วันแรกของการ “เช็กอินเรือนจำ” ต้องทำอย่างไรบ้าง

วันแรกของการ “เช็กอินเรือนจำ” ต้องทำอย่างไรบ้าง

วันแรกของการ “เช็กอินเรือนจำ” ต้องทำอย่างไรบ้าง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากทักษิณ ชินวัตร เดินทางมาถึงประเทศไทยในช่วงเช้าวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2566 และเดินทางไปยังศาลฎีกา แผนกคดีอาญา เพื่อรับฟังคำพิพากษาคดีค้างเก่าเป็นที่เรียบร้อย ทักษิณถูกนำตัวไปยัง “เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร” ในฐานะ “ผู้ต้องขังใหม่” แล้วข้อปฏิบัติตัวสำหรับผู้ต้องขังใหม่สำหรับ “การเช็กอินเรือนจำ” วันแรกจะเป็นอย่างไร Sanook พาทุกคนไปสำรวจขั้นตอนและข้อปฏิบัติสำหรับผู้ต้องขังใหม่ ตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้าไปในเรือนจำ 

เช็กอินเข้าเรือนจำ

ตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการตรวจร่างกายผู้ต้องขังใหม่ และผู้ต้องขังเข้าออกเรือนจำ ปี พ.ศ. 2561 กำหนดให้เจ้าหน้าที่เรือนจำต้องทำการตรวจสอบประวัติของผู้ต้องขังที่ถูกส่งมาโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ประกอบด้วยข้อมูลที่เกี่ยวกับผู้ต้องขัง ลายพิมพ์นิ้วมือ และรูปถ่าย ซึ่งจะถูกตรวจสอบโดยละเอียดพร้อม ๆ กันการสัมภาษณ์ผู้ต้องขังเพื่อให้แน่ใจว่า ผู้ต้องขังเป็นคนเดียวกันกับที่ระบุไว้ในเอกสารของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

AFP

ขั้นตอนที่สำคัญคือการพิมพ์ลายนิ้วมือ เพื่อตรวจสอบกับลายพิมพ์นิ้วมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งจะช่วยยืนยันว่าเรือนจำรับผู้ต้องขังไม่ผิดตัว จากนั้นจะทำการถ่ายรูป (บางเรือนจำอาจรอถ่ายรูปในวันถัดไป) จากนั้นเจ้าหน้าที่เรือนจำจะดำเนินการตรวจค้นตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่และสัมภาระ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีสิ่งของต้องห้ามปะปนอยู่ ส่วนของมีค่า เจ้าหน้าที่จะรับฝากไว้ โดยมีการจดบันทึกรายการว่ามีสิ่งของอะไรบ้าง ผู้ต้องขังฝากไว้วันที่เท่าไร เมื่อพ้นโทษก็สามารถมาติดต่อขอรับกลับ หรือให้ญาติมาติดต่อขอรับได้ 

จัดหาที่เหมาะสมให้ผู้ต้องขัง

หลังจากตรวจร่างกายและยืนยันตัวผู้ต้องขังแล้ว เจ้าหน้าที่เรือนจำจะดูว่าผู้ต้องขังเป็นผู้กระทำความผิดจากคดีประเภทใด เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการจำแนกลักษณะผู้ต้องขัง เช่น ผู้ต้องขังอายุไม่เกิน 25 ปี ก็จะถูกส่งไปอยู่ทัณฑสถานวัยหนุ่ม หรือถ้าผู้ต้องขังป่วย ก็จะถูกส่งเข้าทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ 

AFP

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ต้องขังรับใหม่ทุกรายจะถูกจัดไว้ในแดนแรกรับ เพื่อให้ผู้ต้องขังได้มีโอกาสปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมในเรือนจำ และสำหรับผู้ต้องขังบางรายที่เจ้าหน้าที่เห็นว่ามีปัญหาด้านสุขภาพ ก็จะถูกส่งไปพักที่สถานพยาบาลของเรือนจำ

ส่วนการจัดลำดับชั้นนักโทษนั้น ต้องเป็นกรณีที่เจ้าตัวเป็นนักโทษคดีเด็ดขาด คือศาลมีคำสั่งพิพากษาเรื่องโทษจำคุกเรียบร้อยแล้ว โดยมีเด็ดขาดชั้นต้น เด็ดขาดชั้นอุทธรณ์ หรือเด็ดขาดชั้นฎีกา และในกรณีที่ผู้ต้องขังไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน หรือต้องโทษครั้งแรก เมื่อเจ้าหน้าที่พิจารณาองค์ประกอบต่าง ๆ แล้ว ผู้ต้องขังจะได้รับการจัดลำดับชั้นนักโทษเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นกลาง ตามกระบวนการแรกรับผู้ต้องขังใหม่ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ​ 1 ชั่วโมงก็ส่งผู้ต้องขังเข้าเรือนจำได้ทันที

ทักษิณ = ผู้ต้องขังสูงอายุ

กรมราชทัณฑ์ได้ให้ข้อมูลก่อนที่ทักษิณจะเดินทางกลับมาถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ระบุว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครมีมาตรการรับตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่ ตามมาตรฐานการปฏิบัติงานควบคุมผู้ต้องขัง (SOPs) และมีแนวทางปฏิบัติต่อผู้ต้องขังทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน และอยู่บนพื้นฐานตามหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งในส่วนของทักษิณนั้น ถือเป็นผู้ต้องขังสูงอายุ หากมีโรคประจำตัวที่จะต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง ทางกรมราชทัณฑ์จะมีแพทย์ประจำเรือนจำฯ ที่จะเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจในการจำแนกผู้ต้องขัง

AFP

อย่างไรก็ตาม เมื่อทักษิณเดินทางมาถึงประเทศไทย และถูกนำตัวเข้าสู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นที่เรียบร้อย ทางกรมราชทัณฑ์และเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ​ ก็ได้ออกมาแถลงข่าวเกี่ยวกับมาตรการดูแลทักษิณ โดยแพทย์ของทัณฑสถาน กรมราชทัณฑ์ พบว่าทักษิณเป็นกลุ่มเปราะบาง อายุเกิน 60 ปี มีโรคประจำตัวหลายโรค เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง กระดูกเสื่อม เป็นต้น จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังรักษาอย่างต่อเนื่องโดยแพทย์เฉพาะทาง 

เบื้องต้นทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้แยกการคุมขังทักษิณไว้ที่ “แดน 7” ซึ่งเป็นสถานพยาบาลของเรือนจำ โดยแยกคุมขังเพียงคนเดียว และมีเจ้าหน้าที่เฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook