รัฐบาลเปลี่ยนเกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ ต้องไม่มีรายได้พอยังชีพ
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่เอกสารฉบับหนึ่งเมื่อวันศุกร์ (11 ส.ค.) เป็นระเบียบกระทรวงมหาดไทย ที่มีเนื้อหาเปลี่ยนหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ เป็นจ่ายเงินให้ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ต้องไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ
เอกสารดังกล่าวมีชื่อเต็มๆ ว่า ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 อยู่ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 140 ตอนพิเศษ 192 ง
เกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฉบับนี้มี 4 ข้อเหมือนกับของปี 2552 โดยข้อที่ 1-3 ที่ระบุว่าต้องมีสัญชาติไทย, มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไปและลงทะเบียนขอรับเบี้ยจาก อปท. ตามลำดับเหมือนกัน แต่ข้อ 4 กลับต่างกัน
เกณฑ์ข้อ 4 ของปี 2566 ระบุว่า "เป็นผู้มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด"
ส่วนข้อ 4 ของปี 2552 ระบุว่า "ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ผู้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน ผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจำ หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดให้เป็นประจำ ยกเว้นผู้พิการและผู้ป่วยเอดส์ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548"
ระเบียบกระทรวงมหาดไทยฉบับใหม่นี้อ้างสาเหตุที่ต้องเปลี่ยนเกณฑ์ดังกล่าวว่าเป็นเพราะต้องการให้สอดคล้องกับมติของกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ในการประชุมครั้งทที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2560
อย่างไรก็ตาม ข้อ 17 ของระเบียบฉบับนี้ ระบุว่า ผู้สูงอายุที่เคยได้รับเบี้ยยังชีพจาก อปท. ก่อนระเบียบนี้มีผลบังคับใช้ ก็ยังจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพจาก อปท. ต่อไป