3 เดือน 3 เหตุการณ์ช็อก แล้ว “ความปลอดภัยในชีวิต” ของประชาชนอยู่ตรงไหน
ข่าวสะพานข้ามแยกลาดกระบังถล่มล่าสุด สร้างความตื่นตกใจให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก และนำไปสู่การตั้งคำถามเรื่อง “ความปลอดภัย” ของการใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ ทว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีอุบัติเหตุจากสิ่งก่อสร้างหรือบริการสาธารณะเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และอุบัติเหตุแต่ละครั้งก็สร้างความสูญเสียทั้งทรัพย์สิน ร่างกาย และชีวิตของประชาชน แล้วในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา เรามีอุบัติเหตุจากบริการสาธารณะแล้วกี่ครั้ง วันนี้ Sanook รวบรวมมาให้ทุกคนได้ดู และร่วมกันหาทางออก เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและปลอดภัยสำหรับประชาชนทุกคน
สะพานข้ามแยกลาดกระพังถล่ม
วันที่ 10 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ทางยกระดับอ่อนนุช - ลาดกระบัง ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เกิดพังถล่มลงมาทับรถและประชาชน ส่งผลให้มีผู้เสีียชีวิต 2 ราย และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก โดยคอนกรีตจากการก่อสร้างที่พังถล่มลงมากลายเป็นซากเศษปูนและเหล็กเส้น กินพื้นที่เป็นวงกว้างและทางยาวกว่า 300 เมตร ก็ทำให้การจราจรในบริเวณดังกล่าวติดขัดเป็นวงกว้าง
โครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช - ลาดกระบัง มีเป้าหมายเพืิ่อให้การจราจรบนถนนดังกล่าวมีความรวดเร็ว รองรับการเจริญเติบโตของชุมชนและสนามบินสุวรรณภูมิ ทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายคมนาคมขนส่งในพื้นที่ โดยโครงการมีระยะทาง 3,360 เมตร มูลค่าประมาณ 1,664,550,000 บาท เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 และต้องแล้วเสร็จในวันที่ 11 สิงหาคม 2566
ต่อมาชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวระหว่างลงพื้นที่เกิดเหตุ เชื่อว่าอุบัติเหตุครั้งนี้ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย ตามหลักการเหตุการณ์นี้ไม่ควรเกิดขึ้น และอาจมีความผิดปกติเกิดขึ้นระหว่างก่อสร้าง เพราะรากฐานมีการลงเสาเข็มลึกถึงชั้นทราย พร้อมบอกว่าเรื่องนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ
- นาทีระทึก สะพานข้ามแยกลาดกระบัง พังถล่มขณะก่อสร้าง ตาย-เจ็บหลายราย (คลิป)
- เปิดโครงการ 1.6 พันล้าน สะพานข้ามแยกถล่ม เริ่มสร้างปี 64 กำหนดเสร็จเดือนหน้า
- “ชัชชาติ” เชื่อสะพานถล่มไม่ใช่เหตุสุดวิสัย ต้องมีผู้รับผิดชอบ คาดต้องปิดพื้นที่ 3-4 วัน
ผู้โดยสารโดนทางเลื่อนสนามบินดูดขา
วันที่ 29 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา มีรายงานอุบัติเหตุผู้โดยสารประสบบนทางเลื่อน ณ สนามบินนานาชาติดอนเมือง ทำให้ขาซ้ายขาด หลังจากตรวจสอบกล้องวงจรปิด คาดว่ากระเป๋าเดินทางได้กระแทกที่ขาซ้ายของผู้โดยสารคนดังกล่าว ระหว่างอยู่บนทางเลื่อน ทำให้ล้มลง และขาก็โดนดูดเข้าไปจนถึงหัวเข่าจนขาซ้ายขาด
เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น แต่เมื่อ 10 วันก่อนหน้า ก็เกิดเหตุการณ์รองเท้าของเด็กชายคนหนึ่ง เข้าไปติดในบันไดเลื่อน จนได้รับบาดเจ็บ สอดคล้องกับเหตุการณ์ในปี 2562 ที่มีผู้โดยสารคนหนึ่ง โดนบันไดเลื่อนดูดรองเท้า ทำให้ไม่สามารถยกเท้าออกมาได้ ก่อนผู้โดยสารดังกล่าวจะตัดสินใจถอดรองเท้าออก ซึ่งจังหวะนั้นรองเท้าก็ถูกทางเลื่อนดูดหายไป
- ช็อก! ผู้โดยสารล้มบนทางเลื่อน สนามบินดอนเมือง ถูกทางเลื่อนดูด ขาซ้ายขาด
- เผย 10 วันก่อน เด็กรองเท้าติดทางเลื่อนเย็บ 11 เข็ม ผู้เชี่ยวชาญชี้จุดอันตรายอยู่ที่ "ซี่"
- ย้อนเหตุการณ์ปี 62 ทางเลื่อนสนามบินดูดรองเท้าผู้โดยสาร ผ่านไป 4 ปี รุนแรงกว่าเดิม
แท่นปูนก่อสร้างหล่นทับคนงาน - รถยนต์
วันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุแท่นปูนก่อสร้างบนถนนพระราม 2 หล่นทับคนงานเสียชีวิต 1 ราย และรถยนต์เสียหาย 4 คัน
อุบัติเหตุในลักษณะนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นบนถนนสายนี้ โดยก่อนหน้านี้ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2565 ก็เกิดอุบัติเหตุแผ่นปูนสะพานกลับรถที่อยู่ระหว่างการปิดซ่อมบำรุง พังถล่มลงมาทับรถยนต์ที่สัญจรอยู่บนถนนพระราม 2 ส่งผลให้รถยนต์เสียหายหลายคัน ทั้งยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายคน และเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 1 ราย พร้อมกับคนงานที่ตกลงมาพร้อมกับแผ่นปูนอีก 1 ราย
ถนนพระราม 2 ถือเป็นเส้นทางที่เกิดอุบัติเหตุการก่อสร้างหลายครั้ง ประชาชนก็ได้รับความเดือดร้อนจากการก่อสร้างมาอย่างยาวนาน ทว่า แม้ประชาชนจะวิพากษณ์วิจารณ์การทำงานของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบมากแค่ไหน แต่ก็ยังมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง