กางหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฉบับใหม่” เปลี่ยนจากฉบับเดิมแค่ไหน ไปดูกัน!

กางหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฉบับใหม่” เปลี่ยนจากฉบับเดิมแค่ไหน ไปดูกัน!

กางหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฉบับใหม่” เปลี่ยนจากฉบับเดิมแค่ไหน ไปดูกัน!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • การปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปี พ.ศ. 2566 ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงการจ่ายเงิน “แบบถ้วนหน้า” ซึ่งทันทีที่ระเบียบกระทรวงฉบับนี้ถูกประกาศใช้ (วันที่ 12 สิงหาคม 2566) ก็ถือเป็นการสิ้นสุดการจ่ายเบี้ยยังชีพแบบถ้วนหน้าที่ดำเนินมานานกว่า 14 ปี
  • หลักเกณฑ์ของผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตามระเบียบฉบับใหม่ ระบุว่าต้อง “เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด” 
  •  อย่างไรก็ตาม ในบทเฉพาะกาล ข้อ 17 ของระเบียบการฉบับใหม่ ได้ระบุไว้ว่าผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพก่อนระเบียบฉบับใหม่จะออกมา “ยังได้รับเงินเหมือนเดิม”
  • แน่นอนว่าเรื่องนี้ย่อมนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักการเมืองหลายฝ่าย และรัฐบาลเองก็ออกมาชี้แจงปมดราม่าที่เกิดขึ้น ระบุว่าผู้สูงอายุคนเดิมยังได้รับเบี้ยยังชีพอยู่ และขอให้คนรวยเข้าใจการปรับเกณฑ์เพื่อใช้งบประมาณกับคนที่ลำบาก

ยังคงเป็นประเด็นร้อนในสังคมสำหรับการปรับหลักเกณฑ์จ่ายเงิน “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” ที่สร้างความกังวลใจให้กับผู้สูงอายุของไทยมากมาย เช่นเดียวกับเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการกลับมาใช้ระบบคัดเลือกคนจน ที่อาจ “ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์” ของประชาชนในประเทศ​ ขณะที่ทางรัฐบาลก็ออกมาให้เหตุผลถึง “ความจำเป็น” ที่ต้องลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป 

แล้วหลักเกณฑ์ฉบับใหม่แตกต่างจากฉบับเดิมอย่างไรบ้าง Sanook กางหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของไทย พร้อมมัดรวมการตอบโต้ของนักการเมืองหลายฝ่ายต่อประเด็นร้อนที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ 

หลักเกณฑ์ที่เปลี่ยนไป 

วันที่ 11 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ซึ่งมีข้อความระบุว่า 

“เป็นการสมควรปรับปรุง หลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแก่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546” 

AFP

การปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในครั้งนี้ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงการจ่ายเงิน “แบบถ้วนหน้า” ซึ่งทันทีที่ระเบียบกระทรวงฉบับนี้ถูกประกาศใช้ (วันที่ 12 สิงหาคม 2566) ก็ถือเป็นการสิ้นสุดการจ่ายเบี้ยยังชีพแบบถ้วนหน้าที่ดำเนินมานานกว่า 14 ปี ที่มีจุดเริ่มต้นจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี พ.ศ. 2552 ที่เริ่มจ่ายเงินให้ผู้สูงอายุเดือนละ 500 บาท ก่อนจะปรับขึ้นเป็น 600 บาท ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 

กางหลักเกณฑ์คุณสมบัติผู้สูงอายุ

หลักเกณฑ์ของผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตามระเบียบฉบับใหม่ มีดังต่อไปนี้ 

  1. มีสัญชาติไทย
  2. มีชื่ออยู่ในทะเบียบบ้าน ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  3. มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งได้ยืนยันขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  4. เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด

ในขณะที่หลักเกณฑ์ของผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชัพผู้สูงอายุ ตามระเบียบฉบับเก่า มีดังต่อไปนี้

  1. มีสัญชาติไทย
  2. มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตปกครองส่วนท้องถิ่นตามทะเบียบบ้าน
  3. มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งได้ลงทะเบียน และยื่นคำขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  4. ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์ประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ผู้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน ผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจำ หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดให้เป็นประจำ ยกเว้นผู้พิการและผู้ป่วยเอดส์ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.​ 2548

AFP

สำหรับการรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2566 รัฐจะโอนเงินให้ทุกวันที่ 10 ของทุกเดือน และจะเป็นการจ่ายรายเดือนแบบขั้นบันได ดังนี้

  • ผู้สูงอายุ อายุ 60 - 69 ปี จะได้รับเงิน 600 บาท
  • ผู้สูงอายุ อายุ 70 - 79 ปี จะได้รับเงิน 700 บาท
  • ผู้สูงอายุ อายุ 80 - 89 ปี จะได้รับเงิน 800 บาท
  • ผู้สูงอายุ อายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับเงิน 1,000 บาท 

คนเก่ายังได้รับเงิน

หลังจากที่มีประกาศปรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุออกมา ก็มีดราม่าเกิดขึ้นในโลกโซเชียลทันที เช่นเดียวกับความกังวลของประชาชนว่าผู้สูงอายุที่เคยได้รับเงินจะถูกตัดสิทธิ์หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในบทเฉพาะกาล ข้อ 17 ของระเบียบการฉบับใหม่ ได้ระบุไว้ว่า

บรรดาผู้สูงอายุที่ได้ขึ้นทะเบียนและรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อยู่ก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ให้ยังมีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นต่อไป

การดำเนินการใดที่ดำเนินอยู่ก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของระเบียบฉบับนี้ ให้ถือว่าการดำเนินการนั้น เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยระเบียบนี้แล้ว” 

iStock

ด้านจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ก็ได้ให้สัมภาษณ์ในประเด็นดังกล่าว ชี้ว่ากระทรวงมหาดไทยยังไม่ได้โยนมายังกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยก็ได้ทำตามระเบียบและตามกฎหมาย ทั้งนี้ต้องรอคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) กำหนดเกณฑ์ พร้อมชี้แจงว่า “ทุกคนที่ได้รับเบี้ยยังชีพ ยังได้รับเหมือนเดิมทุกประการ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีใครตกหล่น

เสียงสะท้อนจากนักการเมือง

แน่นอนว่าเรื่องนี้ย่อมนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักการเมืองหลายฝ่าย เริ่มจากวิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล ที่ได้โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “เรื่องใหญ่ ลักไก่เปลี่ยนหลักเกณฑ์จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากเดินจ่ายแบบถ้วนหน้า ตั้งแต่ 12 สิงหา ต้องมาพิสูจน์ความจน” 

โดยวิโรจน์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า แม้จะมีบทเฉพาะกาลข้อ 17 ที่ระบุให้ผู้สูงอายุที่ได้ขึ้นทะเบียนยังคงได้รับเบี้ยยังชีพเหมือนเดิม แต่หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับประชาชนทุกคน ที่จะทยอยมีอายุครบ 60 ปีในอนาคต เช่นเดียวกับประชาชนที่จะมีอายุครบ 70 ปี 80 ปี 90 ปี ที่ต้องได้รับการปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ แล้วจะมีการปรับเพิ่มหรือไม่

ทั้งนี้ วิโรจน์ส่งท้ายว่า “การปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุในครั้งนี้ ถือเป็นการลักไก่ของรัฐบาลรักษาการ ที่แย่มากๆ เป็นการวางยาทิ้งทวน ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งโดยปกติวิสัยของรัฐบาลรักษาการ นั้นไม่ควรทำ ซึ่งประชาชนคงต้องจับตาดูต่อไป ว่ารัฐบาลที่กำลังจะเข้ามารับไม้ต่อ จะจัดการอย่างไรกับหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฉบับนี้” 

ด้านคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ก็โพสต์ข้อความคัดค้านการออกระเบียบวิธีการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ชี้ว่าเป็นการทำลายหลักการ “รัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า” เช่นเดียวกับเป็นการลดทอนคุณค่ามนุษย์ 

“รัฐบาลต้องเลิกทำให้คนไทยกลายเป็นคนอนาถา หยุดรัฐสงเคราะห์ แต่ต้องเริ่มวางรากฐานรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า เพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นคน ด้วยการตระหนักถึงหน้าที่ของรัฐที่ต้องดูแลพลเมืองอย่างทั่วถึงเสมอหน้า ไม่เอางบประมาณของรัฐมาสร้างบุญคุณหรือมาแบ่งคนจนคนรวย”

รัฐบาลแถลงการณ์

ต่อมา รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายก ก็ได้ออกแถลงชี้แจงปมดราม่าที่เกิดขึ้น ระบุว่าผู้สูงอายุคนเดิมยังได้รับเบี้ยยังชีพอยู่ และขอให้คนรวยเข้าใจการปรับเกณฑ์เพื่อใช้งบประมาณกับคนที่ลำบาก พร้อมปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่ารัฐบาลไม่มีความสามารถในการหาเงิน แต่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงมีความจำเป็นต้องลดการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุแก่กลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้สูงหรือร่ำรวย 

“วันนี้เราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะเพิ่มต่อเนื่อง งบประมาณจากเคยตั้งไว้ ห้าหมื่นล้านต่อปี เพิ่มเป็นแปดหมื่นล้าน และแตะเก้าหมื่นล้านแล้ว ในปีงบประมาณ 2567 ดังนั้น หากลดการจ่ายเบี้ยฯแก่ผู้สูงอายุเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้สูงหรือผู้สูงอายุที่ร่ำรวย เพราะงบประมาณที่จ่ายให้ไปอาจจะไม่มีความจำเป็น ถือเป็นการใช้นโยบายการคลังที่พุ่งเป้าเพื่อช่วยเหลือไปยังกลุ่มคนที่มีความจำเป็นและเดือดร้อนกว่า อีกทั้งคือการสร้างความยั่งยืนทางการคลังระยะยาว ขอฝ่ายการเมืองอย่ามองเป็นการลักไก่ เพราะไม่มีความจำเป็นที่รัฐบาลจะทำเช่นนั้น” 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook