ประวัติ "ปดิพัทธ์ สันติภาดา" จากผู้ล้ม ส.ส.หลายสมัย สู่ตัวตึงอภิปรายในสภาฯ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ประวัติไม่ธรรมดา จาก สส. พิษณุโลก เขต 1 สู่ตัวตึงอภิปราย มาเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ได้อย่างไร
พรรคก้าวไกลที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ต้องเผชิญแรงต้านในการจัดตั้งรัฐบาลหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือการต่อรองตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ก่อนหน้าการเปิดประชุมสภาฯ เพียงไม่กี่วัน ก็ยังต้องยื้อตำแหน่งดังกล่าวกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคอันดับ 2
ระหว่างความขัดแย้งดังกล่าว ก็มีการรายงานว่าพรรคก้าวไกลมีแนวโน้มเสนอชื่อนายปดิพัทธ์ สันติภาดา สมาชิกผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จ.พิษณุโลก เขต 1 เป็นแคนดิเดต ขณะที่พรรคเพื่อไทยก็ตกเป็นข่าวว่าอาจเสนอชื่อนายชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. จ.น่าน
ยิ่งไปกว่านั้นก็มีอีกกระแสสะพัดว่า อาจมีการยืมมือฝั่งตรงข้ามเสนอชื่อนายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ที่เป็นศิษย์เก่าของพลังประชารัฐ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรเลยทีเดียว
ในบรรดา 3 คนดังกล่าว นายปดิพัทธ์ ที่มีชื่อเล่นว่า อ๋อง ถูกมองว่ามีประสบการณ์น้อยที่สุด แต่ถ้าหากได้ย้อนไปดูการอภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะพบว่า ส.ส. ภาคกลางตอนบนรายนี้ มีผลงานโดดเด่นไม่น้อยกว่าคนอื่นเลย
ประวัติ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา
ปดิพัทธ์ สันติภาดา เกิดเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2524 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ปริญญาตรีสัตวแพทยศาสตร์บัณฑิตจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวิทยาลัยศาสนศาสตร์ทรีนีตี้ ประเทศสิงคโปร์ น.สพ.ปดิพัทธ์ ทำงานเป็นนายสัตวแพทย์ปฏิบัติการเป็นระยะเวลาทั้งสิ้นสองปี และทำงานด้านการพัฒนาเยาวชนและแก้ไขปัญหาสังคมกับสมาคมนักศึกษาคริสเตียนไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 จนถึง พ.ศ. 2561 ด้านชีวิตครอบครัว ปดิพัทธ์ สมรสกับนาง ปิยนุช สันติภาดา
ล้มแชมป์เก่า-ปักธงส้มแบบแบ่งเขต
เว็บไซต์ส่วนตัวของนายปดิพัทธ์ ระบุว่าตนเป็นชาว จ.พิษณุโลก จบจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วทำงานเป็นสัตวแพทย์ 2 ปี ก่อนไปศึกษาต่อที่ประเทศสิงคโปร์
นายปดิพัทธ์เคยทำงานด้านการพัฒนาเยาวชนและแก้ไขปัญหาสังคม กับสมาคมนักศึกษาคริสเตียนไทย และสนใจการทำการเมืองแบบใหม่
ปดิพัทธ์ สันติภาดา / Facebookเมื่อการเลือกตั้งปี 2562 ท่ามกลางกระแสการสบประมาทพรรคอนาคตใหม่ ว่ากระแสดีแต่อาจไม่ได้ ส.ส. แบบแบ่งเขตเลยสักคน นายปดิพัทธ์กลับสร้างเซอร์ไพรส์ ด้วยการเอาชนะ นายวรงค์ เดชกิจวิกรม ที่เป็นแชมป์เก่าหลายสมัยในนามพรรคประชาธิปัตย์ได้
เมื่อปี 2566 พรรคก้าวไกลถูกปรามาสอีกครั้ง ว่าจะได้ ส.ส. น้อยลงจาก 80 คนในยุคอนาคตใหม่ เพราะไม่มีผลงานในด้านการบริหารประเทศ แถมยังเจอกับกติกาบัตร 2 ใบ ที่เอื้อพรรคขนาดใหญ่กว่า กลับเป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้งไปด้วย 151 เสียง และนายปดิพัทธ์ก็ยังรักษาตำแหน่งไว้ได้
ตีแผ่ทุจริตกองทัพ จวกข้ามแดนถึงเมียนมา
นอกจากกระแสพรรคที่มาแรงมากและความต้องการเปลี่ยนรัฐบาล ผลงานการอภิปรายในสภาฯ ของนายปดิพัทธ์ เป็นปัจจัยที่มองข้ามไปไม่ได้
ส.ส. รายนี้ เคยกล่าวถึง พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี 2563 ว่าเปิดช่องให้นำเข้าขยะมายังประเทศไทยหรือไม่ จนไทยกลายเป็น "บ่อขยะของโลก" โดยแลกมากับปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนและมลพิษสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันทำให้นายทุนเตาเผาขยะร่ำรวยขึ้น
เมื่อปี 2564 นายปดิพัทธ์ อภิปรายนายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้นหลายเรื่อง โดยมีเรื่องเรื่องการเพิ่มงบประมาณอาหารกลางวันต่อหัวแค่ 1 บาท และการที่เพิกเฉยต่อการที่โรงเรียนล้วงข้อมูลส่วนตัวของนักเรียนเพื่อนำไปดำเนินคดีกับนักเรียน รวมอยู่ด้วย
นายปดิพัทธ์ เคยอภิปราย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถึงการสนับสนุนคณะรัฐประหารในเมียนมา ที่นำโดย พลเอกอาวุโส มิน เอ่า หล่าย ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิถีประชาธิปไตย ทั้งยังเปรียบ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อาวุโส มิน เอ่า หล่าย ว่าเป็นฝาแฝดเผด็จการด้วย
ส.ส. ภาคกลางตอนบนรายนี้ เคยอภิปรายเมื่อต้นปี 2566 ถึงการทุจริตโครงการกู้บ้านพักทหาร ที่เป็นสาเหตุของการกราดยิงที่ จ.นครราชสีมา เมื่อปี 2563 โดยอ้างว่า พล.อ.ประยุทธ์ เพิกเฉยต่อการแก้ปัญหานี้ ทั้งที่เป็นผู้ดูแลกระทรวงกลาโหมและกองทัพโดยตรง และหลังจากเหตุการณ์กราดยิงผ่านไปหลายปี ก็ดูเหมือนไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
ถูกถล่มยับปมสมรสเท่าเทียม
ถึงอย่างนั้น นายปดิพัทธ์ ก็ตกเป็นเป้าวิจารณ์เช่นกันหลังจากพบว่า ไม่ได้ออกเสียงสนับสนุนการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อเปิดทางให้คู่รักทุกเพศจดทะเบียนสมรสกันได้ ทั้งที่พรรคก้าวไกลเสนอร่างกฎหมายนี้เอง
ขณะนั้น นายปดิพัทธ์ให้เหตุผลว่าขัดต่อความเชื่อทางศาสนาของตน แต่ก็ถูกผู้ใช้อินเทอร์เน็ตตั้งคำถามกลับว่า สรุปแล้วทำหน้าที่เป็นผู้แทนของคนจำนวนมากหรือเป็นผู้แทนของตัวเองกันแน่ และรัฐไทยยังยืนยันว่าเป็นรัฐฆราวาสอยู่หรือไม่
ประเด็นนี้มีการขุดกลับมาวิจารณ์นายปดิพัทธ์อีกครั้งท่ามกลางกระแสช่วงชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26
คว้าเก้าอี้รอง 1 ประธานสภาฯ
แม้นายปดิพันธ์กลายมาเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ของสภาฯ ชุดที่ 26 แล้ว แต่หนทางนี้กลับไม่ง่ายนักในมุมมองของคนจำนวนไม่น้อย
เดิมทีพรรคก้าวไกลวางให้นายปดิพัทธ์เป็นประธานสภาฯ แต่สมาชิกหลายคนของพรรคเพื่อไทยที่เป็นหนึ่งใน 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ต้องการตำแหน่งดังกล่าวให้คนของตัวเอง โดยอ้างว่าพรรคเพื่อไทยมีคะแนนตามหลังพรรคก้าวไกลเพียงแค่ 10 เสียง จนกระทั่งก่อนโหวต 1 วัน กลับมีกระแสข่าวว่าจะเสนอนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติเป็นแคนดิเดตแทน
เหตุนี้ทำให้นายปดิพัทธ์ต้องมาลุ้นเป็นรองคนที่ 1 แทน และเมื่อขณะโหวต ก็ไม่ได้ง่ายเหมือนตำแหน่งอื่น เพราะประธานสภาฯ ที่นายวันมูหะมัดนอร์ได้มานั้น และรองประธานคนที่ 2 ที่ตกเป็นของนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส. จ.เชียงราย เขต 7 พรรคเพื่อไทย กลับไม่มีผูู้เสนอชื่อแข่ง มีแต่นายปดิพัทธ์เท่านั้นที่ถูกพรรครวมไทยสร้างชาติท้าชิง
การโหวตรองประธานสภาฯ คนที่ 1 จึงกินเวลานานถึง 2 ชั่วโมง ไม่รวมกับการถกเถียงกันก่อนหน้านั้นว่าจะเขียนแต่ชื่อได้หรือไม่ และจะใช้เบอร์แทนเหรือเปล่า
อย่างไรก็ดี นายปดิพัทธ์ ก็เอาชนะนายวิทยา แก้วภราดัย จากพรรครวมไทยสร้างชาติมาด้วยคะแนน 312 ต่อ 105 คะแนน
นายปดิพันธ์ แสดงวิสัยทัศน์ไว้ก่อนการโหวตดังกล่าว ว่าต้องการเปลี่ยนแปลงให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นองค์กรที่ทันสมัยและเข้าถึงประชาชน ทั้งยังต้องการสร้างความร่วมมือกับสภานิติบัญญัติของต่างประเทศ เพื่อยกระดับให้สภาผู้แทนราษฎรของไทยได้มาตรฐานสากล เรื่อยไปถึงการโอบรับผู้คนที่แตกต่างกัน ทั้งการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมากกว่านี้ และกลุ่มเพศหลากหลาย