สะใภ้เสียใจ ฝากแม่ผัวเลี้ยงลูก 3 เดือน เจออีกทีแทบไม่ได้ นี่ทารกวัย 8 เดือนแน่นะ?!
คุณแม่ลูกอ่อนคนหนึ่งในประเทศจีน ได้รับความสนใจจากโลกออนไลน์ หลังจากโพสต์บ่นเกี่ยวกับการเลี้ยงลูก โดยเล่าว่า เมื่อตอนที่ลูกของเธออายุได้ 5 เดือน เธอก็กลับไปทำงานประจำเหมือนแม่คนอื่นๆ แต่เนื่องจากสภาพครอบครัวทำให้ไม่สามารถดูแลลูกเองได้ จึงต้องส่งไปให้แม่สามีเลี้ยงดูที่บ้านเกิด อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านไปเพียง 3 เดือน เธอก็ต้องรู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้งกับการตัดสินใจที่รีบร้อนของตัวเอง
คุณแม่ยังสาวได้พบความจริงว่า แม่สามีของเธอได้เลี้ยงดูหลานชายวัย 8 เดือน กลายเป็นเด็กทารกที่อ้วนมากจนน่าตกใจ มีน้ำหนักตัวมากกว่า 30 กก. ในขณะที่น้ำหนักเฉลี่ยของเด็กชายอายุ 8 เดือนควรอยู่ที่ประมาณ 8.6 กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าลูกชายของเธอมีน้ำหนักเป็น 3 เท่าของเด็กปกติทั่วไป
อย่างไรก็ดี แม่สามีไม่ได้ตระหนักถึงผลเสียของการเลี้ยงดูหลานให้อ้วนเกินไป ดังนั้น ไม่ว่าเธอไปที่ไหนก็มักจะโอ้อวดเกี่ยวกับความสำเร็จให้ทุกคนฟังเสมอ ว่าหลายกินเก่งเพราะเธอเลี้ยง "ดี๊ดี" รวมทั้งพูดกับลูกสะใภ้อย่างภูมิใจด้วยเช่นกัน ท้ายที่สุดสะใภ้โกรธมากและพูดตอบโต้ไปว่า "แม่ ฉันบอกแล้วไม่ใช่เหรอ เด็กไม่ควรอ้วนเกินไป มันไม่ดีต่อสุขภาพ แม่ควรให้อาหารเขาในปริมาณที่พอเหมาะ แค่ให้เขาเติบโตด้วยร่างกายปกติ ไม่ต้องอ้วนขนาดนี้ก็ได้"
เมื่อโดนลูกสะใภ้ตำหนิเช่นนั้น แม่สามีก็แสดงสีหน้าไม่พอใจ ก่อนพูดสอนว่า "รู้ไหม ฉันไปเที่ยวมาหลายที่ เจอคนมากมาย และยังเลี้ยงลูกมาอีกหลายคน เด็กๆ ต้องกินเยอะๆ เป็นเรื่องดี โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย อ้วนหน่อยดีที่สุด" ลูกสะใภ้ฟังจบก็สวนทันทีว่า "แล้วต้องเลี้ยงลูกแบบหมูด้วยเหรอ ถึงต้องอ้วนขนาดนี้?!"
ในเวลานี้แม่สามีไม่สามารถควบคุมความโกรธได้อีกต่อไป ดุด่าลูกสะใภ้ว่ายังเด็กและไม่เคยเลี้ยงลูกจึงไม่รู้อะไรเลย นอกจากนี้ยังบอกว่าเธอทำงานอย่างหนักเพื่อเลี้ยงดูหลานๆ ของเธอ แต่ไม่ได้รับคำขอบคุณจากลูกสะใภ้ แต่กลับถูกดุด่ากลับ ในที่สุดลูกสะใภ้ก็โกรธจนร้องไห้ เธออุ้มลูกชายตัวอ้วนขึ้นมากอดแล้ววิ่งออกไปจากตรงนั้น
ในความเป็นจริงแล้ว การเลี้ยงลูกให้แข็งแรงและสมบูรณ์เป็นความปรารถนาของคุณแม่ทุกคน แต่นั่นต้องอยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ด้วย
Bao Xiulan หัวหน้าแพทย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์แห่ง Beijing Union Medical University กล่าวว่า เด็กที่น้ำหนักเกินมาตรฐานจะเคลื่อนไหวได้ลำบาก ไม่ว่าจะเป็นการพลิกตัวหรือนั่ง กระบวนการเติบโตตามธรรมชาติของเด็กจะค่อนข้างช้า รวมทั้งในกระบวนการเรียนรู้ที่จะเดิน เนื่องจากร่างกายรับภาระมากเกินไป การออกแรงที่เท้ามากเกินไปจะทำให้เท้าแบน
นอกจากนี้ สำหรับเด็กอ้วน ความสามารถในการคิดและพัฒนาการทางสติปัญญาผ่านพฤติกรรมง่ายๆ เช่น การจับ การสัมผัส การคลาน การเดิน ยังพบว่าทำได้ไม่ดีนักด้วยเช่นกัน ไม่เพียงเท่านั้น แต่เด็กที่เป็นโรคอ้วนยังมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคต่างๆ ในวัยผู้ใหญ่ เช่น ความดันโลหิต เบาหวาน เป็นต้น