ในหลวง รับสั่ง ศาล อย่าทรยศต่อหน้าที่

ในหลวง รับสั่ง ศาล อย่าทรยศต่อหน้าที่

ในหลวง รับสั่ง ศาล อย่าทรยศต่อหน้าที่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ในหลวง" มีรับสั่งแก่ตุลาการศาลปกครอง อย่าทรยศต่อความยุติธรรม แม้อาจมีบางฝ่ายไม่พอใจในคำตัดสิน แต่ขอให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าหาญและหนักแน่น

เมื่อเวลา 17.44 น. วันที่ 25 มกราคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ ห้องประชุม ชั้น 14 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด นำตุลาการศาลปกครองสูงสุด และตุลาการศาลปกครองชั้นต้น ตำแหน่งตุลาการศาลปกครอง เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ในโอกาสนี้ นายสุชาติ เวโรจน์ เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ร่วมเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ด้วย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราโชวาทเพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ตอนหนึ่งว่า "ท่านทั้งหลายได้ปฏิญาณ ควรรักษาคือคนที่ต้องตัดสินอะไรที่ควร ที่ไม่ควร ที่ดี ที่ไม่ดี ท่านที่ได้ปฏิญาณนี้มีความสำคัญอยู่ไม่น้อย คือ ท่านต้องจัดการให้ปัญหาในการปกครองของประเทศเป็นไปโดยเรียบร้อย และท่านมีอำนาจที่จะตัดสิน ที่จะพิพากษา นั่นหมายความว่าท่านจะต้องรู้ อะไรควรไม่ควร นี่เป็นงานที่ท่านต้องทำ และมีความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อให้ประเทศชาติมีความเป็นธรรม การทำความดีหมายความว่า ทำอะไรที่เป็นจริง ที่เรียบร้อย ที่จะทำให้รู้ได้ มีความอยู่เย็นเป็นสุข ฉะนั้นงานของท่านก็มีความสำคัญไม่น้อย เพราะการพิพากษาเป็นหน้าที่ท่าน ของศาล ต้องพิพากษาเพื่อความเป็นธรรม ความเป็นธรรมนี้หมายความอะไรที่เรียบร้อย ที่ถูกต้อง ที่ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปโดยดี เพราะฉะนั้นท่านมีหน้าที่สำคัญและต้องทำตามคำพิพากษา คำปฏิญาณที่ท่านได้กล่าวในหน้าที่ของท่าน ต้องจำว่าท่านได้ปฏิญาณตนว่า จะทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความเป็นธรรม

ความเป็นธรรมนี้ก็หมายความว่าอะไรที่เรียบร้อย ซึ่งเป็นการปฏิบัติในสิ่งที่ดี เพราะว่าคนมีความคิดแตกต่างกัน จะต้องมาพิจารณาอะไรที่แตกต่างกัน และให้เห็นว่าอะไรที่ควรจะทำ ที่เป็นกลาง ที่เป็นความจริง เป็นความยุติธรรม ความยุติธรรมนี้หมายความว่ายุติด้วยธรรม คือตัดสินว่าอะไรเป็นธรรม อะไรไม่เป็นธรรม ซึ่งดูก็น่าจะง่าย แต่ความจริงไม่ง่าย เพราะแต่ละคนมีความคิดของตัว ถ้าใครที่ยึดติดในทางของตัว เรื่องของตัวเป็นยุติธรรม ความยุติธรรมมีอย่างหนึ่งคือเป็นยุติธรรมแก่ตัวแท้จริง ซึ่งน่าจะง่ายแต่ไม่ง่าย รวมทั้งความดีหรือเป็นความยุติธรรมแก่ตัว แต่ความยุติธรรมนี้ที่มีอันหนึ่งอันเดียว มีหลายแล้วแต่ความต้องการของแต่ละคน

ความต้องการของแต่ละคนต่างกัน แต่ถ้าเราอยู่ตรงกลาง บางทีท่านถูกว่า ถูกกล่าวว่าท่านเป็นคนที่ไม่ดี เพราะว่าไปตัดสินในสิ่งที่ไม่เป็นที่พอใจของอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ถ้าท่านมี ท่านยึดติดกับคนที่ทำหน้าที่ด้วยความยุติธรรม ก็เป็นกลาง ความเป็นกลางนี้ยากมาก เพราะต้องมีความคิดที่เป็นกลาง ท่านต้องมีความเป็นกลาง มีไว้ซึ่งความยุติธรรม ถ้าท่านทั้งหลายได้ทำหน้าที่ของท่าน และถ้าท่านทำไม่ได้ เท่ากับท่านทรยศต่อความยุติธรรม การทรยศไม่มีใครอยากจะทำ เพราะเป็นความไม่ดี เป็นความน่าเกลียด ท่านต้องพิจารณา ท่านปฏิญาณที่จะทำที่จะรักษาความยุติธรรม ก็ต้องสร้างความยุติธรรม คดีต้องมีความยุติธรรมของคดีนั้นๆ ซึ่งถ้าท่านพิจารณาแล้วคิดว่าอะไรเป็นยุติธรรม ซึ่งมีอะไรที่เป็นกลาง ที่ถูกต้อง ท่านก็ชนะในความจริง ฉะนั้น ท่านต้องรักษาความยุติธรรมนี้และรักษาความยุติธรรมและปฏิบัติด้วยความกล้าหาญ หนักแน่น"

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook