ย้อน 4 คดีจำคุกอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร รับโทษอ่วม 10 ปี
เมื่อวันพุธ (26 ก.ค.) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ประกาศผ่านโซเชียลมีเดียว่าอดีตนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร พ่อของตัวเอง จะเดินทางกลับมาประเทศไทยวันที่ 10 ส.ค. ทางสนามบินนานาชาติดอนเมือง หลังจากลี้ภัยทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549
แม้เรื่องนี้นำความดีใจมายังแฟนคลับและผู้สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีอย่างมาก แต่นายทักษิณอาจไม่ได้เดินสายพบปะทันที เพราะระหว่างที่ลี้ภัยนั้นอดีตนายกรัฐมนตรีก็ถูกตัดสินไปแล้วหลายคดี ซึ่งมีโทษรวมกันถึง 10 ปี
รวมคดีจำคุก "ทักษิณ ชินวัตร"
คดีที่อดีตนายกรัฐมนตรีถูกพิพากษาไปแล้วมีทั้งหมด 4 คดี ดังนี้
- คดีหวยบนดิน (2 ปี ไม่รอลงอาญา)
คดีนี้เกิดจากการที่อดีตนายกรัฐมนตรีมีแนวคิดให้ออกสลากกินแบ่งรับบาลพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว โดยไม่มีการอั้นเลขแบบหวยใต้ดินและน่าเชื่อถือกว่าเพราะรัฐบาลเป็นเจ้ามือเอง
หลังจากรัฐประหารปี 2549 คณะผู้นำเผด็จการก็ยกเลิกหวยบนดิน และมีการดำเนินคดี โดยอ้างว่านายทักษิณเร่งรัดโครงการผิดปกติ และมีการทุจริตในหลายขั้นตอน และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริจ (ป.ป.ช.) มาดำเนินคดีต่อ
เมื่อเดือน มิ.ย. 2562 ศาลฎีกาแผนคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินว่า แม้โครงการนี้ทำรายได้ให้กองสลากกินแบ่งรัฐบาลกว่า 120,000 ล้านบาทระหว่างปี 2546-2549 แต่กลับมีการขาดทุน 7 งวด เป็นวงเงิน 1,600 ล้านบาทจริง ทำให้เชื่อได้ว่าอดีตนายกรัฐมนตรีไม่ระงับโครงการตามที่มีคำทักท้วง ทั้งยังนำเงิน 80% ของรายได้จากหวยบนดินไปใช้ในลักษณะคืนให้สังคม จึงผิดวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งกองสลากฯ จึงพิพากษาให้จำคุก 2 ปี - คดีปล่อยกู้เอ็กซิมแบงก์ให้เมียนมา (3 ปี ไม่รอลงอาญา)
เมื่อเดือน เม.ย. 2562 ศาลฎีกาฯ อ่านคำพิพากษาให้จำคุกนายทักษิณ 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา
คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2546 อดีตนายกรัฐมนตรีออกคำสั่งธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออก (เอ็กซิมแบงก์) ปล่อยกู้ให้เมียนมาเพื่อนำไปพัฒนาโครงการโทรคมนาคมของประเทศวงเงิน 4,000 ล้านบาท
ศาลฎีกาฯ เห็นว่า ดอกเบี้ยที่ปล่อยกู้นั้นต่ำกว่าต้นทุนของเอ็กซิมแบงก์ชี้ได้ว่านายทักษิณใช้เป็นเงื่อนไขในการแลกผลประโยชน์กับรัฐบาลเมียนมา โดยให้รัฐบาลเมียนมาสั่งซื้อชิ้นส่วนดาวเทียมจากบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ในเครือบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ตนมีส่วนเกี่ยวข้อง - คดีซุกหุ้นชินคอร์ปและเข้าไปมีส่วนได้เสียในกิจการโทรคมนาคม (5 ปี ไม่รอลงอาญา)
เมื่อปี 2546 คณะรัฐมนตรีในยุคของอดีตนายกฯ ทักษิณ มีมติให้ออกประกาศกระทรวงการคลัง ลดภาษีสรรพสามิตของธุรกิจคลื่นโทรศัพท์มือถือจาก 50% มาอยู่ที่ 10% และให้นำภาษีดังกล่าวมาหักออกจากส่วนแบ่งรายได้หรือค่าสัมปทานที่จะต้องส่งให้กับรัฐ
ศาลฎีกาฯ อ่านคำพิพากษาเมื่อปี 2563 เห็นว่าการกระทำดังกล่าว นายทักษิณเอื้อประโยชน์ให้บริษัทในเครือชินคอร์ป 2 ราย คือ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) และ บจ.ดิจิตอลโฟน (ดีพีซี) ที่ได้รับสัมปทานจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) และองค์การการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ตามลำดับ ทำให้รัฐความเสียหาย ขณะที่ตัวเอง ซึ่งถือหุ้นชินคอร์ปผ่านนอมินีอยู่นั้นกลับได้รับผลประโยชน์
ส่วนอีกคดีหนึ่งนั้นอดีตนายกรัฐมนตรีถูกตัดสินจำคุก 2 ปี แต่หมดอายุความแล้ว คือ คดีที่ดินรัชดา
- คดีที่ดินรัชดา (จำคุก 2 ปี แต่หมดอายุความแล้ว)
ที่ดินแปลงดังกล่าวติดถนนเทียมร่วมมิตร ย่านถนนรัชดาภิเษก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันทางการเงินนำมาประมูลขายเมื่อเดือน ก.ค. 2546 โดยตั้งราคาขั้นต่ำไว้ที่ 870 ล้านบาท และวางค่ามัดจำ 10 ล้านบาท แต่ไม่มีใครประมูล
ต่อมามีการเปิดประมูลรอบ 2 เมื่อเดือน ธ.ค. ปีเดียวกัน โดยไม่กำหนดราคาขั้นต่ำ แต่ต้องวางมัดจำเพิ่มเป็น 100 ล้านบาท หรือมากกว่าเดิม 10 เท่า แถมยังกำหนดให้ชำระเงินให้กองทุนก่อนวันที่ 29 ธ.ค. และทำสัญญาซื้อขายพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 30 ธ.ค. ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการจงใจทำให้เหลือคู่แข่งน้อยรายหรือไม่
อย่างไรก็ตาม คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ที่ขณะนั้นยังเป็นภริยาของนายทักษิณ ก็ชนะการประมูลเหนือคู่แข่ง 2 ราย คือ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และ โนเบิล ดีเวลลอปเม้นท์ โดยเสนอเงินสูงสุดที่ 772 ล้านบาท
ข้อสังเกตหนึ่งที่มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าช่วยเร่งรัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน คือ มติคณะรัฐมนตรีที่ออกมาก่อนการประมูลให้วันที่ 31 ธ.ค. เป็นวันทำงานตามปกติ โดยให้หยุดราชการวันที่ 2 ม.ค. ปีถัดไป ซึ่งตรงกับวันศุกร์แทน จุดนี้มีหลายฝ่ายมองว่าถ้าโอนที่ดินไม่ทันปี 2546 ก็จะต้องเจอกับอัตราค่าโอนและค่าประเมินที่ดินใหม่ ที่เชื่อว่าทำให้คุณหญิงพจมานประหยัดค่าโอนไปได้หลักล้านบาทเลยทีเดียว
หลังจากรัฐประหารปี 2549 ก็มีการดำเนินคดีนี้ จนศาลฎีกาฯ ตัดสินเมื่อปี 2551 ให้จำคุกอดีตนายกรัฐมนตรี 2 ปี แต่ยกฟ้องคุณหญิงพจมาน
ยกฟ้อง 2 - รอไต่สวน 2
นอกจากนี้ อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ยังเคยมีคดีอีก 2 คดี ที่ศาลยกฟ้องไปแล้ว คือ
- คดีออกคำสั่งกระทรวงการคลังให้บริการแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ
- คดีสั่งธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษดามหานครโดยทุจริต
ส่วนอีก 2 คดีที่อยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช. คือ
- คดีระบายย้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)
- คดีอนุมัติซื้อเครืองบิน A340-500 ที่เพิ่งถูกยกคำร้องไปเมื่อวันพุธ (26 ก.ค.)