สระบุรีดราม่า ลาบหัวปลี 1 จังหวัด 1 เมนู แจงยิบคัดเลือกยังไง ใครเป็นคนเลือก?
สระบุรีดราม่า ลาบหัวปลี 1 จังหวัด 1 เมนู แจงยิบคัดเลือกยังไง ใครเป็นคนเลือก?
วันที่ 2 กันยายน 2566 จากกรณีโลกโซเชียล มีการสอบถามถึงอาหารถิ่นของจังหวัดสระบุรี ว่าใครเป็นคนคัดเลือก มีใครเคยถามความเห็นของคนสระบุรีบ้างหรือไม่ เหตุใดจึงเลือกลาบหัวปลีเป็นอาหารถิ่น
กรณีที่เกิดขึ้น นางวชิราภรณ์ เพ็ชรล้อม วัฒนธรรมจังหวัดสระบุรี ได้ออกมาชี้แจงว่า ตามที่ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ดำเนินการจัดกิจกรรม "1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น" ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่น สู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) "รสชาติ ..ที่หายไป" The Lost Taste" ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการรวบรวมเมนูอาหารถิ่นที่กำลังจะเลือนหาย ยกระดับ พัฒนา สร้างสรรค์ เป็นอาหารประจำจังหวัด เพื่อเป็นการอนุรักษ์และเผยแพร่องค์ความรู้และภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอาหารของประเทศ ตลอดจนการนำเสนอเมนูอาหารที่สร้างสรรค์จากอาหารพื้นบ้าน เพิ่มมูลค่าของอาหารต่อยอดวัตถุดิบที่เป็นสมุนไพรจากชุมชน ให้สามารถนำเสนอในมิติความแตกต่างแปลกใหม่และเป็นสากลเทียบเท่ากับอาหารจากชนชาติอื่นๆ ได้ ตลอดจนเล็งเห็นถึงโอกาสในการปลูกฝังค่านิยมการรับประทานอาหารที่ปรุงจากอาหารพื้นบ้านแก่เยาวชนรุ่นใหม่สืบไป
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้พิจารณาคัดเลือกกิจกรรม "1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น" โดยมีรายการอาหารที่ได้รับการคัดเลือกเป็น "1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น" ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวนทั้งสิ้น 77 เมนู ซึ่งของจังหวัดสระบุรี เมนูลาบหัวปลีได้รับการคัดเลือก ต่อมามีประเด็นสงสัยผ่านสื่อมวลชน จึงขอเรียนชี้แจงกระบวนการคัดเลือกมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ ตามแบบที่กรมกำหนด
1) นายกิตติศักดิ์ ธีระวัฒนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธาน
2) นางวชิราภรณ์ เพ็ชรล้อม วัฒนธรรมจังหวัดสระบุรี เป็นคณะกรรมการ
3) นายธนวัฒน์ คูวิจิตรสุวรรณ ประธานสภาวัฒนธรรม จังหวัดสระบุรี เป็นคณะกรรมการ
4) นางกฤษณา พิทยาบุตร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เป็นคณะกรรมการ
4) ผู้แทนหอการค้าจังหวัดสระบุรี เป็นคณะกรรมการ
6) นายเจตน์ อินทับทัน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการพิเศษ เป็นเลขานุการและกรรมการ
7) นางสาวศิรินภา โชวิเชียร นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ดำเนินการประชาสัมพันธ์กิจกรรมไปทุกอำเภอ ให้ส่งรายการอาหารถิ่นตามหลักเกณฑ์ ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นอาหารคาว หวาน หรือของว่าง ก็ได้ ตั้งแต่ 1 เมนู ส่งมา 13 อำเภอ 15 เมนู
1) ข้าวหลาม อำเภอเมืองสระบุรี
2) หมูอบโอ่งขั้นเทพ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ
3) คุกกี้กระเจี๊ยบธัญพืช อำเภอเฉลิมพระเกียรติ
4) ลาบหัวปลี อำเภอเฉลิมพระเกียรติ
5) ผัดหมี่ไท - ยวน อำเภอเสาไห้
6) กะหรี่ปั๊บ อำเภอมวกเหล็ก
7) เห็ดทอดสมุนไพร อำเภอหนองแค
8) ทอดมันเห็ด อำเภอวิหารแดง
9) แกงเปรอะหน่อไม้สด อำเภอพระพุทธบาท
10) ยำผักหวานกรอบ อำเภอบ้านหมอ
11) ก๋วยเตี๋ยวข้าวหยด อำเภอหนองแซง
12) ขนมหนาบสาลี อำเภอหนองโดน
13) ขนมอีกบุก อำเภอแก่งคอย
14) ลาบปลาดุกบุกสวรรค์ อำเภอวังม่วง
15) หลามช่อนโมโรเฮยะ อำเภอดอนพุด
จากนั้นได้จัดการประชุมคัดเลือกโดยคณะกรรมการ ระดับจังหวัด วันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม 2566 จำนวน 3 เมนู เพื่อให้กรมคัดเลือก ให้ได้ 1 เมนู โดยที่ประชุมได้มีมติคัดเลือกเมนูอาหารประจำจังหวัดสระบุรี จำนวน ๓ เมนู ดังนี้ 1) ผัดหมี่ไท-ยวน 2) ลาบหัวปลี 3) กะหรี่ปั๊บ เพื่อส่งข้อมูลให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม คัดเลือกเป็น ๑ จังหวัด ๑ เมนู เชิดชูอาหารถิ่น ส่งผลการคัดเลือก ให้กรมส่งเสริมฯ ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2566
วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2566 อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ลงนามประกาศให้ "ลาบหัวปลี" เป็นเมนูเชิดชูอาหารถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ของจังหวัดสระบุรี
อย่างไรก็ตามเมนูลาบหัวปลี เป็นเมนูที่ชาวบ้านทั่วไปของทุกภาคก็ปรุงรับประทานกันในครอบครัวมาช้านาน เพียงแต่บางพื้นที่มีสูตรที่แตกต่างกันไป บางแห่งใส่หนังหมูต้ม เนื้อหมู เนื้อสัตว์ผสมด้วย เครื่องปรุงก็อาจแตกต่างกันไป แต่สำหรับจังหวัดสระบุรี จะเน้นวัตถุดิบที่เป็นสมุนไพรจากชุมชน สามารถนำเสนอในมิติความแตกต่างแปลกใหม่และเป็นสากลปลูกฝังค่านิยมการรับประทานอาหารที่ปรุงจากอาหารพื้นบ้าน เป็นการพัฒนาอาหารเชิงสร้างสรรค์ ในปัจจุบันร้านอาหารต่าง ๆ ไม่นิยมปรุงจำหน่าย แต่สามารถซื้อกลับบ้านหรือนั่งรับประทานได้ที่ตลาดหัวปลี ตำบลพุแค อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี