คนไทยสุขลดลง เหตุพรรคร่วมขัดแย้ง-สังคมไม่เป็นธรรม

คนไทยสุขลดลง เหตุพรรคร่วมขัดแย้ง-สังคมไม่เป็นธรรม

คนไทยสุขลดลง เหตุพรรคร่วมขัดแย้ง-สังคมไม่เป็นธรรม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เอแบคโพลล์ระบุความสุขคนไทยเดือนมกราคมลดลง ผลจากความขัดแย้งในสังคมที่เกี่ยวโยงไปยังปัญหาทางการเมือง และความไม่เป็นธรรมในสังคม เผยคนกรุงเทพฯ ความสุขต่ำสุด และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ลดทอนความสุขของคนไทยในช่วงเทศกาลตรุษจีนนี้

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง "แนวโน้มความสุขมวลรวม GDH ของคนไทยภายในประเทศประจำเดือนมกราคม 2553 และความตั้งใจจับจ่ายใช้สอยของคนไทยเชื้อสายจีน ในช่วงตรุษจีนปีนี้" กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้ที่พักอาศัยอยู่ใน 28 จังหวัดของประเทศ จำนวน 5,570 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 24-30 มกราคม 2553 พบว่าในเดือนมกราคมปี 2553 เทียบกับช่วงเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ค่าความสุขลดต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือจาก 7.26 ตกลงมาอยู่ที่ 6.52 โดยพบว่า ความสุขของคนไทยโดยภาพรวมทั้งประเทศที่น่าเป็นห่วงคือ สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ ตกลงจากที่เคยสูงถึง 5.58 เหลือเพียง 4.06 เท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีค่าความสุขคนไทยที่น่าเป็นห่วงเกือบทุกตัวชี้วัด คือ ความเป็นธรรมในสังคมตกลงจาก 7.07 มาอยู่ที่ 5.19 สภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนตกลงจาก 7.09 มาอยู่ที่ 5.87 บรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในชุมชนตกลงจาก 7.58 มาอยู่ที่ 6.67 บรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวตกลงจาก 8.96 มาอยู่ที่ 8.01 และสุขภาพใจของประชาชนก็ตกลงจาก 7.96 มาอยู่ที่ 7.58

เมื่อจำแนกค่าความสุขมวลรวมของคนไทยตามภูมิภาค พบว่า คนกรุงเทพฯ มีค่าความสุขต่ำที่สุดคือ 6.17 คนในภาคกลางได้รองสุดท้ายคือ 6.19 ส่วนประชาชนที่มีความสุขมวลรวมมากที่สุดคือ คนในภาคเหนือ ได้ 7.37 และรองลงมาคือ ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ 6.69 ส่วนประชาชนในภาคใต้ ได้ 6.48

นายนพดล กล่าวว่า ผลสำรวจชี้ให้เห็นชัดเจนว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ และบรรยากาศความขัดแย้งของผู้ใหญ่ในสังคมไทยขณะนี้ กำลังลดทอนความสุขของประชาชนคนไทยลงไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งๆ ที่ความสุขของประชาชนคนไทยเคยเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากและกระจายไปในทุกกลุ่ม ทั่วประเทศ โดยสะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นเมื่อสอบถามเฉพาะกลุ่มคนไทยเชื้อสาย จีน ถึงความตั้งใจจะจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลตรุษจีน เรื่องการเซ่นไหว้ อั่งเปา และการท่องเที่ยว ซึ่งพบว่า ประชาชนคนไทยเชื้อสายจีนร้อยละ 36.8 ระบุว่าเตรียมเงินไว้มากกว่าปีที่แล้วในการเซ่นไหว้ แต่ปัญหาการเมืองอาจทำให้เปลี่ยนใจ เช่นเดียวกัน คนไทยเชื้อสายจีนร้อยละ 30.4 ระบุว่าเตรียมเงินไว้มากกว่าปีที่แล้ว สำหรับค่าอั่งเปา แต่ปัญหาการเมืองอาจทำให้เปลี่ยนใจ และคนไทยเชื้อสายจีน ถึงร้อยละ 45.8 ที่ตั้งใจจะใช้จ่ายเงินเรื่องท่องเที่ยว การรับประทานอาหารนอกบ้านมากกว่าปีที่แล้ว แต่ปัญหาการเมืองอาจทำให้เปลี่ยนใจโดยผลสำรวจพบว่ามีไม่เกินร้อยละ 10 เท่านั้น ที่ตั้งใจจะใช้จ่ายเงินในเรื่องเซ่นไหว้ อั่งเปา และการท่องเที่ยว น้อยกว่าปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม มีสองเรื่องที่น่าเป็นห่วงสำหรับสังคมไทยในผลวิจัยชิ้นนี้คือ ความขัดแย้งของผู้ใหญ่ในสังคมที่เกี่ยวโยงไปยังปัญหาทางการเมือง และความไม่เป็นธรรมในสังคมที่กำลังลดทอนความสุขของคนไทย จึงเสนอให้ผู้ใหญ่ในสังคมเคลื่อนไหวทางการเมืองกันอย่างสร้างสรรค์ แสดงภาพให้สาธารณชนเห็นถึงการจับมือร่วมกันแก้ไขปัญหาของประเทศถึงแม้จะมี อุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างกันก็ตาม เพราะอำนาจที่จะทำให้คนไทยจำนวนมากมีความสุขหรือทุกข์ก็อยู่ในการเคลื่อนไหว ของผู้ใหญ่เหล่านั้น แต่ทางออกสำหรับประชาชนคือ การปรับตัวให้อยู่ได้ในทุกสถานการณ์ ไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เพราะเมื่อความแตกแยกตกลงมาอยู่ในครัวเรือน คนที่เป็นทุกข์ไม่ใช่นักการเมืองและคนที่เคลื่อนไหวให้เกิดความแตกแยก แต่กลับเป็นคนในครอบครัวและชุมชนมากกว่าที่เป็นทุกข์

ดังนั้น บรรยากาศความขัดแย้งของผู้ใหญ่ในสังคมและปัญหาทางการเมือง อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ลดทอนความสุขของคนไทยในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่จะมาถึงนี้ได้

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook