ครูเกาหลีใต้ประท้วงเรื่องอะไร? ทำไมครูคนหนึ่งฆ่าตัวตายจึงลามสู่หยุดงานทั้งประเทศ
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (4 ก.ย.) โรงเรียนหลายแห่งในเกาหลีใต้ต้องประกาศปิดการเรียนการสอนชั่วคราว เพราะไม่มีครูมาทำงานเพื่อประท้วงต่อสภาพการทำงานที่โหดร้าย
ย้อนรอยครูฆ่าตัวตายเพราะผู้ปกครองแกล้ง
ย้อนกลับไปเดือน ก.ค. ครูชั้น ป.1 คนหนึ่งในวัยเพียง 23 ปี ที่สอนในเขตซอโช ทางใต้ของกรุงโซล ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองในห้องเรียนท่ามกลางกระแสข่าวที่สะพัดว่าเธอถูกผู้ปกครองคนหนึ่งกลั่นแกล้ง เพราะไม่พอใจที่ลูกของตนถูกทำโทษเพราะไปแกล้งเพื่อนคนอื่นในห้อง
แต่โรงเรียนที่เธอสอนอยู่นั้นกลับปฏิเสธว่าไม่เคยมีกรณีการกลั่นแกล้งเกิดขึ้นแต่อย่างใด
Jung Yeon-je / AFP
ก่อนหน้านั้นเพียง 1 วัน ก็มีรายงานว่าครูชั้น ป.6 อีกคนในกรุงโซล ถูกนักเรียนทำร้ายต่อหน้าเพื่อนร่วมชั้นจนต้องเข้าโรงพยาบาล แพทย์ไม่เพียงแต่วินิจฉัยว่าถูกทำร้ายร่างกาย แต่ยังเปิดเผยความจริงอีกว่ามีอาการเครียดหลังสถานการณ์สะเทือนขวัญ เพราะก่อนหน้านี้ต้องรับมือกับผู้ปกครองของนักเรียนคนที่ทำร้ายเธอด้วย
หากดูจากสถิติของกระทรวงศึกษาธิการเกาหลีใต้แล้ว พบว่ามีรายงานเกี่ยวกับครูถูกทำร้ายจากนักเรียนและผู้ปกครองมากขึ้น โดยระหว่างปี 2561-2565 มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับครูถึง 1,133 คน และตั้งแต่ปี 2561 จนถึงเดือน มิ.ย. ปีนี้ มีครูในเกาหลีใต้ฆ่าตัวตายไปแล้ว 100 คน โดยที่ 57 คนในกลุ่มนี้เป็นครูชั้นประถม
การนัดหยุดงานของครูทั้งเกาหลีใต้นี้ ที่ตรงกับวันครบรอบการเสียชีวิตวันที่ 49 ของครูชั้น ป.1 คนดังกล่าว เป็นการส่งเสียงไม่เพียงแต่ต่อภาครัฐ แต่ไปถึงบรรดาผู้ปกครองและนักเรียนว่าพวกตนจะไม่ยอมเป็นเหยื่ออีกต่อไป
กลุ่ม Everyone Together As One (เอฟวรี่วัน ทูเกเธอร์ แอส วัน) ที่จัดการประท้วงครั้งนี้ประเมินว่ามีครูแต่งชุดดำมาร่วมชุมนุมในกรุงโซลเมื่อวันจันทร์ (4 ก.ย.) ราว 15,000 คน ไม่รวมกับการประท้วงในเมืองอื่นๆ ทั่วเกาหลีใต้Jung Yeon-je / AFP
นโยบายรัฐเอาใจเด็ก-พ่อแม่
ในอดีตครูเกาหลีใต้มักตีนักเรียนที่ประพฤติตัวไม่ตรงกับความคาดหวังของครูหรือกฎของโรงเรียน แต่การลงโทษเช่นนี้กลายเป็นเรื่องผิดกฎหมายตั้งแต่ปี 2553 หลังจากนั้นครูได้รับคำแนะนำให้ใช้วิธีจูงใจนักเรียนมากกว่า ในทางกลับกันการใช้ความรุนแรงต่อครูก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
สมาคมครูหลายสมาคมและบรรดาผู้สังเกตการณ์ต่างกล่าวตรงกันว่า นอกจากพฤติกรรมของนักเรียนแล้ว ผู้ปกครองจำนวนหนึ่งก็มีแนวโน้มทำร้ายครูมากขึ้นด้วย และเห็นหลายคนปกป้องลูกตัวเองมากขึ้น บางรายถึงกับยื่นร้องเรียนครูหรือแม้แต่ฟ้องศาลเพื่อดำเนินคดีครูที่ดุลูกตัวเอง โดยมักใช้ข้ออ้างว่าทำให้ลูกได้รับผลกระทบทางจิตใจ ซึ่งหลายกรณีจบลงที่ครูต้องขอโทษผู้ปกครองและนักเรียนและเข้าไปยุ่งกับนักเรีนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
นางควอน อึน-ฮี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของเกาหลีใต้ เผยว่า ระหว่างเดือน มี.ค. 2565-เม.ย. 2566 มีครูที่มีประสบการณ์การสอนไม่ถึง 5 ปี ลาออกไปแล้วถึง 589 คน ซึ่งสาเหตุที่ลาออกสูงที่สุดคือถูกผู้ปกครองร้องเรียนเท็จว่าทำร้ายลูกๆ ของตัวเอง