คนกรุงโอดค่าตั๋วรถไฟฟ้าแพง จี้หน่วยงานปรับลดราคาให้ถูกลง
กรุงเทพโพลล์ ประชาชน 88.3% พอใจการให้บริการรถไฟฟ้าในภาพรวม ขณะ 61.0% โอดค่าตั๋วโดยสารแพง เรียกร้องปรับให้ถูกลงกว่านี้
“กรุงเทพโพลล์” มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นประชาชนเรื่อง “รถไฟฟ้าสายสีต่างๆ กับหัวอกคนใช้บริการ” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนที่ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีต่างๆในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ด้วยการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว จำนวน 1,200 คน ระหว่างวันที่ 5-10 ก.ค.ที่ผ่านมา
พบว่า ปัจจุบันประชาชน ร้อยละ 38.2 เดินทางโดยใช้บริการรถไฟฟ้า (BTS, MRT, Airport Link) เป็นบางวัน, ร้อยละ 36.2 ใช้เป็นประจำทุกวัน และ ร้อยละ 25.6 ระบุ นานๆ ใช้ที ขณะที่ ร้อยละ 66.2 ระบุ ขึ้นขบวนเดียว/ต่อเดียวถึง ส่วนร้อยละ 33.8 ต้องเปลี่ยนขบวนเชื่อมต่อไปรถไฟฟ้าสายสีอื่น
ขณะเดียวกัน ประชาชน ร้อยละ 46.2 ระบุ มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า เฉลี่ยวันละ 51-100 บาท, ร้อยละ 35.4 น้อยกว่า 50 บาท และ ร้อยละ 14.2 101-150 บาท โดยที่ร้อยละ 61.0 รู้สึกว่าปัญหา หรือความลำบากในการใช้บริการรถไฟฟ้า คือ ค่าตั๋วโดยสารแพง, ร้อยละ 39.4 จุดเชื่อมต่อของ MRT BTS เดินไกล และร้อยละ 25.7 ยุ่งยากต้องพกบัตรโดยสารทีละหลายใบ ทั้ง MRT, Rabbit, EMV
ส่วนเรื่องที่อยากฝากถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการรถไฟฟ้า ร้อยละ 61.0 ระบุ ปรับค่าโดยสารให้ถูกลงกว่านี้ ,ร้อยละ 48.5 ระบุ อยากให้มีบัตรเดียวใช้บริการได้กับรถไฟฟ้าทุกสายเหมือนต่างประเทศ และร้อยละ 47.6 ระบุ อยากให้เร่งสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่างๆให้เสร็จตามแผนอย่างรวดเร็ว
สำหรับ ความพึงพอใจการให้บริการรถไฟฟ้าในภาพรวม ประชาชน ร้อยละ 88.3 ระบุ พึงพอใจมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 11.7 ระบุ พึงพอใจน้อยถึงน้อยที่สุด
ทั้งนี้ หากสามารถสร้างรถไฟฟ้าครอบคลุมทุกเส้นทางตามที่วางแผนไว้ ประชาชน ร้อยละ 78.5 เห็นว่าจะทำให้คนกรุงเทพฯและปริมณฑลลดใช้รถส่วนตัวและหันมาใช้รถไฟฟ้าได้ ขณะ ร้อยละ 10.1 เห็นว่าไม่ได้ และร้อยละ 11.4 ยังไม่แน่ใจ