ไทยค้นพบไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลก “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” อายุ 150 ล้านปี
กรมทรัพยากรธรณี ค้นพบไดโนเสาร์กินพืชชนิดใหม่ของโลก “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” (Minimocursor phunoiensis) ไดโนเสาร์ตัวที่ 13 ของประเทศไทย อายุ 150 ล้านปี
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) จัดแถลงข่าว ผลการศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลก “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” (Minimocursor phunoiensis)
โดยมีนายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ โฆษกประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานแถลงข่าว พร้อมด้วยนางอรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี รองศาสตราจารย์มงคล อุดชาชน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
นายเถลิงศักดิ์ เปิดเผยว่า ผลการศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ตัวที่ 13 ของไทย และเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลก มีชื่อว่า “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” ถูกค้นพบที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นไดโนเสาร์กินพืชขนาดเล็ก จัดอยู่ในกลุ่มกระดูกเชิงกรานแบบนกหรือออร์นิธิสเชียน (Ornithischia) พบในหมวดหินภูกระดึง ยุคจูแรสสิกตอนปลาย มีอายุประมาณ 150 ล้านปี
นางอรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวถึงการดำเนินงานของกรมทรัพยากรธรณีภายใต้ การดำเนินงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ ด้านการสำรวจวิจัยซากดึกดำบรรพ์ โดยเฉพาะ การดำเนินงานร่วมกับศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในด้านการสำรวจขุดค้น ศึกษา วิจัยซากดึกดำบรรพ์ในพื้นที่แหล่งขุดค้นภูน้อย จังหวัดกาฬสินธุ์มาอย่างต่อเนื่องตลอดหลายสิบปี”
“ความน่าสนใจของแหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย ตำบลดินจี่ อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ บนพื้นที่ขนาด 1,200 ตารางเมตร นักวิจัยได้ค้นพบความสมบูรณ์ของตัวอย่างซากดึกดำบรรพ์ “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” เป็นโครงกระดูกที่สมบูรณ์ที่สุดตัวหนึ่งของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้ยังมีการพบร่วมกับซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังอีกหลากหลายชนิดกว่า 5,000 ชิ้น ทั้งปลาฉลามน้ำจืด ปลาปอด เต่า จระเข้ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลานบินได้ หอยน้ำจืด และไม้กลายเป็นหิน รวมทั้งไดโนเสาร์ทั้งสายพันธุ์กินพืช-กินเนื้อ ซึ่งเป็นสัตว์สายพันธุ์ใหม่ของโลกมากถึง 8 สายพันธุ์ / ทำให้ภูน้อยได้รับการขนานนามว่า “จูแรสซิกพาร์ค เมืองไทย” ที่มีการพบซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดและใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” อธิบดีกรมทรัพยากรธรณีกล่าว
ด้านรองศาสตราจารย์มงคล อุดชาชน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อยแห่งนี้เป็นพื้นที่ศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีศักยภาพสูง ก่อนหน้านี้มีการค้นพบชนิดพันธุ์ใหม่ของโลกมากถึง 7 ชนิดที่ตีพิมพ์ในบทความทางวิชาการในวารสารระดับนานาชาติร่วมกับ กรมทรัพยากรธรณี และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ และไดโนเสาร์ตัวนี้เป็นชนิดที่ 8 จากแหล่งภูน้อย อีกทั้งเป็นไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ตัวแรกในพื้นที่อุทยานธรณีกาฬสินธุ์
การค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ตัวที่ 13 ของประเทศไทยนี้ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” ซึ่งหมายถึง “นักวิ่งขนาดเล็กจากแหล่งภูน้อย” บ่งชี้ถึงซากดึกดำบรรพ์ต้นแบบ (โฮโลไทป์) ซึ่งใช้เวลาอนุรักษ์ตัวอย่างนานมากกว่า 5 ปี และมีความพิเศษอย่างมาก
“ซากดึกดำบรรพ์นี้ถูกรักษาสภาพในลักษณะโครงกระดูกที่เรียงต่อกัน ประกอบด้วย ชิ้นส่วนกะโหลก กระดูก สันหลังส่วนคอไปจนถึงโคนหาง มือซ้าย กระดูกเชิงกราน ขาหลังทั้งสองข้าง แม้กระทั่งเอ็นกระดูกบริเวณสันหลัง นับเป็นหนึ่งในซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นไดโนเสาร์ ที่ถูกตั้งชื่ออย่างเป็นทางการตัวแรกของหมวดหินภูกระดึง โดยมีลักษณะเฉพาะตัวของไดโนเสาร์สายพันธุ์นี้ คือ มีสะโพกคล้ายนก (ออร์นิธิสเชียน) ขนาดเล็ก
จากผลการวิเคราะห์วงศ์วานทางวิวัฒนาการเผยให้เห็นว่ามันเป็นไดโนเสาร์นีออร์นิธิสเชียนแรกเริ่มที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความใกล้ชิดกับญาติขนาดเล็กอื่น ๆ ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงตอนกลางถึงตอนปลายของยุคจูแรสซิกในประเทศจีนและรัสเซีย” รองศาสตราจารย์มงคล อุดชาชน กล่าวสรุป
ปัจจุบันกรมทรัพยากรธรณีได้ประกาศให้พื้นที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อยเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนของประเทศ ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2563 ทั้งนี้ คาดว่ายังคงมีซากดึกดำบรรพ์อยู่ใต้ชั้นหินอีกจำนวนมาก ซึ่งการพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบการบูรณาการร่วมกับแหล่งมรดกทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรมอื่นอันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดกาฬสินธุ์จะช่วยส่งเสริมให้อุทยานธรณีกาฬสินธุ์เป็นอุทยานธรณีในระดับประเทศต่อไปได้
อัลบั้มภาพ 4 ภาพ