''เอลนินโญ่'' วิกฤติภัยแล้งคุกคาม
เกษตรกรฝากอนาคตกับชลประทาน
เป็นสิ่งที่มิอาจมองข้ามได้ โดยเฉพาะช่วงทิศทางสินค้าเกษตรกำลังขาขึ้น มีความกังวลว่าภัยแล้งจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญ สร้างความเสียหายต่อพื้นที่การเพาะปลูกในไทย และกระทบต่อรายได้เงินในกระเป๋าของเกษตรกรอีกครั้งหรือไม่
ปรากฏการณ์ธรรมชาติแปรปรวนด้านลมสินค้า และ กระแสน้ำเย็นบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ หรือ ปรากฏการณ์เอลนินโญ่ เป็นต้นเหตุสำคัญทำให้เกิดความแห้งแล้งไปทั่วโลก กินพื้นที่ในทวีปอเมริกาใต้ ออสเตรเลีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย
ที่ผ่านมาภัยเอลนินโญ่คุกคาม สร้างความเสียหายต่อพื้นที่เพาะปลูกสินค้าเกษตรไปแล้วหลายประเทศ ไม่ว่าเป็นอียิปต์ หรืออินเดียยักษ์ใหญ่ผู้ส่งออกข้าวที่ต่างประกาศของดส่งออกข้าวชั่วคราว ส่งผลให้ตอนนี้ตลาดข้าวเกิดการปั่นป่วน ทั่วโลกกังวลจะเกิดวิกฤติขาดแคลนอาหารอีกครั้ง จึงมีการแย่งซื้อข้าวและดันราคาให้สูงขึ้นตามมา โดยข้าวขาวทะลุตันละ 700 ดอลลาร์สหรัฐ ข้าวหอมมะลิเกิน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐแล้ว
สถานการณ์เช่นนี้กลายเป็นข่าวดีของไทย ทำให้เกษตรกร ขายพืชผลสินค้าเกษตรราคาดีขึ้น ประกอบกับผลพวงจากโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตรที่ช่วยเพิ่มความมั่นคงแก่เกษตรกร ส่งผลให้ปี 53 เกษตรกรขยายพื้นที่การปลูกข้าว นาปรังเพิ่มสูงขึ้น บางรายที่ไม่เคยปลูกก็หันมาปลูก เช่น บ้านทุ่งโป่ง ต.ทุ่งโป่ง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น มีเกษตรกรปลูกข้าวนาปรังเพิ่มขึ้นกว่า 60 ราย จากปีก่อนที่ปลูกข้าวนาปรังเพียง 30 ราย
ประสิทธิ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย มองว่าปีนี้ชาวนาน่าจะหันมาปลูกข้าวเยอะขึ้น เพราะราคาข้าวปรับตัวดีขึ้น เป็นแรงจูงใจให้มีการขยายการเพาะปลูก โดยเฉพาะนาปรังบริเวณภาคกลางน่าจะมีการปลูกหลายรอบ แต่สิ่งที่กังวลตอนนี้ คือน้ำ จะมีเพียงพอต่อการเพาะปลูกหรือไม่ เพราะการปลูกข้าวต้องใช้น้ำมากกว่าพืชชนิดอื่น และได้ยินว่าหลายจังหวัดเริ่มเกิดภัยแล้งแล้ว
สอดคล้องกับสถานการณ์เป็นจริง ที่ตอนนี้กรมชลประทาน ยืนยันว่าภัยเอลนินโญ่ได้เข้ามาทักทายประเทศไทยแล้ว หากวางแผนรับมือไม่ดี ก็สุ่มเสี่ยงที่ภัยแล้งจะสร้างความเสียหายต่อพื้นที่เพาะปลูก ทำให้ขาดทุนกลายเป็นภาระหนี้สินแก่เกษตรกร รวมถึงอาจลุกลามเกิดวิกฤติทางสังคมตามมาได้
ข้อมูลความเสียหายจากภัยแล้งถูกรายงานเข้า ครม. แล้วเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 53 มีจังหวัดที่ประสบภัยปัญหาแล้ว 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย 3 อำเภอ แพร่ 5 อำเภอ น่าน 1 อำเภอ และสุโขทัย 1 อำเภอ มีเกษตรกร 19,028 รายที่ได้รับผลกระทบ และมีพื้นที่เสียหาย 82,274 ไร่ แบ่งเป็นข้าว 3,431 ไร่ พืชไร่ 78,353 ไร่ พืชสวนและอื่น ๆ 490 ไร่
ที่สำคัญยังมีจังหวัดอยู่ในข่ายเสี่ยงที่จะประสบวิกฤติภัยแล้งตามมาอีก 24 จังหวัด คือ พิษณุโลก นครสวรรค์ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย แพร่ กำแพงเพชร หนองคาย อุดรธานี ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ สกลนคร เลย หนองบัวลำภู นครนายก ชัยนาท ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ลพบุรี จันทบุรี และเพชรบูรณ์
เป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงไม่น้อยที่เกิดการขาดแคลนน้ำ เพราะเมื่อเทียบพื้นที่ทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับปริมาณน้ำในเขตชลประทาน และแหล่งน้ำธรรม ชาติลดลง
ข้อมูลจากกรมชลประทานรายงานว่า ปรากฏการณ์เอล นินโญ่ปีที่ผ่านมา ทำให้การกักเก็บน้ำในเขื่อนทำได้น้อยกว่าทุกปี จากการวัดระดับน้ำในเขื่อนทั่วประเทศเพื่อรอใช้ช่วงแล้งปี 53 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 52-30 เม.ย. 53 พบว่าปริมาณน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำเหลือประมาณ 50,000 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่าปีที่ผ่านมา 900 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือปริมาณลดหายไปเท่ากับน้ำในเขื่อนป่าสักทั้งหมด
ขณะที่แหล่งน้ำตามเขื่อนที่อยู่ภายใต้การดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อธิบายสถานการณ์ว่า ภาพรวมปริมาณน้ำทั้งประเทศปีนี้น้อยกว่าปีที่แล้ว แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ิ ยกเว้นพื้นที่ภาคเหนือ ในเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลน่าเป็นห่วงที่สุด เนื่องจากมีน้ำรวมกันเหลือเพียง 12,110 ล้าน ลบ.ม. หรือ 52.12% ของความจุ น้อยกว่าปีก่อน 20.12% หรือ 3,050 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของ กฟผ. ณ วันที่ 11 ก.พ. 53 มีทั้งหมด 43,272 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.49% หรือ 3,002 ล้าน ลบ.ม. ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา 11.56% หรือ 5,658 ล้าน ลบ.ม.
ส่วนสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 แห่ง มีปริมาณน้ำกักเก็บรวมทั้งสิ้น 4,583 ล้านลบ.ม. หรือ 59% ของความสามารถในการกักเก็บ และมีปริมาณน้ำที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ 2,939 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2552 ที่มี 5,396 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 70 ของปริมาณกักเก็บ โดยเฉพาะเขื่อนอุบลรัตน์ปัจจุบันมีปริมาณน้ำลดลงมากเหลือเพียง 1,176 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปี 52 ที่มีถึง 1,600 ล้าน ลบ.ม. และมีน้ำที่สามารถใช้ได้เพียง 24% ในขณะที่เขื่อนน้ำอูนมีน้ำที่ใช้ได้ 29% เขื่อนลำตะคองมีน้ำที่ใช้ได้ 40%
ด้านแหล่งน้ำธรรมชาติเริ่มเห็นการแห้งขอดเป็นสันทราย จากอากาศที่ร้อนจัดทำให้น้ำระเหยอย่างรวดเร็ว บริเวณภาคเหนือ แม่น้ำปิง ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้น อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม่น้ำมูล ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย เช่นเดียวภาคกลาง แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสัก ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ขณะที่ภาคใต้ ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ
เมื่อเปรียบเทียบปริมาณน้ำกับเป้าหมายพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง จากฐานข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปรังปี 52 มีทั้งสิ้น 12.4 ล้านไร่ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 1.46 ล้านไร่ และคาดว่าปี 53 มีพื้นที่เพาะปลูกไม่น้อยกว่าเดิม แต่กรมชลประทานคาดการณ์จะจัดสรรน้ำได้เพียง 9.5 ล้านไร่ โดยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 912,300 ไร่ พบว่ามีน้ำน้อยกว่าพื้นที่เพาะปลูกจริงไม่ต่ำกว่า 3 ล้านไร่
ที่สำคัญจากแผนการใช้น้ำในฤดูแล้ง ของกรมชลประทาน ปี 52/53 มีจำนวน 20,720 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่แบ่งเป็นเพื่อบริโภคและอุปโภค 1,836 ล้านลูกบาศก์เมตร รักษาระบบนิเวศ 5,539 ล้านลูกบาศก์เมตร เกษตรกรรม 13,176 ล้านลูกบาศก์เมตร และอุตสาหกรรม 169 ล้านลูกบาศก์เมตรนั้น ถึงขณะนี้ห่วงกันว่าหากการใช้น้ำไม่เป็นตามแผนหลังมีพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น อาจเกิดน้ำขาดแคลนในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้าได้
ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน เปิดเผยถึงผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 52/53 ในเขตพื้นที่ชลประทานทั่วประเทศว่า ณ 29 ม.ค. 53 มีการเพาะปลูกไปแล้ว 10.56 ล้านไร่ คิดเป็น 89% ของแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งหมด เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายในการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งไว้ 5.54 ล้านไร่ ขณะนี้ได้มีการเพาะปลูกไปแล้ว 5.64 ล้านไร่ คิดเป็น 102% ของแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
สำหรับแผนการจัดสรรน้ำในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งวางแผนการใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ เขื่อนป่าสักฯ และการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง รวมกันกว่า 8,000 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการใช้น้ำไปแล้ว 5,007 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 63% ของแผนจัดสรรน้ำทั้งหมดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา คงเหลือปริมาณน้ำที่จะนำมาใช้ได้ตามแผนการจัดสรรน้ำตลอดช่วงฤดูแล้งที่เหลืออีกประมาณ 3 เดือน 2,993 ล้านลูกบาศก์เมตร หากใช้น้ำไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้จะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำได้ในอนาคต
อธิบดีกรมชลประทาน ชลิต ดำรงศักดิ์ ให้ความเห็นว่า แม้ปริมาณน้ำจะลดลงไปมาก แต่การใช้น้ำยังไม่เข้าสู่ขั้นวิกฤติ หากมีการใช้ตามแผน แต่จะน่าห่วงทันทีหากมีการใช้น้ำเกินกว่าแผน แต่ขณะนี้พบว่า ภาคเกษตรกรได้มีการลงใช้น้ำสูงมาก ตามพื้นที่เพาะปลูกที่เพิ่มขึ้น หลังจากราคาพืชผลเพิ่มขึ้น จใจให้เพาะปลูกมาก โดยเฉพาะในเขตภาคกลาง ที่มีการปลูกข้าวซ้ำ ๆ กันหลายรอบ และมีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. ซึ่งในปีนี้ และหากเกิดภาวะเอลนินโญ่รุนแรงช่วงแล้งอาจลากยาวไปถึงเดือน ก.ค. 53
เห็นได้ว่าวิกฤติภัยแล้งกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติที่กำลังคืบคลานบั่นทอนความเป็นอยู่วิถีชีวิตคนไทย เกษตรกร การฟื้นตัวเศรษฐกิจประเทศอย่างชัดเจน หากรัฐบาลบริหารจัดการไม่ดี มีความเสี่ยงก่อให้เกิดปัญหาตามมาในหลายมิติ เพราะจากการสอบถามเกษตรกร หลายรายได้ลงทุนกู้หนี้ยืมสิน เพื่อลงทุนขยายการเพาะปลูก หวังกอบโกยรายได้จากการขายสินค้าเกษตรในช่วงขาขึ้น โดยยังไม่รับรู้ถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้น ดังนั้น หากเร่งขยายการเพาะปลูกขึ้นไปเรื่อย ๆ แต่ไม่มีน้ำพอ ไม่ได้ผลผลิตตามที่คาดหวัง ก็เสี่ยงขาดทุนและกลับสู่วังวนชีวิตหนี้เหมือนเดิม
นอกจากนี้ยังกระทบต่อภาพลักษณ์การค้าและการส่งออกข้าวของประเทศไทยด้วย เพราะตามแผนปีนี้ ไทยตั้งเป้าหมายขยายการส่งออกข้าวเป็น 9-9.5 ล้านตัน เพิ่มจากปี 52 ที่ 8.5 ล้านตัน หากผลผลิตได้รับความเสียหายจากภัยแล้ง จะส่งผลต่อเสถียรภาพฐานะผู้นำส่งออกข้าว และการนำรายได้เข้าประเทศตามมา ขณะเดียวกันหากภัยแล้งรุนแรงหนัก ก็อาจกระทบต่อราคาข้าวให้แพงขึ้น โดยเฉพาะข้าวสารในประเทศ กลายเป็นภาระให้คนไทยต้องซื้อข้าวกินในราคาแพง
ท่ามกลางสถานการณ์ที่น่ารุนแรง แต่ถึงวันนี้แนวทางแก้วิกฤติภัยแล้งของรัฐยังดูอ่อนซ้อม ไม่มีความชัดเจนนัก ลำพังแค่ การจัดเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ 536 เครื่อง ในพื้นที่ 34 จังหวัด เพื่อสูบน้ำเข้าที่นา หรือแผนปฏิบัติการฝนหลวง ที่จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง 5 ศูนย์ 7 หน่วย และเริ่มทำฝนหลวงตั้งแต่ 8 ก.พ. ที่ผ่านมา ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร และลดปริมาณการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ก็เป็นการแก้ปัญหาแบบผักชีโรยหน้าเท่านั้น
การรณรงค์ให้ชาวนาตระหนักถึงปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น หรือการลดรอบการปลูกข้าวและทำนาปรังเหลือปีละ 1 รอบ เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่รับรู้ถึงภัยแล้งที่เกิดขึ้น และแม้ว่ารับรู้ปัญหาได้จริงก็ยากมีใครปฏิบัติตาม เพราะหากลดการปลูกข้าวจริง ช่วงเวลาที่เหลือเกษตรกรจะว่างงานและขาดรายได้ ซึ่งภาครัฐควรหามาตรการรองรับ ส่งเสริมอาชีพเสริมทดแทน หรือการรณรงค์ให้ปลูกพืชไร่ที่ใช้น้ำน้อยอย่างเป็นรูปธรรมกว่าที่เป็นอยู่
ถึงวันนี้ วิกฤติภัยแล้ง ได้มาเยี่ยมเยียนประเทศไทยอย่างเป็นทางการแล้ว และกระทบต่อคนครึ่งค่อนประเทศ จึงถือเป็นการบ้านใหญ่ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข โดยเฉพาะทีมประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล จะต้องเร่งเครื่องวางแผนใช้สื่อให้เป็นประโยชน์ สร้างความรับรู้แก่เกษตรกรมากกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ใช่ไปมัวแต่เสียเวลายุ่งแต่โปรเจคท์สร้างภาพ เล่นเกมการเมืองไปวัน ๆ เหมือนที่ผ่าน ๆ มา.
ทีมข่าวเศรษฐกิจ