สส.กาย เชื่อ สว.ดัน "เศรษฐา" มีเบื้องหลัง พ้อก้าวไกลชนะเลือกตั้ง แต่ชวดทุกตำแหน่ง
"ณัฐชา" เชื่อ ส.ว.หนุน "เศรษฐา" นั่งนายกฯ มีเบื้องหลัง สงสัยทะเลาะกันมาสิบปีจะมาดีกันได้อย่างไร ชี้ ร่างรธน. ฉบับใหม่ไม่สำคัญว่าจะแก้ได้หรือไม่ แต่ขึ้นอยู่กับที่มาของ สสร.
ที่รัฐสภา นายณัฐชา บุญอินไชยสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ว่ามีนัยยะทางการเมืองหรือไม่ ว่า ไม่ได้เป็นเรื่องผิดแปลกอะไรกับการส่งมอบอำนาจ เป็นอำนาจใหม่ที่ประชาชนมีข้อเคลือบแคลงสงสัย เพราะพล.อ.ประยุทธ์ยึดอำนาจจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่งเป็นรัฐบาลจากพรรคเพื่อไทย (พท.) ซึ่งยึดอำนาจมาเกือบ 9 ปี สุดท้ายมาส่งมอบอำนาจให้กับพรรค พท. ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสงสัยในหลายประเด็น
ส่วนการเข้าพบในครั้งนี้จะเกี่ยวข้องกับการที่ส.ว. โหวตให้นายเศรษฐาหรือไม่นั้น นายณัฐชากล่าวว่า หลังจากพรรคเพื่อไทย (พท.) จับมือกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ก็ต้องมีเสียงของส.ว.เกี่ยวข้องด้วยแน่นอน เพราะเช้าวันที่โหวตนายกฯ (22 สิงหาคม) ตนได้พูดคุยกับส.ว.ที่รู้จักกัน ก็ยังไม่มีสัญญาณมา แต่โค้งสุดท้าย ก็มีการส่งสัญญาณไฟเขียวโหวตให้นายเศรษฐา ช่วงเวลาระหว่างนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง แน่นอนว่าต้องมีการเจรจากับนอกรอบอย่างแน่นอน
เมื่อถามว่า การพูดคุยของนายกฯ จาก 2 ขั้วอำนาจ จะถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีหรือไม่สำหรับพรรค ก.ก. นายณัฐชากล่าวว่า คำว่า สมานฉันท์ปรองดอง ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่เบื้องหลังมีการกระทำอะไรบ้าง ที่มีผลกระทบกับประชาชน นี่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้นเราต้องรู้ให้ได้ว่า เบื้องหลังของคนที่ขัดแย้งกันมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี สุดท้ายมาจับมือกัน และบอกว่าเป็นการทลายความขัดแย้งที่ยาวนาน “อยู่ดีๆ คนมีปัญหากันมาเป็นสิบปี มาจับมือกัน มันต้องมีข้อเจรจาที่ตกลงกันได้ สิ้งที่ตกลงกันนั้นคืออะไร ประชาชนยังไม่ทราบเท่านั้นเอง” นายณัฐชากล่าว
ส่วนประเด็นความชัดเจนกรณีตำแหน่งรองประธานและผู้นำฝ่ายค้านพรรคก้าวไกล ได้หารือถึงเรื่องดังกล่าวหรือยังนายณัฐชา กล่าวว่า ยังคงต้องให้นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาคนที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เนื่องจากว่า เป็นกลไกที่ได้มาโดยชอบ ผ่านการเลือกของที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างถูกต้อง
ข้อกฎหมายที่ระบุไว้ว่าพรรคฝ่ายค้านไม่สามารถดำรงตำแหน่งประธานสภาหรือรองประธานสภาได้นั้น ทำให้พรรคก้าวไกลอยู่ในสถานะที่ก้ำกึ่งมาก จะบอกว่าเราเป็นฝ่ายค้านก็พูดได้ไม่เต็มปาก
“เราชนะการเลือกตั้งเป็นพรรคอันดับ 1 เราขอตำแหน่งประธานสภาก็ถูกกีดกัน ขอนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้ ขอเป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่ได้ ต่อมาขอเป็นฝ่ายค้านก็ยังโดนกฎกติกาต่าง ๆ ทำให้ ไม่ได้เป็นฝ่ายค้านต่อจากนี้ไปพรรคก้าวไกลก็คงอยู่ในสถานะที่เรียกว่า ฝ่ายค้านโดยการกระทำในทางพฤตินัย แต่ในทางนิตินัย ยังไม่สามารถเรียกตัวเองว่าฝ่ายค้านได้เต็มปาก เพราะเรายังสนับสนุนนายปดิพัทธ์ดำรงตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่รองประธานสภาคนที่ 1 ต่อไปอย่างสุดความสามารถ ฉะนั้นเรายังคงไม่ถูกเรียกว่าฝ่ายค้านได้อย่างเต็มรูปแบบ” นายณัฐชา กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าต้องมีการยกตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านให้กับพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ เพราะมีจำนวนเสียงรองลงมา นายณัฐชากล่าวว่า โดยกติกาไม่มี ต้องเป็นพรรคที่มีเสียงอันดับ 1 ในฟากฝ่ายค้าน ซึ่งพรรคอื่น ๆ ไม่มีเสียงมากกว่าพรรคก้าวไกล ฉะนั้นก็ไม่สามารถเป็นผู้นำฝ่ายค้านได้ หากพรรคก้าวไกลไม่นำเสนอผู้นำฝ่ายค้าน ก็ไม่มีพรรคอื่นที่จะได้ในตำแหน่งนี้ โดยกติกาแล้วทำไม่ได้
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ระหว่างตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านกับรองประธานสภา พรรคก้าวไกลจะเลือกอะไร นายณัฐชากล่าวว่า ไม่ได้อยู่ที่ว่าเราจะเลือกอะไร แต่ขณะนี้เรายังคงไว้ซึ่งตำแหน่งรองประธานสภาคนที่ 1 เมื่อถามอีกว่าจะมีความชัดเจนเรื่องนี้เมื่อไหร่ นายณัฐชากล่าวว่า ยังไม่ต้องการความชัดเจนในเรื่องนี้ เนื่องจากรองประธานสภาคนที่ 1 ยังปฏิบัติหน้าที่ได้อยู่ ส่วนกลไกในการตั้งผู้นำฝ่ายค้านนั้น ทางผู้นำฝ่ายค้านต้องเป็นหัวหน้าพรรคโดยตำแหน่ง ซึ่งขณะนี้หัวหน้าพรรคของพรรคก้าวไกล คือนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งยังคงถูกหยุดปฏิบัติหน้าที่ และไม่สามารถเข้ามาทำหน้าที่ในสภาได้ และเราไม่มีความประสงค์เปลี่ยนเป็นบุคคลอื่น ฉะนั้นตำแหน่งของผู้นำฝ่ายค้านจะต้องว่างเว้นลงไป
เมื่อถามว่าได้พูดคุยประเด็นดังกล่าวกับพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ นายณัฐชากล่าวว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุยเพราะยังไม่รู้สถานะของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีมีหลายทิศทางเหลือเกิน จึงจับไม่ได้ว่าจะอยู่ฝ่ายค้านหคือฝ่ายรัฐบาล
เมื่อถามย้ำว่า ได้มีการพูดคุยกันในพรรคฝ่ายค้านทางนิตินัยหรือยัง นายณัฐชากล่าวว่า ไม่ได้คุยกันอย่างเป็นทางการ เพราะการเป็นฝ่ายค้านไม่ต้องประกาศจัดตั้งอย่างเป็นทางการ หรือต้องลงนามความร่วมมืออะไรต่าง ๆ แต่แน่นอนว่าการทำหน้าที่ สส. ในฟากฝ่ายค้าน พรรคก้าวไกลก็เคยทำหน้าที่นี้ใน 4 ปีที่ผ่านมา รอบนี้ก็คงมีพรรคเป็นธรรมและพรรคไทยสร้างไทยมาร่วมด้วย หรือแม้กระทั่งพรรคอื่น ๆ อีกประปราย
เมื่อถามว่าตำแหน่งประธานกรรมาธิการวิสามัญของสภา พรรคก้าวไกลได้มีการวางตัวไว้หรือยัง นายณัฐชากล่าวว่า ยังไม่ได้วางตัวว่าจะเป็นบุคคลใด เพราะยังไม่ได้มึการประชุมว่า เพื่อจัดสรรปันส่วนว่าพรรคใด ได้คณะกรรมาธิการชุดใด ซึ่งหลังการประชุมจัดสรรปันส่วนแล้ว ทางพรรคก้าวไกลก็จะประชุมหารือ เลือกคัดสรรผู้ที่มีคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งประธานกรรมาธิการ เพื่อการทำหน้าที่ต่อไป
เมื่อถามว่าเบื้องต้นประมาณไว้ว่าจะได้กี่คณะ นายณัฐชากล่าวว่า จากจำนวน สส. 151 เสียงของพรรคก้าวไกล คาดว่าจะได้ 12 คณะ
อัลบั้มภาพ 73 ภาพ