“1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์” นโยบายจากรัฐบาล เพื่อยกระดับทักษะคนไทย
หลังเศรษฐา ทวีสิน ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย ก็ทำให้ผู้คนเริ่มให้ความสนใจนโยบายต่างๆ ของทางรัฐบาล ที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขและช่วยเหลือประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนโยบายหนึ่งที่ได้รับการพูดถึงในสังคมออนไลน์อยู่ในขณะนี้ ก็คือนโยบาย “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์” ที่เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในวันเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ วันที่ 5 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา
แล้วนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ที่รัฐบาลเตรียมเดินหน้าหลังจากนี้คืออะไร Sanook สรุปใจความสำคัญของนโยบายที่อาจจะเข้ามาช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน มาฝากทุกคน!
1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ คืออะไร?
นโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (One Family One Soft Power หรือ OFOS) เป็นนโยบายที่จะผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยไปทั่วโลก โดยเริ่มจากการ “พัฒนาคน” และมีเป้าหมายที่จะยกระดับคนไทยให้เป็นแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน สร้างรายได้อย่างน้อย 200,000 บาทต่อปี และสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง
นโยบาย OFOS เป็นการต่อยอดจากโครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ (OTOP) แต่มีความแตกต่างกันเล็กน้อย โดยโครงการนี้จะเฟ้นหาศักยภาพของคนไทยทุกครอบครัว อย่างน้อยครอบครัวละ 1 คน หรือเป็นการ “สร้างคน” ซึ่งจะทำการส่งเสริมและบ่มเพาะศักยภาพผ่าน “ศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์” ที่ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้เพิ่มทักษะให้กับตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหาร ร้องเพลง ออกแบบ ศิลปะ ดนตรี กีฬา และอื่นๆ โดย “ไม่เสียค่าใช้จ่าย”
หลังจากสร้างคน รัฐบาลก็จะมุ่ง “สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง” เพื่อรองรับแรงงานทักษะสูง โดยมีองค์กรชื่อ THACCA (Thailand Creative Content Agency - ทักก้า) ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จและงบประมาณที่จะสร้างระบบนิเวศทั้งหมด เพื่อดูแลซอฟต์พาวเวอร์อย่างเป็นระบบครบวงจร และสร้างอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทยให้เติบโต
THACCA มีหน้าที่อะไร?
การผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยจะเป็นจริงได้ จำเป็นต้องทำทุกอย่างให้เป็นระบบ ทั้งการสร้างคนและสร้างงาน ซึ่ง THACCA จะเป็นเจ้าภาพหลักที่จะดูแลซอฟต์พาวเวอร์ของไทยอย่างเป็นระบบและครบวงจร โดยจะเป็นองค์กรเดียวที่ดูแลทุกขั้นตอน ไม่ต้องประสานงานหลายขั้นตอนและหลายหน่วยงาน
THACCA จะดูแลในส่วนของกองทุนรวมซอฟต์พาวเวอร์ ที่กระจายอยู่ในหลายหน่วยงาน และเติมทุนให้ทุกสาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เช่นเดียวกับลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐาน สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจร เช่นเดียวกับระบบขนส่งมวลชนเพื่อเชื่อมโยงสถานที่ท่องเที่ยว
นอกจากนี้ THACCA จะรื้อกฎหมายและทลายอุปสรรค โดยเลิกงานเอกสาร ลดขั้นตอน ลัดเวลา ในส่วนของการประสานงานและขอใบอนุญาต ปลดล็อกสุราเสรี เวลาเปิดปิดธุรกิจกลางคืน ไปจนถึงกวาดล้างขบวนการรีดไถจ่ายส่วย เช่นเดียวกับปลดปล่อยเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และที่สำคัญคือเร่งผลักดัน 8 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป้าหมาย ได้แก่
- ภาพยนตร์
- ศิลปะ
- หนังสือ
- อาหาร
- ดนตรี เฟสติวัล
- ท่องเที่ยว
- กีฬา
- ออกแบบ แฟชั่น