ศาลรับฟ้องแล้ว! คดี 7 กกต. จัดเลือกตั้งโดยทุจริต-กลั่นเเกล้ง "พิธา"

ศาลรับฟ้องแล้ว! คดี 7 กกต. จัดเลือกตั้งโดยทุจริต-กลั่นเเกล้ง "พิธา"

ศาลรับฟ้องแล้ว! คดี 7 กกต. จัดเลือกตั้งโดยทุจริต-กลั่นเเกล้ง "พิธา"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันนี้ (17 ก.ค. 66) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำสั่งให้รับคดีไว้เพื่อตรวจฟ้อง คดีที่ทนายความยื่นฟ้อง 7 กกต. จัดเลือกตั้งโดยทุจริตฯ กลั่นแกล้ง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เรื่องคุณสมบัติ ส.ส. ให้นัดฟังคําสั่งหรือคําพิพากษา วันที่ 8 ส.ค. 2566 เวลา 09.30 น.

เรื่องนี้สืบเนื่องมาจากกรณี นายยงยุทธ เสาแก้วสถิต ทนายความ ได้ยื่นฟ้อง นายอิทธิพร บุญประคอง กับพวก รวม 7 คน (กกต.) ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ กระทำการในฐานะเจ้าพนักงานของรัฐ โดยทุจริต เจตนา ร่วมกันออกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566

โดยคำฟ้องระบุว่า โจทก์เป็นหนึ่งในจํานวนคนไทยหลายหมื่น ที่ลงคะแนนเสียงเลือกผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ เขต 8 มีนบุรี กรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคก้าวไกล เช่นเดียวกับประชาชนชาวไทยผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วประเทศที่เลือกผู้สมัครและพรรคก้าวไกลรวมมากกว่า 14 ล้านคน เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 โดยคาดหวังว่าพรรคก้าวไกลจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และได้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ซึ่งมีความรู้ความสามารถ เหมาะสมที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี บริหารประเทศไทยคนต่อไป

โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีนี้ จําเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการการเลือกตั้ง ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งและคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายหลายฉบับ เช่น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มีหน้าที่กำกับดูแลงานในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ

จำเลยที่ 2-6 เป็นกรรมการการเลือกตั้ง โดยมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายหลายฉบับเช่นเดียวกับจำเลยที่1,2 เป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมือง มีหน้าที่กำกับ ดูแลงานโดยทั่วไป งานธุรการ ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ และมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง งานในหน้าที่นายทะเบียนพรรคการเมือง กำกับดูแลพรรคการเมือง การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง โดยจำเลยที่ 7 ขึ้นการบังคับบัญชากับจําเลยที่ 1 ระหว่างวันที่ 31 มกราคม 2566 ต่อเนื่องถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 เวลากลางวันและกลางคืน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด

จำเลยทั้ง 7 ได้บังอาจกระทำผิดเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ กระทำการในฐานะเจ้าพนักงานของรัฐ โดยทุจริต เจตนา ร่วมกันออกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2566 ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงนามในประกาศดังกล่าว กำหนดวันรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ ตลอดจนรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

โดยจำเลยทั้ง 7 โดยทุจริต เจตนาร่วมกัน แบ่งเขตเลือกตั้งทั่วประเทศ ออกแบบบัตรเลือกตั้ง ทั้งการเลือก ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ ให้แตกต่างจากการเลือกตั้งหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา พิมพ์บัตรเลือกตั้งเกินกว่าจำนวนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่า 7 ล้านใบ ทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตลอดจนประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วประเทศไม่เข้าใจ หรือสับสน วุ่นวาย รวมทั้งออกระเบียบ ประกาศต่างๆ ในลักษณะทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยให้พรรครัฐบาลเดิมชนะการเลือกตั้ง และได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง หรือเป็นรัฐบาลสมัยที่ 2

จําเลยทั้ง 7 ก็ย่อมรู้อยู่แก่ใจว่า ก่อนการเลือกตั้ง ประชาชนนิยมฝ่ายรัฐบาลน้อยกว่าฝ่ายค้าน โดยก่อน ขณะ หรือหลังรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง จำเลยทั้ง 7 มีหน้าที่ต้องตรวจสอบคุณสมบัติของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคน ว่าผู้ใดไม่มีคุณสมบัติ และ หรือขาดคุณสมบัติที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ตามกฎหมาย

แต่จำเลยทั้ง 7 หาได้ทำตามอำนาจหน้าที่ของพวกตนไม่ จนปล่อยล่วงเลยมาจนถึงวันเลือกตั้งทั่วไป คือวันที่ 14 พฤษภาคม มี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองหนึ่ง มายื่นคำร้องต่อจำเลยทั้ง 7 กล่าวหาว่า นาย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถือหุ้นสื่อไอทีวี จำนวนเพียงประมาณ 4.2 หมื่นหุ้น ในจำนวนหลายล้านหุ้น จึงอาจหรือขาดคุณสมบัติที่จะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และต่อมามีผู้ยื่นข้อกล่าวหาในลักษณะเดียวกันอีกหลายคน แต่จำเลยก็ไม่ดำเนินการสืบสวน ไต่สวน และวินิจฉัยโดยพลันตามกฎหมาย หรือไม่ส่งเรื่องให้ศาลฎีกามีคำสั่งหรือคำพิพากษาตามกฎหมาย ซึ่งจำเลยทั้ง 7 ก็ทราบดีว่า คล้ายกับกรณีของ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดนครนายก ที่ถูกพวกจำเลยทั้ง 7 เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

ต่อมาเมื่อ วันที่ 2 พฤษภาคม 66 ศาลฎีกามีคำสั่งคืนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งให้แก่ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จังหวัดนครนายก กรณีถูกกล่าวหาว่า นายชาญชัย ถือหุ้นสื่อเพียงประมาณ 200 หุ้น ในจำนวนหลายล้านหุ้น

ทั้งนี้ โจทก์ได้ส่งหนังสือคัดค้านและชี้แจงให้จำเลยที่ 1,2 ฉบับลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2566 จำเลยทั้ง 7 ได้มีหนังสือด่วนที่สุดไปถึง นายชาญชัย และผู้เกี่ยวข้อง แจ้งคำสั่งศาลฎีกาคืนสิทธิให้แก่ นายชาญชัย ดังกล่าว ทั้ง นายพิธา เคยเป็น ส.ส.มาแล้ว 4 ปี หรือ 1 สมัย จนครบวาระ ครั้งนี้เป็นการสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 2 ของ นายพิธา การกระทำของจำเลยทั้ง 7 ดังกล่าวข้างต้น ที่ไม่รีบดำเนินการสืบสวน ไต่สวน วินิจฉัย หรือส่งศาลฎีกา มีคำสั่งหรือคำพิพากษาต่อไปตามกฎหมาย กรณีที่ นายพิธา ถูกร้องเรียนดังกล่าว จึงเป็นการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ทำให้บุคคลอื่นคือโจทก์ หรือ นายพิธา ได้รับความเสียหาย

จำเลยทั้ง 7 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ กระทำการในฐานะเจ้าพนักงานของรัฐ โดยทุจริต เจตนา ร่วมกันก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. จำเลยทั้ง 7 มีพฤติการณ์ที่น่าเคลือบแคลงสงสัยหลายประการ เช่น ประกาศผลการเลือกตั้งได้ช้ากว่าที่ควร จำเลยทั้ง 7 ปฏิเสธไม่รับความช่วยเหลือจากหน่วย หรือองค์กรเอกชน และไม่เลือกใช้การสื่อสารที่ทันยุคทันสมัยแต่อย่างใด

โดยผลการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ปรากฏว่าประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งมากกว่า 14 ล้านคน รวมทั้งโจทก์ด้วย เลือกพรรคก้าวไกล จนพรรคก้าวไกลได้ ส.ส.มากเป็นอันดับหนึ่ง คือได้จำนวน 151 คน โดยโจทก์และผู้ลงคะแนนเสียงเลือก นายพิธา และพรรคก้าวไกล เหตุเพราะเห็นว่า นายพิธา เป็นคนมีความรู้ความสามารถสูง เหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมุ่งหวังจะให้พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และ นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

แต่จำเลยทั้ง 7 โดยทุจริต เจตนา ร่วมกันกลั่นแกล้ง นายพิธา ด้วยการประชุมวินิจฉัย ลงมติ หรือมีความเห็นร่วมกันส่งเรื่องที่ นายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถูกร้องเรียนว่าถือหุ้นสื่อไอทีวี ต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลการเมืองอย่างเร่งรีบ เพื่อให้วินิจฉัยว่า นายพิธา ไม่มีคุณสมบัติ และหรือขาดคุณสมบัติที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เพราะถือหุ้นสื่อ และขอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

โดยจำเลยทั้ง 7 มิได้ดำเนินการสืบสวน ไต่สวน และวินิจฉัยให้ละเอียดรอบคอบเสียก่อน ตามอำนาจหน้าที่ หรือตามขั้นตอนของกฎหมายแต่อย่างใด อันเป็นการดำเนินการก่อน หรือขณะวันโหวตเลือก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 เพื่อลดความน่าเชื่อถือของ นายพิธา และพรรคก้าวไกล ต่อสมาชิกรัฐสภา ทั้งที่ นายพิธา เป็น ส.ส.มาจนครบหนึ่งสมัยหรือ 4 ปีแล้ว ที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีผู้ใดร้องคัดค้านแต่อย่างใด จึงเป็นการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต

ทำให้บุคคลอื่นคือโจทก์ และหรือ นายพิธา ได้รับความเสียหาย เหตุเกิดที่แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

โดยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำสั่งให้รับคดีไว้เพื่อตรวจฟ้อง ให้นัดฟังคําสั่งหรือคําพิพากษา วันที่ 8 ส.ค. 2566 เวลา 09.30 น.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook