วอนรัฐช่วยรพ.ชายแดนหนี้สินท่วม ทั้งรักษาฟรีคนไร้สถานะ-ไร้สัญชาติ

วอนรัฐช่วยรพ.ชายแดนหนี้สินท่วม ทั้งรักษาฟรีคนไร้สถานะ-ไร้สัญชาติ

วอนรัฐช่วยรพ.ชายแดนหนี้สินท่วม ทั้งรักษาฟรีคนไร้สถานะ-ไร้สัญชาติ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เผย รพ.ตะเข็บชายแดนประสบปัญหาหนี้สินท่วม จากการรักษาฟรีกลุ่มคนไทยไร้สถานะ-คนไร้สัญชาติ เตรียมเข้าพบ "จุรินทร์" พรุ่งนี้ (1 ก.พ.) ขอความช่วยเหลือด่วน ด้านเลขาฯ คกก.สุขภาพแห่งชาติ เรียกร้อง รมว.สธ.คนใหม่ เร่งผลักดันสิทธิการรักษาพยาบาลคนไร้สถานะ เพื่อมนุษยธรรมด้านสุขภาพ และยังช่วยสกัดโรคระบาดที่ห่างหายไปจากคนไทยกลับมาอุบัติใหม่ในเมือง

ในการเสวนาเรื่อง "ถามหาความเป็นธรรมด้านสุขภาพให้คนไทยไร้สถานะ" ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก กล่าวว่าขณะนี้โรงพยาบาลตามตะเข็บชายแดนต่างประสบปัญหาภาระหนี้สิน เนื่องจากได้ให้การรักษาช่วยเหลือกลุ่มคนไทยไร้สถานะ รวมถึงคนไร้สัญชาติ โดยเฉพาะใน 5 อำเภอของ จ.ตาก เช่น ท่าสองยาง แม่สอด แม่ระมาด พบพระ และอุ้มผาง พบว่าเป็นหนี้สูงถึง 111.5 ล้านบาท มีคนไร้สถานะมาใช้บริการถึงครึ่งหนึ่ง อัตราครองเตียงเฉลี่ยร้อยละ 33 เป็นคนไร้สัญชาติ คิดเป็นในกลุ่มผู้ป่วยคนไข้ใน 3 คน จะมีคนไร้สัญชาติ 1 คน โดยเฉพาะแค่ใน รพ.อุ้มผาง มีประชาชนที่เป็นคนไข้ในไม่มีหลักประกันเข้ารับการรักษามีถึงร้อยละ 58 ส่วนใหญ่มีปัญหายากจน ไม่มีสัญชาติ ไม่รู้ภาษาไทย แม้รักษาฟรีแต่ รพ.ยังต้องช่วยค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ซึ่งเป็นไปตามหลักมนุษยธรรม

ส่วนโรคที่พบในกลุ่มคนไร้สัญชาติ ล้วนเป็นโรคที่ห่างหายไปจากคนไทย และมีเปอร์เซ็นต์สูงที่จะกลับเข้ามาอุบัติใหม่ และระบาดในเมือง เช่น อหิวาห์ตกโรค ไข้กาฬหลังแอ่น รากสาดใหญ่ โปลิโอ และวัณโรค ซึ่งในอนาคตจะต้องระบาดลุกลามเข้ามาในเมืองแน่นอน หากไม่รีบป้องกัน สิ่งที่ต้องการในขณะนี้ ทาง รพ.ไม่ต้องการงบประมาณ แต่ต้องการยารักษาโรค แต่พบข้อจำกัด แม้แต่การรักษาโรควัณโรคยังจำเป็นต้องกรอกเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ทำให้ผู้ป่วยไม่เข้าถึงยาและการรักษา แม้แต่วัคซีนพื้นฐาน ไอกรนคอตีบ โปลิโอ ตับอักเสบบี ก็ต้องกรอกเลขบัตรประชาชนทั้งของพ่อแม่และตัวเด็ก ทำให้ยากต่อการรักษา ซึ่งในวันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ แพทย์ รพ.ชายแดน เตรียมเดินทางเข้าพบ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจาก ทาง รพ.ไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายได้ และต้องการสะท้อนให้รัฐบาลให้ความช่วยเหลือ

ด้านนายยอด ปอง นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนนวลนรดิศวิทยาคมรัชมังคลาภิเษก เขตบางบอน กรุงเทพฯ กล่าวว่าตนเป็นชาวเขา เป็นคนไร้สถานะ แม้ขณะนี้ไม่มีสัญชาติ เมื่อเข้าหน่วยงานราชการจะต้องถูกปรับให้เป็นชาวพม่า ทั้งที่เป็นชาวเขาอยู่เขตชายแดนไม่ใช่พม่า การศึกษาในขณะนี้ แม้ได้เรียนแต่ก็ไม่รู้อนาคตว่าจะทำงานได้หรือไม่ เนื่องจากไม่มีบัตรประชาชน ขณะนี้ยังเป็นวัยรุ่น แม้ไม่เจ็บป่วย แต่ก็รับการรักษาตามคลินิก หากเป็นคนแถวบ้านที่เป็นชาวเขาด้วยกัน มีบัตรต่างด้าวก็ไม่เข้า รพ.เนื่องจากพูดไทยไม่ชัด

ด้าน นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ คาดว่าปัจจุบันคนไร้สถานะที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยประมาณ 500,000 คน และอยู่กระจายในเกือบทุกพื้นที่ ดังนั้น เรียกร้องให้ รมว.สาธารณสุขคนใหม่ เร่งผลักดันเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาลให้แก่คนไร้สถานะเป็นผลสำเร็จ นอกจากจะช่วยเรื่องมนุษยธรรมด้านสุขภาพแล้ว ยังช่วยควบคุมป้องกันโรคระบาดในอนาคต และสร้างผลดีให้กับประเทศ

น.ส.ชวิดา วาทินชัย ผู้แทนสื่อมวลชน เรียกร้องรัฐบาลให้จริงจังในการแก้ไขปัญหา หลังจากมีนโยบายบังคับคนไร้สถานะออกจากพื้นที่ ซึ่งหากไม่มีมาตรการที่ดีพอ ท้ายที่สุดคนเหล่านี้ก็ต้องกลับเข้ามาใช้ชีวิตที่เมืองไทย ดังนั้น รัฐบาลต้องเปลี่ยนมุมคิด รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการด้วย ที่ผ่านมาสนใจแต่เลขบัตรประชาชน ทำให้คนไร้สัญชาติส่วนใหญ่แม้ป่วยหนักใกล้ตาย ก็พึ่งพาได้เพียงคลินิก และปัญหาคนไร้สถานะถือได้ว่าเป็นปัญหาใกล้ตัวเกือบทุกบ้าน ทุกโรงงานล้วนแต่ใช้แรงงานไร้สัญชาติ ซึ่งไม่สามารถปฏิเสธได้ พบว่ามีอยู่จริงและเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook