เหลืออด! "โรม" ฉะยาว ส.ว.ไล่ฟ้องประชาชน ถามจะอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์แบบไหน?
"โรม" สุดทน! ต้องเห็น ส.ว.ใช้อำนาจย่ำยีประชาชนซ้ำๆ ทำลายเสียงข้างมาก ไล่ฟ้องร้องทุกคนที่ขวางหน้า ถามหน่อย ยังกล้าเรียกผู้อื่นว่าเป็นอันธพาลได้อีกหรือ?
17 กรกฎาคม 2566 นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ @RangsimanRome สุดทน ส.ว.ใช้อำนาจย่ำยีประชาชนซ้ำๆ ฝืนเสียงข้างมาก ฟ้องร้องทุกคนที่ขวางหน้า
หลายวันที่ผ่านมา ในช่วงระหว่างที่มีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ผมเฝ้าติดตามสถานการณ์อยู่เงียบๆ ให้เวลาแก่ทุกคนทุกฝ่ายที่จะต้องมาเกี่ยวข้องกับวาระสำคัญนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส.ว. ทั้ง 250 คน ได้คิดทบทวนไตร่ตรอง ตกผลึกให้สุดว่าถึงจุดนี้แล้ว ถ้าพวกท่านยังจะพยายามฝืนมติมหาชนที่แสดงออกมาอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งผ่านการเลือกตั้งแล้ว ประเทศจะเดินต่อไปในทิศทางไหน สังคมจะยังเหลือคุณค่าอะไรให้ยึดถือในการอยู่ร่วมกัน และตัวพวกท่านเองจะอยู่ในฐานะอะไรในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย
มาถึงวันนี้ นอกจากจะไม่นำพาต่อเสียงของประชาชนในการจัดตั้งรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีซึ่งได้รับการยอมรับจากเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ส.ว. บางส่วนยังพยายามเดินหน้าฟ้องร้องดำเนินคดีต่อประชาชนผู้ที่ออกมาประณามการใช้อำนาจของพวกท่าน ผมไม่สามารถอยู่เฉยๆ ปล่อยให้ประชาชนถูกกระทำย่ำยีซ้ำๆ แบบนี้ได้อีก
พวกท่านอ้างว่าการกระทำของพวกท่านในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 เป็นสิทธิเสรีภาพของพวกท่านที่จะเห็นต่าง และคนอื่นต้องให้ความเคารพ นี่เป็นข้ออ้างที่ผิดโดยสิ้นเชิง เพราะความเห็นต่างที่พวกท่านอ้างครั้งนี้มิได้อยู่บนพื้นฐานที่เสมอภาคเท่าเทียมกับประชาชนคนอื่นๆ ในประเทศนี้เลย แน่นอนว่าพวกท่านย่อมมีสิทธิเสรีภาพในความคิดเห็นอย่างไรก็ได้ในฐานะบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้พวกท่านก็มีโอกาสที่จะได้ใช้มันไปแล้ว เช่นในช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง ท่านมีเสรีภาพที่จะพูดออกมาได้ว่ารัฐบาลที่ดี นักการเมืองที่ดีควรเป็นเช่นไร บอกออกมาให้ประชาชนคนอื่นเขาเก็บไปคิดต่อ หรือเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ท่านก็ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. และรัฐบาลที่ท่านอยากเห็นไปแล้วเสมอเหมือนกันกับประชาชนคนอื่นๆ ทั้งประเทศ แต่เมื่อมาถึงการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ในขณะที่พรรคการเมืองเสียงส่วนใหญ่ในสภากำลังน้อมนำเอาเสียงที่ได้รับจากประชาชนส่งต่อไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นให้ได้ พวกท่าน ส.ว. กลับอ้างเอาความคิดเห็นส่วนตัวมาปะปนกับการใช้อำนาจแล้วทำลายเสียงของประชาชนนั้นทิ้ง
พวกท่านกล่าวหาว่าการที่ผู้คนออกมาประณามพวกท่านบ้าง ประกาศคว่ำบาตรธุรกิจทางบ้านของพวกท่านบ้างนั้นเป็นพฤติกรรมของอันธพาล แต่การที่พวกท่านรับเอาอำนาจนี้มาจากคณะรัฐประหาร คสช. ผู้ซึ่งเป็นที่สุดแห่งอันธพาล ผ่านกติกาที่เขียนขึ้นโดยคณะรัฐประหารเอง (ซึ่งเลิกอ้างเสียทีว่ามันผ่านประชามติโดยชอบแล้ว เพราะมันไม่เคยเสรี ไม่เคยเป็นธรรม ผมนี่แหละคือคนที่ถูกจับเพียงเพราะคัดค้านกติกานี้) แล้วเอาอำนาจนั้นมาทำให้เจตนารมณ์ของประชาชนกลายเป็นไร้ค่า ประชาชนที่ควรเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดกลับต้องมาคุกเข่าอ้อนวอนพวกท่าน หากใครยังแข็งขืนยืนท้าทายก็งัดเอาเครื่องมือทางกฎหมายที่พวกท่านถนัดมาเหยียบซ้ำอีกทีหนึ่ง เช่นนี้แล้วพวกท่านยังกล้าเรียกผู้อื่นว่าเป็นอันธพาลได้อีกหรือ? ยังกล้าคิดว่าตัวเองเป็นผู้ดีมีอารยะได้อีกหรือ?
หากพวกท่านลองหันไปมองเพื่อน ส.ว. อีก 13 ท่านที่ลงมติเห็นชอบให้กับคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ดูสักนิด ใน 13 ท่านนั้น ไม่มีใครสักท่านเลยที่บอกว่าคุณพิธาเป็นคนดีเลิศประเสริฐศรีไร้ที่ติทั้งปวง ไม่มีใครสักท่านเลยที่บอกว่าเห็นด้วยกับนโยบายแก้มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล แต่พวกเขาก็ยังลงมติเห็นชอบให้ นั่นก็เพราะพวกเขาเหล่านั้นยังเห็นหัวประชาชน ยังยอมรับในเสียงของประชาชน และตระหนักดีว่าถึงแม้ตัวพวกเขาเองจะมีที่มาและอำนาจที่ไม่เป็นปรกติตามระบอบประชาธิปไตย แต่พวกเขาเลือกได้ที่จะใช้อำนาจนั้นเพื่อเปิดทางให้กระบวนการประชาธิปไตยและคืนความปรกติให้กับการเมืองไทย ผลที่เกิดขึ้นคือประชาชนก็ยังพร้อมที่จะเปิดใจให้กับพวกเขา หรืออย่างน้อยก็ไม่อยากจะถือสาหาความอะไรอีก พวกท่านเคยเก็บเอาตัวอย่างเหล่านี้มาคิดบ้างหรือไม่ว่าที่มีประชาชนออกมาประณามพวกท่านกันถึงขนาดนี้ เป็นเพราะแค่ไม่ชอบความคิดเห็นส่วนตัวของพวกท่าน หรือเป็นเพราะเหลืออดแล้วกับสิ่งที่พวกท่านทำกับประชาชนตลอดหลายปีที่ผ่านมากันแน่?
พวกท่านอาจคิดว่าตัวเองมีโครงสร้างอำนาจและเครื่องมือทางกฎหมายเป็นหลักประกันความแตะต้องไม่ได้เสมอ แต่ทุกๆ ครั้งที่พวกท่านใช้หลักประกันพวกนั้นมันแลกมาด้วยการตอกลิ่มความขัดแย้งให้ร้าวลึกลงไปเรื่อยๆ และหากมองย้อนกลับไปให้ระยะยาวแล้ว ทิศทางของประเทศที่ถูกความขัดแย้งพาไปนั้นไม่เคยไปในทางที่เป็นคุณต่ออุดมการณ์ความเชื่อของพวกท่านเลย
พวกท่าน ส.ว. ทั้งหลาย เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่เติบโตมีชีวิตมาถึงขนาดนี้แล้ว วันลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง 19 กรกฎาคมนี้ จะเอาอย่างไรต่อ? จะยังฝืนเสียงประชาชนและฟ้องทุกคนที่ขวางหน้าไปเรื่อยๆ แบบนี้หรือไม่? คิดดูให้ดีเถิดครับ
อัลบั้มภาพ 16 ภาพ