให้โอกาสการมีส่วนร่วมในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องความแตกต่างหลากหลายและการมีส่วนร่วมในสังคมการทำงาน ถือเป็นสิ่งที่สำคัญและควรได้รับการผลักดันจากทุกภาคส่วนในองค์กรการทำงาน เพื่อส่งเสริมให้องค์กรสามารถเดินหน้าสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้สำเร็จ
อนาวิล โชคอมรินทร์ ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ชี้ว่า แอสตร้าเซนเนก้าเป็นองค์กรที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับพนักงาน และเคารพในอัตลักษณ์ของพนักงานแต่ละคนเสมอมา โดยส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนความเท่าเทียมและความเสมอภาค เพื่อสร้างสภาพแวกล้อมการทำงานที่ทำให้พนักงานอยากมาทำงาน และรู้สึกปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยยกตัวอย่างการจัดตั้งกลุ่ม AZ Pride ที่เป็นเครือข่ายของพนักงานทั่วโลก เพื่อส่งเสริมให้พนักงานที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ได้มีส่วนร่วมและแสดงศักยภาพในด้านการทำงาน นอกจากนี้ แอสตร้าเซนเนก้ายังมีกิจกรรมอีกมากมายที่ช่วยสนับสนุนการยอมรับและการมีส่วนร่วมของพนักงาน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ทัศนคติ และเปิดมุมมองให้กับพนักงานมากขึ้น
ด้านสุทธกานต์ ช้างน้อย ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายสรรหาและพัฒนาศักยภาพบุคลากร ททรัพยากรบุคคล สำนักงานกลาง บริษัท ไทยบริดจสโตน จำกัด กล่าวว่า บริดจสโตนในฐานะผู้ผลิตยางระดับโลก ดำเนินงานโดยให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล และเคารพสิทธิมนุษยชน โดยในด้านทรัพยากรนั้น ทางองค์กรได้เปิดโอากสให้ผู้มีความสามารถเข้ามาร่วมงานได้อย่างเท่าเทียม ควบคู่กับการวางแผนพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พนักงานรู้สึกมีความสุขกับการทำงาน และมุ่งสู่การเป็น One Team, One Bridgestone ที่พร้อมส่งมอบคุณค่าแก่สังคม ลูกค้า และพันธมิตร
เช่นเดียวกับอรอนงค์ ประทักษ์พิริยะ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการองค์กรและการสื่อสารสัมพันธ์ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ที่ระบุว่า ลอรีอัลมีเป้าหมายหลักใน “การสร้างความงามที่ขับเคลื่อนโลก (Create the beauty that moves the world)” ผ่านการสร้างผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมบิวตี้เทค (Beauty Tech) ที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมความงามสำหรับทุกคนและความงามเฉพาะแต่ละคน โดยจะบรรลุเป้าหมายได้ ต้องเริ่มจากความหลากหลายของคนในองค์กร ลอรีอัลจึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความหลากหลาย ไม่แบ่งแยก และความเสมอภาคขององค์กร เพื่อดูแลพนักงานทุกกลุ่ม โดยปรับเปลี่ยนสวัสดิการที่ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้เท่าเทียมกัน เช่น การให้วันลา Flex Leave เพิ่มเติม 15 วันจากวันหยุดพักร้อนปกติ 12 วัน เพื่อให้ทุกคนนำไปใช้ทำกิจกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของตัวเอง
“คนรุ่นใหม่มีความกระตือรือร้นในการพัฒนาตนเองและสังคม รวมถึงสนใจศึกษาด้านหลักการมนุษยชนมากขึ้น ดังนั้น องค์กรทั้งหลายที่กำลังมองหาบุคลากรที่มีศักยภาพ จึงต้องมีความชัดเจนในด้านนโยบาย ซึ่งหากพูดถึงนโยบายด้านความหลากหลายและการมีส่วนร่วม คนรุ่นใหม่จะให้ความสำคัญและวัดระดับความใส่ใจขององค์กร โดยเริ่มต้นจากการสังเกตรายละเอียดปลีกย่อยที่ตัวเองได้พบเจอ ทั้งนี้ หากองค์กรใดสนับสนุนนโยบายด้านนี้ ก็จะสามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Safe Zone) ให้กับพนักงานได้ เพื่อให้พวกเขาสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ โดยปราศจากความกังวล” ภัททกา เสงี่ยมเนตร อาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชาทั่วไป หมวดสังคมศาสตร์ และการฝึกงาน วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว
ส่วนสุภาพร บัญชาจารุรัตน์ ผู้อำนวยการสายทรัพยากรบุคคล เครือโรงพยาบาลพญาไท และเครือโรงพยาบาลเปาโล แสดงความคิดเห็นว่า ความหลากหลายได้รับการยอมรับและมีการเปิดกว้างทางความคิดของบุคคลในปัจจุบัน ทำให้คนมีอิสระในการใช้ชีวิต ฝ่ายทรัพยากรบุคคลเครือโรงพยาบาลพญาไท และเครือโรงพยาบาลเปาโล จึงเปิดรับ เปิดใจ และเปิดกว้าง เพราะเชื่อว่า “ทุกคนต้องได้โอกาส” โดยพิจารณาจากความรู้ ความสามารถ และความเหมาะสมของตำแหน่งงานที่สมัครมากที่สุด
“ไม่ว่าเพศไหนก็ควรได้รับโอกาสและการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความสุขในการทำงาน และทำให้พนักงานสามารถปฏิบัติงานได้เต็มศักยภาพและมีประสิทธิภาพ” สุภาพรกล่าว
การเปิดรับความหลากหลายและการมีส่วนร่วมในสถานที่ทำงาน ไม่ได้เป็นเพียงนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นแนวคิดเชิงกลยุทธ์ เพื่อให้องค์กรสามารถดึงดูดและปลดล็อกศักยภาพของพนักงาน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน ดังนั้น องค์กรต่าง ๆ จำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่มีความเคารพ และส่งเสริมความแตกต่าง พร้อมกับสร้างโอกาสที่เท่าเทียม เพื่อเป็นการปูทางสู่อนาคตที่ทุกคนสามารถเติบโตและมีส่วนร่วมกับองค์กรได้อย่างเต็มความสามารถ