“ประพฤติ” ชี้ “เพนกวิน- ไมค์” เป็นผู้ต้องหาคดีอาญาแผ่นดิน ไม่สามารถบวชได้
“ประพฤติ” ชี้ “เพนกวิน- ไมค์” เป็นผู้ต้องหาคดีอาญาแผ่นดิน ไม่สามารถบวชได้ วอน มหาเถระสมาคม-พศ. ตรวจสอบ หวั่นสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้องให้แก่สังคม
นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้เห็นความเห็นกรณีที่ปรากฎภาพข่าวของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน และนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง แกนนำม็อบสามนิ้วและผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 และความผิดฐานอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในระหว่างประกันตัวสู้คดี เข้าพิธีอุปสมบท ว่า ตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2536) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์ ซึ่งออกตามอำนาจของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505
ได้กำหนดคุณลักษณะของกุลบุตรที่พระอุปัชฌาย์สามารถอุปสมบทให้ได้ไว้ใน ข้อ 13 (2) ว่าต้องเป็นสุภาพชน มีความประพฤติดีประพฤติชอบ ไม่มีความประพฤติเสียหาย และในข้อ 14 (3) กำหนดห้ามมิให้พระอุปัชฌาย์อุปสมบทให้กับคนต้องหาในคดีอาญา และในข้อ 34 กำหนดให้พระอุปัชฌาย์ที่ฝ่าฝืน อุปสมบทให้กับบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 14 ต้องได้รับโทษถอดถอนจากตำแหน่ง
และที่มีผู้อ้างว่าขนาดองคุลีมาลซึ่งก็ยังบวชได้นั้น ขอเรียนว่าเป็นคนละกรณีนั้น เพราะกรณีองคุลีมาลเป็นการอุปสมบทที่เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ พระพุทธเจ้าเป็นผู้บวชให้โดยตรง เมื่อพระพุทธเจ้าเอ่ยวาจาจนจบ บุคคลนั้นก็กลายเป็นภิกษุทันที และหากศึกษาพุทธประวัติจะพบว่าหลังจากที่พระพุทธเจ้าบวชให้องคุลีมาลแล้ว เกิดเสียงติฉินนินทา คนเห็นก็ตกใจกลัวบ้าง สะดุ้งบ้าง วิ่งหนีบ้าง มีผู้ติเตียน ในเวลาต่อมาพระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติพระวินัยห้ามโจรผู้ร้ายมาบวช
และหากยังจำกันได้ กรณีเช่นนี้เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อไม่นานมานี้คือกรณีของผู้ต้องหาในคดีขับรถชนหมอกระต่ายขณะข้ามทางม้าลายและผู้ต้องหาในคดีดาราสาวแตงโม ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ต้องลาสิกขาหรือเปลี่ยนไปบวชพราหมณ์ นุ่งขาวห่มขาวแทน หาไม่แล้วหากระหว่างที่มีสถานะเป็นผู้ต้องหาและพระสงฆ์ในขณะเดียวกันก็จะต้องมีการไปรายงานตัวที่ศาลหรือไปที่สถานีตำรวจเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาอื่นเพิ่มเติม ก็จะเป็นภาพที่ดูไม่เหมาะสมของสมณเพศ และอาจเป็นเยี่ยงอย่างให้ผู้ต้องหาอื่น ๆ เข้ารับการอุปสมบทบ้าง เพื่ออาศัยผ้าเหลืองเป็นเกราะป้องกันตัว
จึงวอนให้มหาเถระสมาคมและสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ใช้อำนาจวินิจฉัยและบังคับใช้กฎหมายตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องให้แก่สังคม และดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงสถาพรในบวรพุทธศาสนาสืบไป