นักลงทุนเล็งทำ มาร์แชล แพลน ฟื้นฟูเฮติ

นักลงทุนเล็งทำ มาร์แชล แพลน ฟื้นฟูเฮติ

นักลงทุนเล็งทำ มาร์แชล แพลน ฟื้นฟูเฮติ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ชาวเฮติแห่ขอวีซ่าจากสถานทูตอเมริกันขณะนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่สุด เล็งทำ "มาร์แชล แพลน" ฟื้นฟูเฮติ

(20ม.ค.) ชาวเฮติหลายร้อยคนออหน้าสถานทูตสหรัฐในกรุงปอร์โตแปรงซ์เมื่อวันพุธ (20 ม.ค.) เพื่อขอวีซาเข้าสหรัฐ หลังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทำผู้คนจำนวนมากไร้บ้าน ทหารอเมริกันที่คุ้มกันสถานทูตเผยว่าข่าวลือว่าสหรัฐออกหนังสือเดินทางให้ชาวเฮติทุกคนที่ต้องการ ทำให้มีคนไปที่สถานทูตมากขึ้นทุกวัน ทหารนายหนึ่งเล่าว่าออกมาปฏิบัติหน้าที่ตอน 4.45 น.และคิดว่ามาเช้าแล้ว แต่ปรากฏว่ามีชาวเฮติไปยืนรออยู่แล้ว 300 คน และพอถึง 7.00 น.จำนวนคนที่รอก็เพิ่มเป็น 800 คน

ชาวเฮติที่หวังเดินทางไปสหรัฐ ส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารที่ถูกกฏหมายที่แสดงตนว่าเคยอยู่ในสหรัฐ บางคนสะอื้นพร้อมเล่าว่าเอกสารจมอยู่ใต้ซากบ้านที่พังราบลงมา ขณะเดียวกัน บางคนก็หวังว่าธรณีพิโรธครั้งนี้จะช่วยให้พวกเขาได้เดินทางออกจากประเทศยากจนแห่งนี้เสียทีหลังจากพยายามมาหลายปี อย่างรายของนายอันตวน วูลนีย์ วัย 22 ที่ถือเอกสารปึกหนาผลจากพยายามขอวีซาสหรัฐมาตลอด 10 ปีหวังจะได้ไปอยู่กับมารดาที่นครนิวยอร์ก

ขณะเดียวกัน นายเดนิส โอไบรอัน นักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเฮติ กล่าวว่ากำลังประสานกับอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตันแห่งสหรัฐ เพื่อจัดทำ "มาร์แชล แพลน" สำหรับฟื้นฟูเฮติ โดยมาร์แชล แพลนเป็นแนวคิดริเริ่มของสหรัฐเมื่อปี 2490 ในการฟื้นฟูยุโรปตะวันตกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

นายโอไบรอันเป็นเจ้าของบริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่ ดิจิเซล ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนที่จ้างงานชาวเฮติมากที่สุด เขาชี้ว่าการลงทุนจากต่างชาติอาจเป็นกุญแจสำคัญประการหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจเฮติและกระตุ้นให้บริษัทต่างๆ เข้าลงทุนในเฮติตามเขา แม้จะต้องเผชิญปัญหาอย่างคอร์รัปชัน ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง และอาชญากรรม

ด้านกระทรวงกลาโหมสหรัฐจะเริ่มใช้สนามบินอีกแห่งของเฮติและของสาธารณรัฐโดมินิกัน เพราะสนามบินที่ได้รับความเสียหายในกรุงปอร์โตแปรงซ์ ซึ่งมีรันเวย์แห่งเดียว ไม่สามารถรองรับเที่ยวบินช่วยเหลือวันละกว่า 200 เที่ยวได้ นายพลแดเนียล อัลลิน รองผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจของสหรัฐรับมือแผ่นดินไหวในเฮติ กล่าวว่าสนามบินแรกที่จะเริ่มใช้คือในเขตจัคเมล ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากแผ่นดินไหว แต่สนามบินยังใช้การได้

ด้านข้อมูลของสหประชาชาติ ระบุว่าประเทศต่างๆ รับปากจะให้ความช่วยเหลือเฮติกว่า 1,200 ล้าน ดอลลาร์ (ประมาณ 39,000 ล้านบาท)แล้ว โดยผู้บริจาครายใหญ่รวมถึงแคนาดาที่รับปากจะช่วยเหลือ 53.6 ล้านดอลลาร์ สหรัฐที่ให้ความช่วยเหลือไปแล้ว 114.4 ล้านดลอลาร์ และคณะกรรมการยุโรปที่รับปากจะช่วยเหลือ 486 ล้านดอลลาร์ อีริคสัน ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคม จัดหาระบบจีเอสเอ็มให้อย่างสมบูรณ์ รวมถึงซิมการ์ด 1,000 ชิ้นสำหรับเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ ส่วนโบลิเวียบริจาคเลือด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook