กัณวีร์ ลั่นกลางสภาฯ ไม่อาจลดเกียรติ-คว่ำเสียงประชาชนไปโหวตให้เศรษฐา

กัณวีร์ ลั่นกลางสภาฯ ไม่อาจลดเกียรติ-คว่ำเสียงประชาชนไปโหวตให้เศรษฐา

กัณวีร์ ลั่นกลางสภาฯ ไม่อาจลดเกียรติ-คว่ำเสียงประชาชนไปโหวตให้เศรษฐา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายกัณวีร์ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม กล่าวระหว่างการพิจารณาเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีเมื่อวันอังคาร (22 ส.ค.) ว่า จะไม่ขอลดเกียรติและทำลายความต้องการของประชาชนไปออกเสียงสนับสนุนนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย

"ทุกท่านที่เป็นสมาชิกสภาอันทรงเกียรติแห่งนี้ทราบกันดีครับว่าการโหวตสวนมติพรรคการเมืองเป็นเรื่องใหญ่เพียงใด แต่ในกรณีนี้ที่ท่านพยายามทำกันอยู่นี้ คือ การโหวตสวนมติของมหาชนโดยส่วนมาก ย่อมเป็นเรื่องที่ใหญ่หลวงยิ่งกว่าการโหวตสวนมติของพรรคการเมือง และผมคงไม่สามารถที่จะยอมลดเกียรติของผมเองที่ได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนให้ความเห็นชอบกับคุณเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีได้" นายกัณวีร์ กล่าว

นายกัณวีร์ พูดต่อไปว่า ตนไม่มีปัญหาส่วนตัวหรือกับนายเศรษฐาหรือข้องใจต่อคุณสมบัติของนายเศรษฐา แต่ยืนยันว่าการโหวตให้นายเศรษฐาโดยที่มี 2 พรรคลุง คือ พรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติอยู่ในรัฐบาลนั้นเป็นการไม่ทำตามความต้องการของประชาชนที่ต้องการเปลี่ยนรัฐบาล ไม่ได้ต้องการให้มีรัฐบาลจากกลุ่มเดิม

การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งนี้หากเกิดขึ้นจะเป็นครั้งที่ 2 หลังจากเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล ที่ชนะการเลือกตั้งถูกเสนอชื่อ แต่กลับได้รับเสียงสนับสนุนไม่ถึง 50% ของสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่

ต่อมามีการนัดโหวตอีกครั้งเมื่อวันที่ 19 ก.ค. แต่กลับถูกขัดขวางด้วยการอ้างว่าข้อบังคับการประชุมร่วมของรัฐสภาข้อที่ 41 ไม่ให้เสนอญัตติซ้ำในสมัยประชุมเดียวกัน ทำให้มีการโหวต ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เห็นว่าการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเป็นเพียงญัตติหนึ่ง จึงเสนอซ้ำไม่ได้ ทำให้การโหวตครั้งที่ 2 ไม่เกิดขึ้น

หลังจากนั้น พรรคก้าวไกลจึงส่งมอบการจัดตั้งรัฐบาลให้กับพรรคเพื่อไทยที่มีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรเป็นอันดับ 2 แต่ต่อมาพรรคเพื่อไทยขับพรรคก้าวไกลออกจากแนวร่วมโดยอ้างว่าเป็นอุปสรรคต่อการรวมเสียงจากพรรคการเมืองขั้วรัฐบาลเดิม ทำให้ 8 พรรคที่ร่วมเซ็นบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ในการจัดตั้งรัฐบาลนั้นต้องแยกทางกัน และพรรคเพื่อไทยจึงหันไปจับมือกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ที่มีพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคภูมิใจไทย รวมอยู่ด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook