จากหน้าจอสู่หน้าฟีด: 25 ปี "การเสพสื่อ" ที่เปลี่ยนไป

จากหน้าจอสู่หน้าฟีด: 25 ปี "การเสพสื่อ" ที่เปลี่ยนไป

จากหน้าจอสู่หน้าฟีด: 25 ปี "การเสพสื่อ" ที่เปลี่ยนไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • ในปี พ.ศ. 2556 อีริค ชมิดท์ (Eric Schmidt) ผู้บริหารบริษัท Google ในขณะนั้น ได้ประกาศชัยชนะของการรับชมวิดีโอผ่านอินเทอร์เน็ต ที่มีเหนือกว่าโทรทัศน์ โดยเปิดตัวเลขจำนวนผู้เข้าชม YouTube ที่มีมากกว่าหนึ่งพันล้านคนทั่วโลก
  • Nielsen ได้เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค ในปี พ.ศ. 2565 พบว่าคนไทยใช้เวลากับสื่อทีวี อินเทอร์เน็ต และวิทยุ รวมกันถึง 9.32 ชั่วโมง 
  • insightERA เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมทางดิจิทัลของคนไทย ประจำปี พ.ศ. 2566 พบว่าคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง 6 นาที โดยใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อติดตามข่าวสารมากเป็นอันดับที่ 2 หรือ 58.1 เปอร์เซ็นต์ 
  • การใช้งาน TikTok ของไทยเติบโตขึ้นอีกครั้งในปีนี้ โดยขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลกกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้ในไทย ใช้ TikTok เพื่อดูข่าว ซึ่งเพิ่มขึ้น 8 เปอร์เซ็นต์จากปีที่แล้ว 
  • จากงานวิจัยของสถาบันรอยเตอร์ พบว่าสำนักข่าวเกือบครึ่งหนึ่งหรือ 49 เปอร์เซ็นต์จาก 44 ประเทศทั่วโลก ลงคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับข่าวสารเป็นประจำใน TikTok 

ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา “สื่อดั้งเดิม” ค่อย ๆ หายไปจากชีวิตประจำวันของคนในสังคม เทคโนโลยีที่เปลี่ยนรูปแบบไปก็ส่งผลให้สื่อต้องรู้จักปรับตัวเพื่อรับมือกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของผู้รับสื่อด้วยเช่นกัน จากเรื่องราวและข่าวสารที่รับส่งกันผ่านทางหน้าจอโทรทัศน์ ค่อย ๆ เปลี่ยนรูปแบบไปอยู่ในหน้าจอคอมพิวเตอร์ ก่อนจะเปลี่ยนรูปแบบอีกครั้งเมื่อโลกได้รู้จักกับ “สมาร์ทโฟน” และ “ความเร็ว” ก็กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ที่สื่อต้องเร่งสปีดตัวเองเพื่อตอบโจทย์กลุ่ม FOMO (Fear Of Missing Out) หรือกลุ่มที่กลัวจะตกข่าว ตกกระแส หรือตกเทรนด์

จากยุคนั่งล้อมวงดูโทรทัศน์ สู่ยุคอินเทอร์เน็ตที่ทุกอย่างสะดวกสบายแค่ปลายนิ้วคลิก Sanook พาไปสำรวจพฤติกรรมการเสพสื่อที่เปลี่ยนแปลงไปของคนในยุคปัจจุบัน ในขณะที่เทคโนโลยีสื่อก็พยายามปรับปรุงตัวเองให้ดีอยู่เสมอ

การดูทีวีที่เปลี่ยนแปลงไป

อุตสาหกรรมโทรทัศน์ถือเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ถ้าย้อนกลับไปในอดีต หลายคนคงคุ้นเคยกับการดูทีวีผ่านทางเสาอากาศหนวดกุ้ง แต่เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้นก็ทำให้การออกอากาศรายการทางทีวีเปลี่ยนเป็นดาวเทียมและเคเบิล ทว่า เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตก็เข้ามาทำให้การดูทีวีไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

iStock

ในปี พ.ศ. 2556 อีริค ชมิดท์ (Eric Schmidt) ผู้บริหารบริษัท Google ในขณะนั้น ได้ประกาศชัยชนะของการรับชมวิดีโอผ่านอินเทอร์เน็ต ที่มีเหนือกว่าโทรทัศน์ โดยเปิดตัวเลขจำนวนผู้เข้าชม YouTube ที่มีมากกว่าหนึ่งพันล้านคนทั่วโลก แม้คำประกาศของเขาจะยังมีข้อกังขา แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าการรับชมวิดีโอผ่านอินเทอร์เน็ตคือแนวโน้มของคนในโลกอนาคต ขณะที่พฤติกรรมการดูทีวีก็จะกลายเป็นอดีตไป

AFP

Nielsen ได้เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค ในปี พ.ศ. 2565 พบว่าคนไทยใช้เวลากับสื่อทีวี อินเทอร์เน็ต และวิทยุ รวมกันถึง 9.32 ชั่วโมง และใช้เวลากับสื่อทีวีมากที่สุด คือ 4.10 ชั่วโมงต่อวัน อย่างไรก็ตาม แม้สื่อทีวีจะเป็นสื่อที่คนใช้เวลาด้วยมากที่สุด แต่วิธีการดูทีวีของคนกลับมีความเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือคนไทยหันไปดูรายการย้อนหลัง และดูรายการในรูปแบบสตรีมมิ่งมากขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2564 คนไทยเข้าถึงแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งมากถึง 52.29 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศ​

คนไทยรับข่าวผ่านโซเชียลมีเดีย

insightERA เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมทางดิจิทัลของคนไทย ประจำปี พ.ศ. 2566 พบว่าคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง 6 นาที โดยใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อติดตามข่าวสารมากเป็นอันดับที่ 2 หรือ 58.1 เปอร์เซ็นต์ สอดคล้องกับข้อมูลการศึกษาด้านการรับข่าวสารของสถาบันรอยเตอร์ (Reuters Institute) ในปีเดียวกัน ที่พบว่า แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียคือช่องทางที่คนไทยใช้ติดตามข่าวสารมากที่สุด โดยแพลตฟอร์มที่คนไทยนิยมใช้ ได้แก่ Facebook, YouTube, Line และ TikTok

iStock

ทั้งนี้ การศึกษาข้างต้นยังพบว่าการใช้งาน TikTok ของไทยเติบโตขึ้นอีกครั้งในปีนี้ โดยขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้ในไทย ใช้ TikTok เพื่อดูข่าว ซึ่งเพิ่มขึ้น 8 เปอร์เซ็นต์จากปีที่แล้ว สถาบันรอยเตอร์ยังชี้ว่าคนไทยชอบดูคลิปข่าวออนไลน์มากกว่าอ่านหรือฟัง ซึ่งพฤติกรรมนี้มีแนวโน้มจะทำให้การนำเสนอข่าวผ่านหนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ และแอปพลิเคชันข่าว เติบโตได้ยากขึ้น 

AFP

รอยเตอร์ได้ระบุถึงหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนรุ่นใหม่ในไทยเลือกติดตามข่าวผ่าน TikTok มากขึ้น เป็นเพราะประเด็นเรื่องเสรีภาพในการนำเสนอ ที่คนรุ่นใหม่จำนวนมากมองว่า โซเชียลมีเดียมีอิสระในการรายงานข่าวมากกว่ารายการทีวี ที่อาจถูกควบคุมจากรัฐบาล นอกจากนี้ การเลือกตั้งทั่วไป ปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ก็เป็นช่วงที่สื่อหลายสำนักหันไปพึ่งพาโซเชียลมีเดียมากขึ้น เช่นเดียวกับพรรคการเมืองที่เลือกช่องทางนี้ติดต่อสื่อสารกับประชาชน ขณะที่ประชาชนก็ใช้ช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะ TikTok เพื่อสร้างคอนเทนต์ “ด้านบวก” เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งปรากฏการณ์นี้แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ที่ TikTok กลายเป็นช่องทางในการเผยแพร่ข่าวปลอมในช่วงเลือกตั้ง และกลายเป็นปรากฏการณ์ที่ TikTok ส่งผลดีกับการเลือกตั้งและการเมืองในประเทศไทย

TikTok และการเสพสื่อในอนาคต

จุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้ TikTok ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม คือช่วงล็อกดาวน์ในช่วงต้นของการระบาดของโควิด-19 ที่คนรุ่นใหม่ดาวน์โหลด TikTok มาลองเล่น บวกกับรูปแบบการตัดต่อวิดีโอที่ไม่ซับซ้อนก็ทำให้คนอัพโหลดคลิปลงใน TikTok มากขึ้น นอกจากนี้ ความสามารถในการแชร์ข้อมูลอย่างรวดเร็ว การใช้อัลกอริธึมที่เรียนรู้และพัฒนาเนื้อหาคอนเทนต์ที่คนชอบอยู่ตลอดเวลา เป็นปัจจัยที่ทำให้คนหันมาอัพเดตข่าวสารจากทาง TikTok เพิ่มขึ้นเช่นกัน

AFP

เมื่อคนหันมาใช้ TikTok มากขึ้น องค์กรข่าวจึงได้หันมาใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อนำเสนอข่าวมากขึ้น จากงานวิจัยของสถาบันรอยเตอร์ พบว่า สำนักข่าวเกือบครึ่งหนึ่งหรือ 49 เปอร์เซ็นต์จาก 44 ประเทศทั่วโลก ลงคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับข่าวสารเป็นประจำใน TikTok โดยสำนักข่าวที่หันมาใช้ TikTok เร็วที่สุดอยู่ในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหรัฐอเมริกา และลาตินอเมริกา ทั้งนี้ สิ่งที่สำนักข่าวจะใช้เพื่อขยายฐานผู้ชมใน TikTok คือทำให้เนื้อหาสั้น กระชับ เข้าถึงง่าย และดึงดูดผู้ชมตั้งแต่ในวินาทีแรก ๆ ของวิดีโอ อย่างไรก็ตามความสำเร็จในการทำให้คลิปไวรัลใน TikTok ไม่มีสูตรสำเร็จ

AFP

การเสพสื่อของคนในโลกโซเชียลมีเดียกำลังจะถูกปรับโฉมใหม่อีกครั้ง หลังจากการมาถึงของ TikTok แต่ก็มีหลายประเด็นข้อถกเถียงเรื่องการใช้ TikTok ทั้งประเด็นเรื่องเสรีภาพการแสดงออก ความน่าเชื่อถือของข้อมูล ประเด็นเรื่องข่าวปลอม ไปจนถึงประเด็นเรื่องต้นทุนจากการสร้างคอนเทนต์สำหรับ TikTok โดยเฉพาะ แต่ทั้งนี้ สื่อก็ต้องปรับตัวในโลกที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน คงต้องติดตามกันต่อไปว่าในอนาคตจะมีการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงการเสพสื่อของคนรับสื่ออย่างไรบ้าง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook