สูงสุดสู่สามัญ! ย้อนเส้นทางการเมือง ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่สร้างปรากฏการณ์

สูงสุดสู่สามัญ! ย้อนเส้นทางการเมือง ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่สร้างปรากฏการณ์

สูงสุดสู่สามัญ! ย้อนเส้นทางการเมือง ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่สร้างปรากฏการณ์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กว่า 17 ปี แล้วที่อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้กลับมาเยือนประเทศไทยเลย หลังจากต้องลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ ซึ่งหากย้อนดูช่วงเวลาดังกล่าวอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ได้เคยกล่าวไว้หลายครั้งว่าจะกลับมาประเทศไทยเพื่อต่อสู้คดีต่างๆ ที่เกิดขึ้น แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง 

แต่วันนี้(22 ส.ค. 66) นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาถึงประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางนักการเมืองและประชาชนที่มารอต้อนรับจำนวนมากโดยทันทีที่นายทักษิณเดินลงจากเครื่องบิน ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมารอรับ ควบคุมตัวขึ้นรถที่เตรียมไว้ เพื่อดำเนินขั้นตอนการควบคุมตัวส่งศาลฎีกา-เรือนจำต่อไป

ทั้งนี้จุดประสงค์การกลับมาครั้งนี้ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่ามีเหตุผลอันใด หรือ หวังผลทางการเมืองหรือไม่ เพราะได้เดินทางกลับไทยตรงกับวันที่โหวตนายกรัฐมนตรีของไทยแบบพอดิบพอดี แต่ที่แน่ชัดและชัดเจนที่สุดคืออดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ได้กลับคืนสู่ครอบครัวอันอบอุ่นแล้ว และยังมีมวลชนที่ชื่นชอบให้การต้อนรับอย่างดี สร้างปรากฏการณ์ให้กับสังคมไทยอีกเช่นเคย

ย้อนดูเส้นทางการเมืองของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่มีอิทธิพลต่อการเมืองไทยมากที่สุด หลังก้าวลงจากอำนาจ

ทักษิณ ชินวัตร เกิดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 ที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุตรคนที่สองในจำนวน 10 คนของนายเลิศ และนางยินดี ชินวัตร มีชื่อเล่นว่า "น้อย" ส่วนชื่อ "แม้ว" เป็นฉายาที่เพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 10 (ตท.10) ตั้งให้

เส้นทางสู่การเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะพบว่าบุคคลที่อยู่เบื้องหลังและเป็นแรงผลักดันสำคัญก็คือ คุณบุญเลิศ ชินวัตร ผู้เป็นบิดานั่นเอง เนื่องจากในอดีตบิดาเป็น ส.ส.จังหวัดเชียงใหม่ระหว่างปี พ.ศ. 2512 - 2519 โดยเป็น ส.ส.สมัยแรกในยุครัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร 

หลังจากวางมือทางการเมืองได้สนับสนุนให้น้องชาย คือ นายสุรพันธ์ ชินวัตร (อาของ พ.ต.ท.ทักษิณ) ลงสมัครรับเลือกตั้งแทน ซึ่งในระหว่างที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเตรียมทหารนั้น บิดามักจะพาไปสัมผัสบรรยากาศการประชุมพรรคและการประชุมสภาฯอยู่เสมอ

เส้นทางการเมือง ก่อนก้าวเข้าสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรี

2518 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เริ่มงานการเมืองเป็นครั้งแรก โดยดำรงตำแหน่งเลขานุการของปรีดา พัฒนถาบุตร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ยังไม่ได้เข้ามาอย่างเต็มตัว

2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537 พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรมได้เชิญให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร  มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในสมัยรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย 

แต่ทำงานในตำแหน่งนี้ได้เพียง 101 วัน ก็ต้องลาออกจากตำแหน่งก่อนเนื่องจากรัฐธรรมนูญขณะนั้น ระบุว่ารัฐมนตรีต้องไม่มีกิจการสัมปทานกับรัฐ ทั้งนี้ได้ลาออกจากตำแหน่งก่อนที่จะมีการตัดสินชี้ชัดในเรื่องดังกล่าว

28 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังธรรม และลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เขต 2 กรุงเทพมหานคร และผ่านการเลือกตั้งในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 โดยมีคะแนนเสียงเป็นลำดับที่ 1 ในเขตดังกล่าว ซึ่งในครั้งนั้นพรรคพลังธรรมได้เก้าอี้ ส.ส.ในสภาฯจำนวน 23 ที่นั่ง

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร  จึงได้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี โดยรับผิดชอบงานด้านการจราจรและระบบขนส่งมวลชนในสมัยรัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชา ครั้งนั้นได้พยายามผลักดันการแก้ปัญหาจราจรอย่างเป็นระบบ รวมถึงประสานโครงการระบบขนส่งมวลชนให้เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายอย่างสมบูรณ์ขึ้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยเงื่อนไขอันซับซ้อนทางการเมือง ความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล แนวทางการทำงานที่แตกต่างกัน รวมถึงความขัดแย้งทางแนวความคิดภายในพรรคพลังธรรม ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร  ตัดสินใจลาออกจากการร่วมรัฐบาล และลาออกจากพรรคพลังธรรม ตามลำดับ

พ.ศ. 2540 สมัยรัฐบาลของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ได้กลับมารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งเมื่อมีการปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ 

พ.ศ. 2541 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้มาก่อตั้งพรรคไทยรักไทยขึ้น โดยมีคำขวัญของพรรคที่ได้รับความสนใจจากประชาชนคือ “คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคน” 

พ.ศ. 2544 การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 20 ผลปรากฏว่าพรรคไทยรักไทยได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง โดยได้ที่นั่งในสภาฯ เป็นลำดับที่ 1 จำนวน 248 ที่นั่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะหัวหน้าพรรค และผู้สมัครบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ของพรรค จึงได้รับการสนับสนุนให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศ

พ.ศ. 2548 พรรคไทยรักไทยได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนทั่วประเทศอย่างมากมายซึ่งไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์พรรคการเมืองใดมาก่อน คือ ได้ที่นั่งเข้าสู่สภาฯ ถึง 377 ที่นั่ง ทำให้พรรคไทยรักไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาล และเป็นพรรคการเมืองเดียวในรัฐบาลซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2

19 กันยายน พ.ศ. 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ก่อรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณ ทำให้ทักษิณพ้นจากตำแหน่ง 

คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) คณะรัฐประหารซึ่งแปรสภาพมาจาก คปค. เป็นผู้แต่งตั้ง ทำการอายัดทรัพย์ของทักษิณและครอบครัวในประเทศไทยรวม 76,000 ล้านบาท โดยอ้างว่าเขาร่ำรวยผิดปกติขณะอยู่ในตำแหน่ง

28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 หลังพรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง แต่หลังจากนั้นอาศัยอยู่ต่างประเทศโดยตลอด เขาถูกตัดสินจำคุก 2 ปีในคดีที่ดินรัชดาฯ 

พ.ศ. 2552 รัฐบาลอภิสิทธิ์เพิกถอนหนังสือเดินทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาให้ทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประมาณ 46,000 ล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดิน

5 กันยายน พ.ศ. 2558 ทักษิณ ชินวัตร ถูกถอดยศ "พันตำรวจโท"

เส้นทางการเมืองของ อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ถือว่าอยู่ในจุดที่สูงสุดอย่างที่ไม่มีใครสามารถทำได้เลย ทั้งคะแนนนิยมและผลการเลือกตั้งถล่มทลายที่สามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ถ้าหากไม่ถูกรัฐประหารยึดอำนาจเสียก่อนก็ไม่รู้ว่าป่านนี้ท่านอดีตนายกฯผู้นี้จะไปได้ไกลแค่ไหน เพียงชั่วพริบตาเดียวจากผู้ยิ่งใหญ่ก็ต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย

ช่างน่าพิศวงยิ่งนักกับการเมืองไทยที่สามารถพลิกผันได้ทุกเมื่อทุกเวลา ลือว่าอำนาจก็ช่างหอมหวานยิ่งนัก

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ ของ สูงสุดสู่สามัญ! ย้อนเส้นทางการเมือง ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่สร้างปรากฏการณ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook