รู้หรือไม่? ทหารเรือคนแรกคนเดียว ที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย
ท่างกลางความวุ่นวายในการจัดตั้งรัฐบาลและการเลือกนายกรัฐมนตรีของไทย ที่ไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดหลังจากการเปิดสภาเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีสองครั้งล่าสุดยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ และไม่รู้ว่านายกรัฐมนตรีจะเป็นใครนั้น ยังคงเป็นที่ถกเถียงและยังต้องหาข้อสรุปกันต่อไป
แต่รู้หรือไม่ว่าประเทศไทยที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นนายทหารระดับใหญ่ ซึ่งมาจากทหารบกตบเท้าเข้ามาเป็นรัฐมนตรีกันอย่างเนื่องแน่น ยังมีทหารเรือได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวของประเทศไทยและเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกในรัชกาลที่ 9 อีกด้วย ซึ่งท่านได้สร้างชื่อเสียงและพัฒนาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้า
พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หรือ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (นามเดิม ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์; 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2444 — 3 ธันวาคม พ.ศ. 2531) เป็นนายทหารและนักการเมืองชาวไทย นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 8 ดำรงตำแหน่งระหว่าง พ.ศ. 2489-2490 และเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ มีนามเดิมว่า ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์ เกิดเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2444 ณ ตำบลหัวรอ อำเภอรอบกรุง (ปัจจุบันคืออำเภอพระนครศรีอยุธยา) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรคนที่สามจากทั้งหมดห้าคนของนายอู๋ กับนางเงิน ธารีสวัสดิ์ มีพี่น้องคือ โต๊ะ คล่องการเขียน, ละเอียด แจ้งยุบล, เชวง ธารีสวัสดิ์ และประเสริฐ ธารีสวัสดิ์
ถวัลย์เริ่มการศึกษาที่โรงเรียนตัวอย่างประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2453 แล้วลาออกเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2460 ก่อนเข้าศึกษาแผนกครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2460 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7 ณ โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2461
ต่อมาได้ฝึกหัดครูเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2461 แต่มิต้องอัธยาศัย จึงสอบเขาศึกษาโรงเรียนนายเรือเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2463 และได้ศึกษาวิชากฎหมายจนสำเร็จได้เป็นเนติบัณฑิตไทย
หลังจากนั้นท่านเริ่มเข้ารับราชการในกรมเสนาธิการทหารเรือ และได้ไปฝึกหัดในเรือของบริษัทพาณิชย์นาวีสยาม และ เรือต่างๆ อีกหลายลำ ตามตำแหน่งหน้าที่แตกต่างกันไป ซึ่งมีตำแหน่งที่สำคัญ เช่น ผู้บังคับบัญชาการ ร.ล.ตอร์ปิโด 4 ต้นเรือตอร์ปิโด ร.ล.พระร่วง นายธง (นายทหารคนสนิท) ของเสนาธิการทหารเรือ ผู้บังคับการเรือรบหลวงตอร์ปิโด 2
ขณะที่ท่านรับราชการในกองทัพเรือ ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์และราชทินนามเป็น หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์
เส้นทางการเมืองก่อนมาเป็นนายกรัฐมันตรีที่เป็นทหารเรือคนแรกของประเทศไทย
พ.ศ. 2475 ท่านได้เข้าร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สายทหารเรือ ซึ่งมี หลวงสินธุสงครามชัย เป็นหัวหน้า เช่นเดียวกับ หลวงศุภชลาศัย หลวงนาวาวิจิตร หลวงนิเทศกลกิจ หลวงสังวรยุทธกิจ และนายทหารเรือคนอื่นๆ รวม 18 นาย
พ.ศ.2476 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนประเภท 2 และได้เข้าร่วมในคณะรัฐมนตรีครั้งแรกในสมัยรัฐบาลของ พันเอกพระยาพหลพลหยุหเสนา
พ.ศ.2477 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชบัลลังก์ ก็ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลให้เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปกราบบังคมทูลเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ให้เสด็จขึ้นครองราชย์สืบแทน
พ.ศ. 2479-2481 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในสมัยรัฐบาลของนายปรีดี พนมยงค์
พ.ศ.2481 สมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม และร่วมอยู่ในคณะรัฐบาลของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม
พ.ศ.2487 ท่านได้รับฉายาว่า “รัฐมนตรีลิ้นทอง” เนื่องจากเป็นคนมีวาทศิลป์ดี ทั้งการพูด และการอภิปรายในสภา ที่เฉียบคม จับประเด็นเก่ง และสามารถหาเหตุผลมาหักล้างคำพูดของฝ่ายตรงข้ามได้
ดังเช่น ในครั้งหนึ่ง เมื่อญี่ปุ่นขอให้รัฐบาลไทยเกณฑ์ชายไทยไปเป็นทหารเข้าร่วมในกองทัพญี่ปุ่น ท่านได้ปฏิเสธอย่างนุ่มนวลว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะต้องใช้แรงงานชายไทยในการทำไร่ทำนา เว้นแต่ญี่ปุ่นจะหาคนมาทำงานในไร่นาแทนได้ ทำให้ญี่ปุ่นล้มเลิกข้อเรียกร้องดังกล่าว
พ.ศ.2489 ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม หลังจากที่ ดร.ปรีดีลาออกจากตำแหน่ง ในวันที่ 21 สิงหาคม ปีเดียวกัน สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติให้ท่านดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีแทน
พ.ศ.2490 ฝ่ายค้าน ซึ่งมีพรรคประชาธิปัตย์ โดย นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรค เป็นแกนนำ ได้เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล แม้ว่ารัฐบาล จะมีชัยในการอภิปราย แต่ประชาชนที่ได้รับฟังการอภิปราย ซึ่งถ่ายทอดออกอากาศตลอด 8 วัน 8 คืน ก็ค่อนข้างคล้อยตามคำพูดของฝ่ายค้าน ทำให้เกิดกระแสกดดันทางการเมืองอย่างรุนแรง
ท่านจึงแสดงมารยาททางการเมือง ด้วยการตัดสินใจลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2490 แต่สภาผู้แทนก็มีมติ ให้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
ต่อมาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เกิดการรัฐประหารขึ้นโดยการนำของ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ และพันเอกกาจ กาจสงคราม และเชิญนายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ทำให้ท่านต้องเดินทางออกนอกประเทศไปอยู่ที่ประเทศฮ่องกง ภายหลังจึงกลับมาเมืองไทยใช้ชีวิตอย่างสงบ ท่านถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2531 ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า รวมอายุได้ 87 ปี นับเป็นทหารเรือคนแรกและคนเดียวจนถึงปัจจุบัน ที่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับฉายาว่า "นายกฯลิ้นทอง" เนื่องจากท่านเป็นคนวาทศิลป์ดี ทั้งการพูดการเจรจาทำความเข้าใจกันของทั้งสองฝ่าย เพื่อประสานรอยร้าว
ด้านผลงานที่สำคัญในช่วงดำรงตำแหน่ง
แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังทรุดหนัก ด้วยการจัดตั้ง "องค์การสรรพาหาร" ขึ้น โดยการซื้อของแพงมาขายถูกให้แก่ประชาชน เพื่อตรึงราคาสินค้าไม่ให้สูง
เรียกเก็บธนบัตรที่ฝ่ายสัมพันธมิตรนำเข้ามาใช้จ่ายจากประชาชนด้วยการออกบัตร ใหม่ ให้แลก รวมทั้งนำเอาทองคำซึ่งเป็นทุนสำรองของชาติออกขายแก่ประชาชน
พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หรือ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายทหารและนักการเมืองชาวไทย นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 8 ดำรงตำแหน่งระหว่าง พ.ศ. 2489-2490 และเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช