บวรศักดิ์ อดีตมือเขียนรัฐธรรมนูญยุค คสช. โพสต์ผิดหวังมติห้ามเสนอนายกฯ ซ้ำ
นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่มีบทบาทในการยกร่างรัฐธรรมนูญยุคคณะรัฐประหารที่นำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา โพสต์เมื่อวันพุธ (19 ก.ค.) หลังการลงมติร่วมของรัฐสภา ห้ามเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีซ้ำ ว่าตนรู้สึกผิดหวังอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ ต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) หลายคน ที่สนับสนุนมติดังกล่าว
อดีตมือเขียนรัฐธรรมนูญรายนี้ อธิบายว่า การนำข้อบังคับการประชุมร่วมของรัฐสภาที่ระบุว่าห้ามเสนอญัตติซ้ำ มาขัดขวางการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี กลายเป็นสิ่งที่ทำให้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ที่แยกการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ต่างหาก ใช้งานไม่ได้
"เอาข้อบังคับการประชุมมาทำให้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเป็นง่อย ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญกำหนดการเลือกนายกไว้เป็นการเฉพาะแล้ว น่าสงสารประเทศไทย ผิดหวัง สส. คนที่ไปร่วมลงมติห้ามเสนอชื่อซ้ำ แม้คุณจะอยู่ฝ่ายค้านคุณก็ควรรู้ว่าเมื่อไหร่ต้องทิ้งความเป็นฝ่ายค้าน ทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่การตีความของรัฐสภาไม่เป็นที่สุด" นายบวรศักดิ์ โพสต์
นายบวรศักดิ์ยังชี้ช่องทางอีกด้วยว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้สามารถร้องเรียนผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินได้ และถ้าหากผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ดำเนินการตามกรอบเวลา ก็สามารถยื่นร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงได้
"คนที่คิดว่าสิทธิของตนถูกกระทบ ไปยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้ว่ามติรัฐสภาซึ่งเป็นการกระทำทางนิติบัญญัติขัดรัฐธรรมนูญได้ตามมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ ถ้าผู้ตรวจการไม่ส่งศาล ผู้นั้นยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ผมจะรอดูคำร้องว่าการกระทำของรัฐสภาขัดรัฐธรรมนูญครับ และจะดูว่าศาลรัฐธรรมนูญว่ายังไง สอนรัฐธรรมนูญมาสามสิบกว่าปีต้องทบทวนแล้วว่าจะสอนต่อไหม?!?!?!"
ช่วงที่ผ่านมาของวันเดียวกันนี้ รัฐสภามีการประชุมร่วมกันเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี โดยที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถูกเสนอชื่อแต่เพียงผู้เดียว โดยนายสุทิน คลังแสง สส. พรรคเพื่อไทย
แต่สมาชิกรัฐสภาหลายคนเห็นว่าเสนอชื่อนายพิธาซ้ำไม่ได้ โดยยกข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภาข้อ 41 มาอ้าง ว่าไม่ให้เสนอญัตติซ้ำ ทำให้ฝ่ายที่สนับสนุนนายพิธาแย้งว่าการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ญัตติ จึงเสนอชื่อซ้ำได้
การถกเถียงเรื่องนี้ดำเนินไปยาวนานหลายชั่วโมง จนกระทั่งมีการลงมติว่าการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเป็นญัตติหรือไม่ ซึ่งผลออกมาว่าสมาชิกส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นญัตติ เป็นการปิดทางนายพิธาไม่ให้ถูกเสนอชื่ออีกภายในการประชุมรัฐสภาสมัยนี้
นายบวรศักดิ์ เคยมีบทบาทนำในการร่างรัฐธรรมนูญยุค คสช. แต่ฉบับนี้ถูกปฏิเสธจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ท่ามกลางกระแสข่าวสะพัดว่าสาเหตุที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบ เพราะไม่ได้เปิดทางให้คณะรัฐประหารสืบทอดอำนาจได้เท่าที่ต้องการ จนต่อมาทำให้นายบวรศักดิ์กล่าวต่อสื่อมวลชนเชิงตัดพ้อว่าจะไม่รับเขียนรัฐธรรมนูญอีกต่อไป
หลังจากนั้นมีการเขียนร่างรัฐธรรมนูญอีกฉบับ แต่คราวนี้นำโดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ และถูกนำมาลงประชามติเมื่อปี 2559 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ในขณะนั้น