นายกฯ ระบุพร้อมทำประชามติหากแก้ รธน.หลายประเด็น
นายกฯระบุพร้อมทำประชามติหากแก้รธน.หลายประเด็น คาดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ได้ข้อสรุปไม่เกิน2สัปดาห์
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี ในฐานอดีตประธานกรรมการสมานฉันท์แก้รัฐธรรมนูญ ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์ปากว่า ตาขยิบ ที่ปล่อยให้พรรคร่วมเสนอแก้รัฐธรรมนูญ 2 มาตรา ซึ่งไม่ยอมนำข้อเสนอของคณะกรรมการที่เสนอให้แก้ไข 6 ประเด็นมาดำเนินการ โดยนายกฯกล่าวว่า ความพยายามที่จะใช้ 6 ประเด็นในที่สุดแล้วมันไม่สามารถที่จะเดินได้ เมื่อเดินไม่ได้ พรรคการเมืองก็เห็นว่า บางประเด็นที่ไม่น่าจะเป็นข้อขัดแย้งของสังคม ก็อยากจะเสนอมันก็แค่นั้นเอง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์จะเอาอย่างไรนั้น ก็อยู่ระหว่างการสัมมนาพรรคที่ จ.กระบี่ ซึ่งบ่ายวันนี้ตนจะลงไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายดิเรก ระบุว่า หากมีการแก้ไขเพียง 2 มาตรา ไม่สามารถสร้างความสมานฉันท์ ได้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาคือการเดิน 6 ประเด็น ก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน เพราะพรรคฝ่ายค้านไม่เอาได้วย และคนที่กำลังชุมนุมเคลื่อนไหวประท้วงทางการเมืองก็บอกว่า ไม่พอใจ ก็เห็นชัดว่า ตรงนั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ตนได้พยายามแล้วในการเชิญทุกพรรคมาร่วม และตอนแรกตกปากรับคำกันแล้ว และยังพยายามแก้ปัญหาในวงกว้าง คือหากดำเนินการใน 6 ประเด็น และมีประเด็นที่ถกเถียงกันมาก ก็ยินดีจะทำประชามติ แต่เมื่อพรรคการเมืองด้วยกันเอง ยังไม่สามารถเห็นพ้องกันได้ เราก็คิดว่า น่าจะปล่อยให้ เป็นเรื่องของสภา ที่จะทำเฉพาะประเด็นย่อย ที่ไม่กระทบกระเทือน
ถามว่า นายวัชระ กรรณิการ์ โฆษกพรรคชาติไทยพัฒนา ระบุว่า ขอให้สังคมจับตา เพราะอาจมีบิ๊กเซอร์ไพรส์ ในการลงมติแก้รัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนไม่กังวล
ส่วนที่พันธมิตรฯออกมาชุมนุมคัดคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญทันที หากมีการเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบว่า มีขัดข้องในเรื่องใด ประเด็นใด ตนคิดว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ สิ่งที่เป็นจุดยืนของรัฐบาล คือสนับสนุนให้พรรคการเมืองแก้ไขเฉพาะเรื่องที่ไม่เป็นประเด็นที่กระทบและสร้างความขัดแย้งให้สังคม โดยเฉพาะไม่ใช่เป็นไปในลักษณะ การแก้ไขที่เป็นประโยชน์ของ นักการเมืองหรือการนิรโทษกรรม 2 ประเด็นที่มีการพูดกันอยู่คือ 1. ความจำเป็นในด้านการบริหารเนื่องจากว่า มีความพยายามแล้วในการออกกฎหมายลูกให้เกิดความชัดเจนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ได้หรือไม่ แต่ว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่า ออกกฎหมายลูกได้เฉพาะขั้นตอนและวิธีการ และไม่อนุญาตเรื่องการออกหลักเกณฑ์ เราเพียงแต่แก้ไขให้การออกหลักเกณฑ์ได้
2.เรื่องระบบเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกติกาในการแข่งขันเลือกตั้ง ซึ่งแต่ละประเทศมีระบบการเลือกตั้งแตกต่างกันไป ตราบเท่าที่ยังอยู่ในกรอบของการเลือกตั้ง ที่เสรีเป็นธรรม ซึ่งมันไม่ใช่หลักการใหญ่ของประชาธิปไตย ตนคิดว่า ไม่น่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งเป็นวงกว้าง แต่หากแก้ไขให้เรื่องผิดเป็นเรื่องถูก หรือการนิรโทษกรรม หรือเพิ่มอำนาจให้ส.ส.ตนคิดว่า ตรงนี้จะเป็นปัญหาแต่เท่าที่ทราบมันไม่ได้เกี่ยวกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีโอกาสเปลี่ยนขั้วทางการเมืองในช่วงแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เราคุยกันแล้วว่า รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสภา ส่วนการบริหารเป็นเรื่องของรัฐบาล ที่ต้องแยกกันออกมา
ถามว่า หากการสัมมนาพรรคประชาธิปัตย์ ได้ข้อสรุปเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ จะนัดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อใด นายกฯ กล่าวว่า เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะดูว่าสัปดาห์หน้าจะทันหรือไม่ เพราะคืนวันที่ 28 ม.ค.นี้ ตนจะต้องไปประชุมที่สวิสเซอร์แลนด์ แต่คงไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ คงจะต้องคุยกัน เพราะตนจะต้องดูเวลา หากมีเวลาก็คุย คงไม่ยากให้ช้าเกินไป เพราะสภาเปิดสมัยประชุมแล้ว
ถามว่า นายกฯ เคยบอกว่า จะคุยกับพรรคร่วมก่อนวันที่ 28 ม.ค.นายกฯ กล่าวว่า จะดูเวลา
ถามว่า หากมีการเสนอฟรีโหวตในการเสนอแก้รัฐธรรมนูญ พรรคประชาธิปัตย์ เอาอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า แล้วแต่ที่ประชุมพรรคว่าจะใช้แนวทางใด