โอมิครอน กลายพันธุ์คู่-พลิกขั้ว HK.3 เจอในไทยแล้ว แพร่เร็วกว่าเดิม ถึง 95%

โอมิครอน กลายพันธุ์คู่-พลิกขั้ว HK.3 เจอในไทยแล้ว แพร่เร็วกว่าเดิม ถึง 95%

โอมิครอน กลายพันธุ์คู่-พลิกขั้ว HK.3 เจอในไทยแล้ว แพร่เร็วกว่าเดิม ถึง 95%
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โอมิครอน กลายพันธุ์คู่-พลิกขั้ว HK.3 เจอในไทยแล้ว 3 ราย แพร่ระบาดเร็วกว่า XBB.1.16 ถึง 95%

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ระบุว่า ยุทธวิธีล่าสุดของโควิด-19 เพื่อความอยู่รอดคือการ “กลายพันธุ์คู่-พลิกขั้ว(L455F + F456L)” โดยมีไวรัสกลายพันธุ์ลักษณะนี้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2566

การ“กลายพันธุ์คู่-พลิกขั้ว (L455F + F456L)” ถือเป็นความพยายามล่าสุดของไวรัสโควิด-19 ในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมไปกับเพิ่มความสามารถในการยึดเกาะกับผิวเซลล์มนุษย์ ทำให้ไวรัสแทรกเข้าไปติดเชื้อในเซลล์ได้ดีกว่าโอไมครอนทุกสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน

กลายพันธุ์คู่-พลิกขั้ว ยุทธวิธีล่าสุดของโควิด-19

จากการสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของโควิด-19 ทั่วโลกอย่างต่อเนื่องมาตลอด 3 ปี ย่างเข้าปีที่ 4 พบการกลายพันธุ์คู่-พลิกขั้ว (L455F + F456L) เริ่มมาตั้งแต่ต้นปี 2566

ขณะนี้มีจำนวนถึง 2,261 ราย  โดยพบในไทย 3 ราย จาก กทม. 2 รายและจากเชียงใหม่ 1 ราย (HK.3) ซึ่งต้องสืบสวนโรคต่อไปว่าทั้งสามรายมีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่  หากไม่เกี่ยวข้องกันอาจประเมินเบื้องต้นว่า ได้มีการแพร่ระบาดของโอมิครอนที่มีการกลายพันธุ์คู่-พลิกขั้ว (L455F + F456L) ในไทยมากกว่าที่มีรายงานในฐานข้อมูลโควิดโลก “จีเสส”

เพราะการตรวจโควิด-19 ด้วยเทคนิค PCR ตามด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมในระยะหลังทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกลดลงอย่างมาก (เปลี่ยนไปตรวจ ATK ซึ่งไม่สามารถระบุสายพันธุ์ของโควิด-19 ได้) จำนวนที่เราพบอาจเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งในมหาสมุทรที่โผล่เพียงส่วนยอดแหลมขึ้นมาเหนือผิวน้ำเท่านั้น (The Tip Of The Iceberg)

ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมานักวิทยาศาสตร์ได้เรียนรู้ว่าโควิด-19 มีกลยุทธ์ใหม่ (New trick) ในการกลายพันธุ์เพื่อ “สลายตำแหน่ง” ที่แอนติบอดี (ที่เกิดขึ้นในร่างกายจากการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อตามธรรมชาติ) เข้าจับกับส่วนหนามของไวรัสเพื่อการทำลายอนุภาคไวรัส ยิ่งไปกว่านั้นการกลายพันธุ์ในลักษณะนี้ยังช่วยให้ส่วนหนามสามารถเข้าจับกับผิวเซลล์มนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น

กล่าวคือมีการกลายพันธุ์สองตำแหน่งติดกัน (double/combo mutation) คือ L455F และ F456L แบบพลิกขั้ว (Flip)  โดยการเปลี่ยนแปลงในระดับกรดอะมิโน “ฟีนิลอะลานีน (F)” และ “ลิวซีน (L)” โดยตำแหน่งที่กลายพันธุ์แรก (455) จะพลิกขั้วจาก L เป็น F และตำแหน่งถัดมา (456) พลิกขั้วจาก F เป็น L เมื่อรวมการเปลี่ยนแปลงสลับขั้วของสองกรดอะมิโนเข้าด้วยกันจะทำให้ส่วนหนามของไวรัสสามารถ

  1. หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้นโดยการสลายตำแหน่งที่แอนติบอดีจะเข้าจับกับส่วนหนามของไวรัสเพื่อทำลายอนุภาคไวรัส
  2. ทำให้ส่วนหนามของไวรัสสามารถจับกับผิวเซลล์มนุษย์ (ACE2) ได้แน่นขึ้นช่วยให้ไวรัสแทรกเข้าสู่เซลล์ได้ดียิ่งขึ้น

โอไมครอนกลายพันธุ์คู่พลิกขั้ว HK.3 เจอในไทยแล้ว 3 ราย

ปรากฏการณ์ดังกล่าวจึงถูกเรียกว่า การกลายพันธุ์คู่-พลิกขั้ว (Flip combo mutation) ทำให้เกิด XBB สองสายพันธุ์ใหม่ขึ้น ที่โดยศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดีกำลังเฝ้าระวังคือ

  1. GK (XBB.1.5.70) มีต้นตระกูลเป็น XBB.1.15 เกิดกลายพันธุ์บนส่วนหนามสองตำแหน่งติดกันคือ L455F และ F456L และ
  2. HK.3 (XBB.1.9.2.5.1.1.3) มีต้นตระกูลมาจาก EG.5.1 มีการกลายพันธุ์บนส่วนหนามสองตำแหน่งติดกันคือ L455F และ F456L เช่นกัน

HK.3 พบแล้วใน 10 ประเทศทั่วโลกจำนวน 118 ราย  พบในประเทศไทย 3 ราย HK.3 ที่พบในไทยมีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) เหนือกว่า สายพันธุ์หลัก XBB.1.16 ที่ระบาดในไทยถึง 95% โดยศูนย์จีโนมฯกำลังติดตามอย่างใกล้ชิด

การพบ HK.3 ในประเทศต่างๆ  

จากความร่วมมือของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกในการเฝ้าติดตามสายพันธุ์ของโควิด-19 ที่เปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่องด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมของโควิด-19 ทั้งจีโนม (Global Genomic surveillance tracks COVID-19 variants) และแชร์ไว้บนฐานข้อมูลโควิดโลก “จีเสส(GISAID)” พบโอไมครอน HK.3 ในประเทศต่างๆ ดังนี้

  • จีน 88 ราย คิดเป็น 0.282% ของทุกสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศ
  • เกาหลีใต้ 13 ราย คิดเป็น 0.036% ของทุกสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศ
  • สหรัฐ 5 ราย คิดเป็น 0.004% ของทุกสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศ
  • ญี่ปุ่น 3 ราย คิดเป็น 0.011% ของทุกสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศ
  • ไทย 3 ราย คิดเป็น 0.078% ของทุกสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศ
  • สิงคโปร์ 2 ราย คิดเป็น 0.026% ของทุกสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศ
  • สเปน 2 ราย คิดเป็น 0.012% ของทุกสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศ
  • ออสเตรเลีย 1 ราย คิดเป็น 0.004% ของทุกสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศ
  • แคนาดา 1 ราย คิดเป็น 0.003% ของทุกสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศ
  • เยอรมนี 1 ราย คิดเป็น 0.005% ของทุกสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศ

ส่วนโอมิครอนสายพันธุ์ GK (XBB.1.5.70) พบทั่วโลก 336 ราย  พบมากใน บราซิล สหรัฐ สเปน ฝรั่งเศส แคนาดา โปรตุเกส อังกฤษ ไอซ์แลนด์ ฯลฯ ตามลำดับ ยังไม่พบในประเทศไทย

นักวิจัยชาวจีน ดร. หยุนหลง ริชาร์ด เฉา จากมหาวิทยาลัยปักกิ่งได้ทำการตรวจสอบในหลอดทดลองยืนยันว่า

  1. โอมิครอน XBB ที่มีการกลายพันธุ์คู่-พลิกขั้ว (XBB*+L455F+F456L ) จะหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุดในปัจจุบัน
  2. โอมิครอน XBB ที่มีการกลายพันธุ์คู่-พลิกขั้ว (XBB*+L455F+F456L ) จะจับกับผิวเซลล์มนุษย์ได้ดีที่สุดในปัจจุบัน
  3. XBB ที่มีการกลายพันธุ์ที่ F456L หรือ L455F เพียงตำแหน่งเดียวจะจับกับผิวเซลล์ได้ไม่ดี

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook