ชาวบ้านร้องสอบ ถนนเกาะมุกงบ 21 ล้าน สร้างเพียง 4 เดือน พังชำรุด
ป.ป.ช.ตรัง ลุยสอบ ถนนเกาะมุกงบ 21 ล้าน หลังชาวบ้านร้องเรียน สร้างเพียง4เดือน พังชำรุด
เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.จังหวัดตรัง ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบโครงการปรับปรุงเส้นทางเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวรอบเกาะมุก ซึ่งเป็นการก่อสร้างทำถนนรอบเกาะมุก ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง โดยการวางอิฐตัวหนอน และท่อระบายน้ำ ระยะทางกว่า 4กิโลเมตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้างกว่า 21 ล้านบาท โดยมีแขวงทางหลวงชนบท จ.ตรัง เป็นผู้รับผิดชอบ และดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง
โดยมีการการประกวดราคาแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อช่วงเดือน เม.ย. 2566 หรือประมาณ 4 เดือนที่ผ่านมา ถนนกลับมีการชำรุดและพังหลายจุด รวมทั้งชาวบ้านและนักท่องเที่ยวได้รับความเดือดร้อนในการสัญจร และน้ำไหลหลากเข้าบ้านเรือน จนมีการตั้งข้อสังเกตว่าการดำเนินการเป็นไปตามหลักวิศวกรรม หลักความคุ้มค่าหรือไม่
นายยุทธนา วิมลเมือง หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันการทุจริต ป.ป.ช.ตรัง กล่าวว่า การลงพื้นที่ตรวจสอบของ ป.ป.ช.ตรัง ในครั้งนี้ เนื่องจากได้รับข้อมูลจากชาวบ้าน ในพื้นที่เกาะมุก ว่า หน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการก่อสร้างถนน ในเกาะมุก แต่หลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จเพียงไม่กี่เดือน ปรากฏว่าถนนชำรุด จึงอยากให้ป.ป.ช. เข้ามาตรวจสอบ
หลังได้รับการร้องเรียน นายบัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำ จ.ตรัง พร้อมคณะได้ลงพื้นที่ ไปยังเกาะมุก ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโครงการดังกล่าว มีการก่อสร้างถนนแล้วเสร็จจริง จากการตรวจสอบเบื้องต้น ได้มีการเบิกจ่ายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อดูลักษณะเชิงกายภาพปรากฏว่า ถนนในบางเส้นบางช่วง ได้ทรุดตัว แตก เกิดจากการที่มีน้ำเซาะทรายทำให้เกิดการชำรุด และบางช่วงไม่ได้ระดับ และบางช่วงก่อสร้าง บนถนนเดิมที่เพิ่งก่อสร้างไป
ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบในเรื่องของ การประมูลปรากฏว่ามีผู้เสนอราคาเพียงรายเดียว ทางสำนักงานป.ป.ช. ตรัง ต้องตรวจสอบต่อไปว่า ในกรณีกฎหมาย ระบุว่าถ้ามีผู้ประมูลเพียงรายเดียวให้ยกเลิก เว้นแต่หน่วยงานราชการ นั้นๆ มีเหตุผลเพียงพอที่สามารถจะจ้างได้
นอกจากนี้ ไม่ปรากฏป้ายของโครงการ ทั้งป้ายชั่วคราว หรือ ถาวร ที่ต้องดำเนินการติดตั้งให้ประชาชนได้ทราบ กรณีดังกล่าว ได้แจ้งไปยังกรมทางหลวงชนบทว่า ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบกฎหมายต่อไป
ส่วนประเด็นที่ 3เรื่องของการออกแบบ ต้องตรวจสอบว่าเป็นไปตามหลักของวิศวกรรมหรือไม่ เรื่องของ Road Design เรื่องของความคุ้มค่า ความปลอดภัยในการสัญจร เรื่องของระบบน้ำ ว่าสอดคล้องกับหลักการของทางวิศวะ หรือไม่อย่างไร กรณีที่ชำรุดทรุด ไม่ได้ระดับแตกร้าว นั้น ปรากฏว่ายังอยู่ในช่วงของการประกันการงานชำรุด จึงให้หน่วยงานของรัฐแจ้งไปยังผู้รับเหมาคู่สัญญาหรือผู้รับจ้างให้ดำเนินการแก้ไข ให้ดำเนินการให้เรียบร้อย ซึ่งทางป.ป.ช. จะลงพื้นที่ไปตรวจสอบติดตามอีกครั้ง ว่า ทางผู้รับเหมาก่อสร้างได้ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องมั่นคงแข็งแรงตามหลักของทางวิศวกรรม หรือไม่