ผู้ติดเชื้อเอชไอวีป่วย "ฝีดาษลิง" เสียชีวิตรายแรกในไทย เป็นชายอายุ 34 ปี

ผู้ติดเชื้อเอชไอวีป่วย "ฝีดาษลิง" เสียชีวิตรายแรกในไทย เป็นชายอายุ 34 ปี

ผู้ติดเชื้อเอชไอวีป่วย "ฝีดาษลิง" เสียชีวิตรายแรกในไทย เป็นชายอายุ 34 ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฝีดาษลิงเพิ่มต่อเนื่อง พบเสียชีวิตรายแรกในไทยแล้ว แพทย์ระบุ ผู้ป่วยใหม่เกือบครึ่งเป็นผู้ติดเชื้อ HIV

วันนี้ (14 ส.ค.66) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยว่าได้รับรายงานการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร (ฝีดาษลิง) จากสถาบันบำราศนราดูร จึงส่งทีมปฏิบัติการลงพื้นที่เข้าไปตรวจสอบ 

พบว่า ผู้เสียชีวิตเป็นเพศชาย อายุ 34 ปี มีประวัติเป็นไข้ ปวดศีรษะ คัน มีผื่น และตุ่มขึ้นบริเวณผิวหนังตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.66 และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ใน จ.ชลบุรี  

11 ก.ค.66 แพทย์ตรวจพบสารพันธุกรรมของไวรัสฝีดาษลิง การติดเชื้อเอชไอวี และเชื้อซิฟิลิส ต่อมาผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอและตรวจพบภาวะติดเชื้อรา ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาสของเอชไอวี ส่วนบริเวณผิวหนังมีผื่นแผลจากโรคฝีดาษลิงกระจายทั่วตัว ซึ่งหลังได้รับการรักษาจนครบ 4 สัปดาห์ แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ 

9 ส.ค.66 ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย หายใจลำบาก ญาติจึงนำผู้ป่วยมารับการรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร ตรวจพบว่ามีผื่นจากโรคฝีดาษลิงกระจายทั่วตัว มีการตายของเนื้อเยื่อที่จมูก และคอเป็นบริเวณกว้าง มีการติดเชื้อแทรกซ้อนที่แขน ขา มีภาวะปอดอักเสบ และอาการสมองอักเสบ 

อีกทั้ง ผลตรวจเม็ดเลือดขาวของเขา แสดงให้เห็นว่าภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง แพทย์ได้ให้ยาต้านไวรัสฝีดาษลิง และยาปฏิชีวนะร่วมด้วย ต่อมาผู้ป่วยอาการทรุดลง และเสียชีวิตในคืนวันที่ 11 ส.ค.66 

โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นใหม่ในประเทศไทย โดยเมื่อวันที่ 8 ส.ค.66 มีรายงานผู้ป่วยรวม 189 ราย เป็นคนไทย 161 ราย และชาวต่างชาติ 28 ราย มีแนวโน้มระบาดเพิ่มขึ้น ซึ่งระยะแรกพบผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ก่อนแพร่ไปจังหวัดอื่น ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย และมีติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วยจำนวน 82 ราย (43%) 

ทั้งนี้ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคฝีดาษลิงระบาดเพิ่มขึ้น สะท้อนถึงพฤติกรรมเสี่ยงที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ป่วยฝีดาษลิงรายใหม่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีเกือบครึ่งหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ภูมิคุ้มกันบกพร่องอยู่แล้ว มักมีการติดเชื้อฉวยโอกาสอื่นร่วมด้วยได้ง่าย ทำให้เกิดอาการรุนแรงจนเสียชีวิต 

ทั่วโลกมีรายงานผู้ป่วยฝีดาษลิงเสียชีวิต 152 รายแล้ว ตั้งแต่เริ่มการระบาดในยุโรป และหลายประเทศตั้งแต่ปี 65 ปัจจุบันประเทศไทยได้รับมอบยาต้านไวรัสชื่อ Tecovirimat (หรือ TPOXX) จำนวนหนึ่งจากองค์การอนามัยโลกมาใช้รักษาผู้ป่วยฝีดาษลิงที่มีอาการมากที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน และจะต้องมีการวัดประสิทธิผลของยานี้ไปพร้อมกัน 

อย่างไรก็ตาม โรคฝีดาษลิงสามารถป้องกันได้ โดยการงดเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า ไม่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีผื่น ตุ่มหรือหนอง แนะนำให้ล้างมือบ่อยๆ และไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่นนะคะ 

หากมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย ต่อมน้ำเหลืองโต มีผื่น หรือ ตุ่มน้ำหรือ ตุ่มหนองขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก ตามมือ เท้า หน้าอก ใบหน้า หรือบริเวณปาก ให้รีบเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลทันที โดยแจ้งอาการและประวัติเสี่ยง 

ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย หรือต้องการคำแนะนำในการปฏิบัติตนสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook