"ราเมศ" รับโหวตนายกฯ รอชัดหลังได้หัวหน้าพรรค "ประชาธิปัตย์" คนใหม่ ยังอุบชื่อผู้สมัครชิง
โฆษก ปชป.รับโหวตนายกฯ ต้องรอความชัดเจนหลังมีหัวหน้าคนใหม่ ให้สิทธิ์ กก.บห.ชุดใหม่ เป็นผู้ตัดสินใจอนาคตการเมืองของพรรค แต่ยังอุบชื่อผู้สมัครชิงเก้าอี้ บอกรอเป็นทางการวันที่ 9 ก.ค.นี้
นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์แถลงความคืบหน้าการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ว่า จะมีการประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อคัดเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคและ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ สืบเนื่องจากจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคได้ลาออกจากตำแหน่ง ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ในวันอาทิตย์ที่ 9 กรกฎาคม โดยเริ่มประชุมตั้งแต่ เวลา 08:30 น.
เมื่อถามถึงทิศทางการโหวตเลือกนายกฯ ของพรรคประชาธิปัตย์เป็นอย่างไร นายราเมศกล่าวว่า กระบวนการของพรรคประชาธิปัตย์หลังจากที่มีการโปรดเกล้าตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้วนั้นจะมีการนัดประชุมถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีหลังจากผ่านการเลือกหัวหน้าพรรคในวันที่(9 ก.ค.66) จะมีคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ที่จะประชุมร่วมกันกับส.ส.อีก 25 คนตามข้อบังคับว่าจะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างไรบ้าง
ตนมองว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีก็เปรียบเสมือนกับการเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมรัฐบาล เพราะฉะนั้นแล้วหลักเกณฑ์ตามข้อบังคับต้องมีการเรียกประชุมร่วมกันเพื่อที่จะมีมติ ตนคิดว่าหลังจากวันที่ 9 ก.ค.66 นั้นจะเกิดความชัดเจนในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้นและจะไม่มีการฟรีโหวตแต่จะเป็นไปตามมติของพรรคในการกำหนดทิศทางทางการเมืองตนถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ
เมื่อถามว่าก่อนจะได้ข้อสรุปทางพรรคจะมีการหารือกับฝ่ายรัฐบาลหรือไม่ นายราเมศกล่าวว่า เรื่องการจะไปเจรจาว่าจะมีการร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลหรือพูดคุยกันว่าจะไปจับมือเป็นฝ่ายค้านนั้น ตนยืนยันว่าทางพรรคยังไม่มีการพูดคุยกันว่าจะเป็นไปในทิศทางใด เพราะฉะนั้นต้องรอหลังจากมีการประชุมกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่กับส.ส.ภายในพรรคอีกครั้งตามที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้
ส่วนความเห็นการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย นายราเมศ กล่าวว่า ส่วนตัวตนมองว่าเป็นไปได้ยาก เพราะหากมองในเรื่องของการเมืองที่มีความเป็นเอกภาพและเชื่อมั่นเสียงของรัฐสภา ถ้าหากเป็นเสียงที่เกินครึ่งก็จะสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล จะไม่เกิด อุปสรรคในการทำงานผ่านระบบรัฐสภา เพราะฉะนั้น หากเกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อยการทำงานในรัฐสภาก็จะเป็นไปได้ยาก
“เพราะฉะนั้นการเมืองที่เป็นเอกภาพ เป็นการเมืองที่มีเสียงข้างมากในสภา เพื่อประโยชน์เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนและประเทศชาติ นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุดส่วนกระบวนการในรัฐสภาก็เชื่อมั่นว่า เร็วๆ นี้ ที่จะออกมา และเชื่อว่าหากมีการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย หากเสียงก้ำกึ่งกัน ไม่มีเสียง และถ้าเกิดมีกรณีการไปตัดตัว ส.ส. หรือไปกระทำการที่เขาคิดว่าจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า หรือ ไปซื้อตัว อันนี้ผมว่า มันก็จะย้อนกลับไปการเมืองที่ย้อนยุคมาก”นายราเมศกล่าว
เมื่อถามว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่จะยึดหลักการประชาธิปไตยในการสนับสนุน พรรคที่ได้เสียงข้างมากในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี นายราเมศมองว่า การดำเนินกิจการทางการเมืองไม่ควรที่จะบีบบังคับให้ต้องเห็นด้วยกับผู้ที่ได้เสียงข้างมาก หากพรรคการเมืองที่อยู่ในระบบประชาธิปไตย และบอกว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตย จะมาบอกว่าพรรคการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับพรรคของตัวเอง
ไม่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ฟังเสียงประชาชนนั่นคือคุณไม่เข้าใจประชาธิปไตยเสียเอง เพราะระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา แน่นอนว่าต้องมีสองฝั่งคือฝั่งรัฐบาลและฝ่ายต้าน หวังว่าให้เป็นเช่นนั้นก็จับมือกันเป็นรัฐบาลให้หมดไม่ดีเสียกว่าหรือ แต่นี่เป็นระบบรัฐสภาคุณต้องรับฟังฝ่ายตรงข้ามด้วย
ส่วนกรณีที่ก่อนหน้านี้ นายเชาว์ มีขวด อดีตโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ได้นัดหมายรวมตัวสมาชิก บริเวณลานพระแม่ธรณีฯ ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อจะแสดงจุดยืนในเรื่องของการโหวตเลือกหัวหน้าพรรค ก่อนที่จะแจ้งเลื่อนนัดหมาย โดยให้สมาชิกที่จะแสดงจุดยืนไปร่วมประชุมพร้อมกันในวันที่ 9 ก.ค.66 นี้ ที่โรงแรมมิราเคิล นายราเมศกล่าวว่าเป็นสิทธิ์ของสมาชิกที่จะสามารถเข้าประชุม
ซึ่งเรื่องนี้ตนเป็นผู้เสนอเอง ย้ำว่าไม่ได้เป็นองค์ประชุมแต่เป็นเพียงสมาชิกที่จะเข้าไปสังเกตการณ์ตามข้อบังคับของพรรคที่จะสามารถเข้าไปฟังการประชุมได้โดยต้องมีการจัดที่นั่งให้กับสมาชิกหรือผู้สังเกตการณ์โดยเฉพาะเพื่อเป็นการให้เกียรติ อีกทั้งจะมีการแจ้งไปยังจังหวัดต่างๆไม่ว่าจะเป็นตัวแทนพรรคประจำจังหวัดสาขาพรรคหรืออดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ว่าให้ฟังเสียงของสมาชิกทุกคนที่อาจจะมาร่วมประชุมหรือไม่ได้มาร่วมประชุมด้วยว่าจะมีเสียงสะท้อนหรือความเห็นในเรื่องของหัวหน้าพรรคอย่างไรบ้าง
ส่วนกระแสข่าวที่บอกว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคจากกลับมาชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอีกครั้งนั้น นายราเมศบอกว่า นายอภิสิทธิ์เป็น เป็นอดีตหัวหน้าพรรคและอดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งทุกท่านน่าจะทราบว่าเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่มีศักยภาพและมีความเป็นประชาธิปัตย์มาก ซึ่งสมาชิกทุกคนก็คาดหวังที่จะให้นายอภิสิทธิ์กลับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคตามเสียงสะท้อนของสมาชิก
แต่ก็มีสมาชิกอีกส่วนหนึ่งที่สนับสนุนอีกบุคคลหนึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แต่หากนายอภิสิทธิ์จะกลับมาเชื่อว่า นายอภิสิทธิ์ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการตามกฎระเบียบของพรรค แต่เบื้องต้นยังไม่มีความชัดเจนว่า นายภิสิทธิ์จะเอาลงแข่งจริงหรือไม่แต่ตามข้อบังคับ ก็ระบุว่า ผู้ที่จะสมัครจะต้องมายื่นใบสมัครต่อสำนักงานเลขาธิการตอนสมัครส.ส. อย่างเป็นทางการย้ำว่าผู้ที่เคยเป็นอดีตหัวหน้าพรรคสามารถที่จะกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคได้ โดยไม่จำกัดรอบ
เมื่อถามว่ามีหลายฝ่ายเรียกร้องให้เคารพหลักการที่ว่าอยากให้สนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคอันดับ1 เป็นนายกรัฐมนตรีและควรแยกเรื่องการยกเลิกม.112ออกจากการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น นายราเมศกล่าวว่า ตนมองเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการพิจารณาตัดสินใจในสมาชิกรัฐสภาว่าจะเลือกใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี
“ถือว่านั่นเป็นสิทธิของแต่ละบุคคล แต่ถ้าหากจะบอกว่าเสียงข้างมากชนะการเลือกตั้งแล้วมาบังคับให้พรรคประชาธิปัตย์เลือกคุณพิธาเป็นนายก ไม่งั้นจะตั้งพรรคการเมืองไปเพื่ออะไร ยุบไปร่วมกับพรรคก้าวไกลดีมั้ยครับ” นายราเมศยังกล่าวอีกว่า ตามหลักประชาธิปไตยจะต้องฟังเสียงข้างน้อยไม่ใช่ว่าฝั่งเสียงข้างมากจะใช้กระบวนการจากสังคมมากดดันให้พรรคอื่นยกมือให้กับตัวเอง