อังคณาจี้รัฐรับผิดGT200ละเมิดสิทธิฯจับผิดคน

อังคณาจี้รัฐรับผิดGT200ละเมิดสิทธิฯจับผิดคน

อังคณาจี้รัฐรับผิดGT200ละเมิดสิทธิฯจับผิดคน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อังคณา จี้รัฐบาล-กองทัพรับผิดชอบละเมิดสิทธิมนุษยชน เหตุGT200ไร้ประสิทธิภาพ จับผิดคนร่วมพันยัดขบวนการไฟใต้ กสม. ออกตัวให้จนท.ไม่รู้ไม่ผิด

หลังคณะกรรมการตรวจสอบเครื่องมือจีที 200 สรุปผลออกมาแล้ววันนี้(16 ก.พ.) โดยนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นผู้แถลงด้วยตัวเองว่า เครื่องจีที 200 มีประสิทธิภาพต่ำกว่าเกณฑ์ โดยหลังจากทำการทดสอบ 20 ครั้ง สามารถชี้ได้ถูกต้องเพียง 4 ครั้งเท่านั้น หรือคิดเป็นร้อยละ 20% ซึ่งไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ หรือหมายถึงเท่ากับใช้หลักการสุ่มตรวจด้วยคนนั่นเอง ขณะที่ปัจจุบันหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยมีใช้มากกว่า 2,000 เครื่อง รวมทั้งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ของกระทรวงยุติธรรม ด้วย

ประเด็นสำคัญอันหนึ่งของผลพวงในเรื่องนี้ มีผลต่อเรื่อง "การละเมิดสิทธิมนุษยชน" มีการจับกุมชาวบ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปจำนวนมาก โดยอ้างว่าเมื่อใช้จีที 200 ตรวจตามร่างกายพบสารระเบิด จึงเชื่อว่าเป็นมือวางระเบิด

นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ได้นำหลักฐานการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าว มอบให้สื่อ"เครือเนชั่น" คือ บันทึกปากคำให้การของญาติผู้ถูกจับกุมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทำขึ้น ณ วิทยาลัยอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

โดยคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2550 ซึ่งวันนั้นมีญาติของผู้ถูกควบคุมตัวมาร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นมากถึง 90 คน ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นนับจากมีการใช้ "แผนยุทธการพิทักษ์ปาดีและบันนังสตา" ระหว่างเดือนมิถุนายน ถึงกรกฎาคม 2550

ทั้งนี้ ชาวบ้านไอบาตู อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ให้การว่าการปิดล้อมจับกุมของเจ้าหน้าที่เมื่อ 23 มิถุนายน 2550 เวลา 05.00 น. "กองกำลังผสม" ได้ทำการกระจายกำลังเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 5-6 คน รื้อค้นบ้านพักของชาวบ้านและมีการนำอุปกรณ์การตรวจสารตั้งต้นการก่อระเบิดจีที 200 มาตรวจสอบกับร่างกายชาวบ้าน ต่อมามีการจับกุมผู้หญิง 1 คนและ "ผู้เฒ่า" อายุ 60 ปี 1 คน ซึ่งสติไม่ดี ร่วมกับผู้ต้องสงสัยคนอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 32 คน จากนั้นเจ้าหน้าที่นำตัวไปที่โรงเรียนมัธยมสุไหงปาดี ก่อนจะมีการปล่อยตัวผู้ใหญ่บ้าน

และจาก "คำให้การ" ของผู้ใหญ่บ้าน กล่าวถึง ชาวบ้านที่เหลือว่าถูกควบคุมตัวไปที่อำเภอสุไหงปาดี ก่อนจะนำตัวส่ง "ค่ายอิงคยุทธบริหาร" และผู้ที่ถูกควบคุมตัวจะถูกส่งตัวไปอบรมอาชีพ พร้อมกับถูกข่มขู่ว่า หากไม่ไปอบรมอาชีพทั้งหมดจะต้องดิ้นรนต่อสู้คดีในภายหลัง ทั้งที่ยังไม่ได้แจ้งข้อหา และญาติของผู้ถูกควบคุมตัวรายหนึ่งได้อ้างว่า มีผู้ถูกควบคุมตัวอย่างน้อยหนึ่งคน ถูกขัง "ห้องมืด" นานถึง 18 วัน ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร

สำหรับเครื่องมือตรวจจับสารตั้งต้นก่อระเบิดจีที 200 นั้น ชาวบ้านจากกลุ่มบ้านไอบาตู กล่าวว่า ชาวบ้านหลายคนที่ถูกจับกุมเพียงแค่ไปสวนยาง แต่ไปสัมผัสกับ "เหล็กขึ้นสนิม" หรือ "ใส่กางเกงยีนส์ที่มีกระดุมเหล็ก" เครื่องก็ส่งสัญญาณซึ่งทำให้ชาวบ้านไม่มีความมั่นใจในวิธีการพิสูจน์เพื่อจับกุม

นอกจากนี้ ผู้ใหญ่บ้านไอบาตู ได้ให้การว่า เวลาประมาณ 09.00 น. ได้มีเจ้าหน้าที่ชุดหนึ่งซึ่งอ้างว่า เป็นหน่วยงานนิติวิทยาศาสตร์ แต่งกายชุดหมีคล้ายทีมกู้ระเบิด มาพร้อมทหารชุดคุ้มกันและพกอาวุธปืนเข้ามาที่บ้านตน แล้วเรียกสมาชิกทั้งหมด ออกมายืนเรียงแถวกันหน้าบ้านทั้งหมด 6 คน คือ ตนเอง พ่อ แม่ พี่เขย พี่สาวและลูกชายซึ่งถูกควบคุมตัว ( อายุต่ำกว่า 18 ปี ) และชายอีกคนหนึ่งซึ่งอยู่บ้านใกล้เคียงรวมกัน 7 คน

เจ้าหน้าที่ให้ยืนเรียงแถวหน้ากระดานห่างกันคนละ 1 เมตร แล้วเอา "เครื่องสแกน" (จีที200) สัมผัสผ่านไปตามตัวของทั้ง 7 คน ช่วงดังกล่าวเครื่องสแกนส่งสัญญาณชี้มาที่ตน ที่ลูกชายและชายอีกคนอยู่บ้านใกล้เคียง จึงได้ทำการควบคุมตัวทั้ง 3 คน เอาไว้ก่อนถูกนำตัวไปที่โรงเรียนมัธยมสุไหงปาดี

และช่วงที่รออยู่ท้ายกระบะของเจ้าหน้าที่ทหารหน้าร้านขายของชำ เด็กชายอายุต่ำกว่า 18ปีอีกคนหนึ่งเดินมาซื้อของที่ร้านขายของชำ เจ้าหน้าที่จึงใช้ "เครื่องสแกน" (จีที 200)ตรวจวัดจนร้องขึ้น เจ้าหน้าที่จึงนำตัวเด็กคนนั้นไปด้วย ต่อมามีชายอีกคนหนึ่งเป็นไทยพุทธที่เพิ่งเข้ารีตมุสลิมเดินมาซื้อของที่ร้านดังกล่าว เจ้าหน้าที่ก็เอา "เครื่องสแกน" (จีที 200) มาวัดแล้วนำตัวขึ้นรถ

ผู้ใหญ่บ้านไอบาตูคนดังกล่าว ได้ให้การต่อไปว่า เวลา 10.00 น. ที่โรงเรียนสุไหงปาดี มีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจมาทำการบันทึก สอบประวัติ ตรวจดีเอ็นเอและถ่ายรูป ระหว่างที่รอเจ้าหน้าที่ให้รับประทานอาหารเช้าและเที่ยง จนสอบสวนเสร็จเวลาประมาณ 17.00 น. เจ้าหน้าที่นำผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมด 32 คน ขึ้นรถบัสทหาร 1 คันไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ส่วนตนได้รับการปล่อยตัว เพราะได้แจ้งให้ทราบว่าเป็นผู้ใหญ่บ้านและให้การแก่เจ้าหน้าที่ระหว่างตรวจหาสารตั้งต้นวัตถุระเบิดว่า ได้พกปืนซึ่งอาจจะมีสารโลหะติดตามร่างกาย

ทั้งนี้นางอังคณา ได้กล่าวถึงที่มาของ "บันทึกปากคำให้การของญาติผู้ถูกจับกุม" ฉบับนี้ว่า สืบเนื่องจากในระหว่างเดือนมิถุนายน- กรกฎาคม 2550 เกิดการปิดล้อมตรวจค้นหมู่บ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามแผน"ยุทธการพิทักษ์ปาดีและบันนังสตา"และมีการจับกุมคนไปนับพันคน ซึ่งบางส่วนก็ได้ยื่นฟ้องต่อศาลไป ส่วนที่เหลือจำนวน 384 คน ก็ถูกบังคับให้เข้าฝึกอบรมวิชาชีพ ทั้งที่คนเหล่านี้ไม่มีหลักฐานว่าเขาได้กระทำความผิด แต่ทางการก็ไม่ยอมปล่อยตัว และขู่เขาว่าหากไม่ยอมเข้ารับการฝึกอบรมก็ต้องเข้าคุก ซึ่งในช่วงที่เข้ารับการอบรม ก็ไม่ได้เจอแม้กระทั่งเมียที่ท้องหรืองานศพพ่อก็ไม่ได้ไป และเมื่อมีการปล่อยตัวหลังเข้ารับการอบรม ทางการก็ไม่ยอมให้คนเหล่านี้กลับเข้าพื้นที่อีก

"จากบันทึกปากคำฉบับนี้สะท้อนให้เห็นว่า ชาวบ้านเขาสงสัยมาตั้งแต่ต้นว่า เครื่องจีที200 คืออะไร ทำไมมันจับคนได้เยอะแยะไปหมด และเห็นเครื่องมือชนิดนี้ชี้มั่วไปหมด บางครั้งชี้ไปหลุมศพ เจ้าหน้าที่ก็ให้ขุดศพขึ้นมา โดยอ้างว่าเป็นคนร้ายทำระเบิดแล้วเกิดพลาดเสียชีวิตจึงเอามาฝัง แต่พอขุดศพขึ้นมากลายเป็นศพเก่าๆ สารระเบิดก็ไม่พบ หรือบางครั้งจีที 200 ก็ชี้ไปที่ยอดมะพร้าว แต่พอนำลงมากลายเป็นถุงน้ำมันเก่าๆ หรือบางครั้งก็ชี้ไปที่ผู้หญิงและชี้ไปที่กล่องผ้าอนามัย ซึ่งแสดงถึงความมั่ว เป็นการเอาความไม่รู้ของชาวบ้านมาเป็นประโยชน์ อย่างไรก็ตามชาวบ้านเขาไม่เชื่อเครื่องจีที 200 มาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เพียงแต่ชาวบ้านเขาไม่รู้ว่าจะโต้แย้งเรื่องนี้อย่างไร เพราะเขาไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญและไม่ได้มีความรู้" นางอังคณา กล่าว

นางอังคณา กล่าวอีกว่า การที่เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมตัวชาวบ้านโดยอาศัยเครื่องจีที 200 อ้างว่าพบสารระเบิดหรือสารเสพติดตามร่างกายนั้น เป็นการละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ และทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ลูกไปโรงเรียนถูกตราหน้าว่าเป็นลูกคนร้าย

"ตอนนี้เมื่อเครื่องจีที 200 ผลออกมาแล้วว่ามันใช้ตรวจอะไรไม่ได้ จับคนร้ายก็ไม่ได้ แต่กองทัพเอาเครื่องมือนี้มาใช้ กองทัพจึงต้องรับผิดชอบ รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบด้วย และนายกฯก็เป็น ผอ. กอรมน.โดยตำแหน่ง ส่วนผบ.ทบ. ก็เป็นรอง ผอ.กอรมน. โดยตำแหน่ง ดังนั้นอย่างน้อยที่สุดทั้งนายกฯและ ผบ.ทบ. ต้องออกมาขอโทษประชาชน เพราะ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการใช้จีที 200 ในการเข้าตรวจค้นบ้านเป็นพันหลัง รถวิ่งผ่านไปมาก็ถูกเรียกแล้วใช้จีที 200 เข้าตรวจค้น อีกทั้งยังมีการจับกุม และตามรัฐธรรมนูญมาตรา 32 วรรค 5 ก็รับรองไว้ว่า ในกรณีที่มีการกระทำซึ่งกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ผู้เสียหาย พนักงานอัยการหรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหาย มีสิทธิร้องต่อศาลเพื่อให้เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้นรัฐต้องจัดให้มีการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิด้วย ส่วนผู้เสียหายก็สามารถฟ้องต่อศาลเรียกค่าเสียหายทางแพ่งและฟ้องอาญา ในความผิดฐานทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ หน่วงเหนี่ยว กักขังได้ด้วย" นางอังคณา กล่าว

ดร.สุนัย ผาสุก ที่ปรึกษา Human Rights Watch ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและมีสมาชิก 90 กว่าประเทศทั่วโลก กล่าวถึง การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีการใช้จีที 200 ว่า ทางเราได้มีการจับตามาตั้งแต่ปี 2550 ที่มีการเปิด"ยุทธการพิทักษ์แผ่นดินไทย" เจ้าหน้าที่ใช้จีที 200 ในการปิดล้อมจับกุม จับตัวผู้ต้องสงสัยเอาไปสอบสวนตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นำตัวไปได้เลย 30 วัน โดยไม่ต้องมีการตั้งข้อหา เด็กผู้ชาย เด็กวัยรุ่นคนไหน ถูกเครื่อง "จีที 200" ชี้ ก็ซวยไป

เขากล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาในช่วง "ยุทธการพิทักษ์แดนใต้" ปี 2550 มีการจับกุมคนจำนวนมากอย่างพลการโดยใช้เครื่องมือนี้ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมาก และจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ไม่เคยใช้จีที 200 อ้างเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลเพราะไม่ชัวร์ แต่จะใช้หลักฐานที่ได้จาก"ไอออนสแกน" อ้างในชั้นศาลแทน และต่อไปถ้าเกิดมีคนที่ถูกควบคุมตัวไปสอบสวนเพราะถูกจีที 200 ชี้ ออกมาโวยว่า มีการถูกซ้อมและทรมานด้วย ก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่แน่" สุนัย กล่าว

"คนที่ต้องสูญเสียอิสรภาพเพราะจีที 200 ต้องฟ้องในเชิงสิทธิมนุษยชนโดยฟ้องต่อสหประชาชาติได้ด้วย เพราะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนใช้อำนาจโดยมิชอบ และฟ้องทางแพ่งเรียกค่าเสียหาย รวมทั้งฟ้องคดีอาญาฐานกักขังหน่วงเหนี่ยว ทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพได้ด้วย และอาจให้ "โอไอซี" หรือ "องค์กรมุสลิมโลก" ช่วยดูแลเรื่องนี้ให้ และในส่วนของ Human Rights Watch ที่ตนดูแลอยู่ หากผลพิสูจน์ของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นออกมาว่า จีที 200 ใช้พิสูจน์อะไรไม่ได้ ก็จะย้อนไปตรวจสอบว่า มีการละเมิดในรูปแบบไหนบ้าง มีการเอาคนไปสอบสวนโดยพลการได้อย่างไร ในเมื่อเครื่องจีที 200 ใช้ตรวจจับคนร้ายไม่ได้ และจะเข้าไปดูว่า ในระหว่างที่มีการนำคนไปสอบสวน มีการซ้อม ทรมานจากเจ้าหน้าที่รัฐด้วยหรือไม่ และรัฐบาลรวมทั้งกองทัพฯ ต้องรับผิดชอบชดใช้ในเรื่องนี้ด้วย"

ด้าน พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึง กรณีที่เจ้าหน้าที่ใน 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้เครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที 200 ชี้เป้าผู้ต้องสงสัย และนำไปสู่การจับกุมผิดตัว ว่า หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นมาจากเครื่องมือดังกล่าว เจ้าหน้าที่รู้หรือไม่ว่าเครื่องมือไม่มีประสิทธิภาพ หากรู้ก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบ แต่หากไม่รู้และนำไปใช้ก็ไม่ต้องรับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจากกรณีดังกล่าวน่าจะมีผลต่อความรู้สึกของคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหาอยู่แล้วและถือว่ากระทบต่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็ต้องเร่งชี้แจง ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ก็ต้องเข้าใจว่า เจ้าหน้าที่ไม่มีเจตนาเพียงแต่เขาเชื่อมั่นว่าเครื่องมือใช้ได้เท่านั้น

กรรมการสิทธิฯผู้นี้ยังระบุว่า การจะนำเครื่องมืออะไรมาชี้เป้าคนร้ายนั้น เครื่องมือต้องเป็นที่ยอมรับทั้งจากหน่วยงานที่จับกุม มีมาตรฐานสากล ต้องมีการการันตี และจะให้ดีก็ควรได้รับการยอมรับจากประเทศอื่นที่ใช้โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะหากเครื่องมือเชื่อถือไม่ได้ เมื่อเรื่องไปถึงศาล ก็ไม่ได้รับการยอมรับอยู่ดี

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในระหว่างที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเครื่องมือใช้การได้หรือไม่นั้น เจ้าหน้าที่ควรทำอย่างไร พล.ต.อ.วันชัย กล่าวว่า เมื่อยังไม่มีความมั่นใจ การจับกุมคุมขังนั้นก็ยิ่งต้องระมัดระวัง ต้องมีหลักฐานอย่างอื่นประกอบด้วย จะใช้เพียงเครื่องมือนี้ไม่ได้ อีกทั้งตอนนี้ก็ต้องระมัดระวังอันตรายให้กับผู้ใช้ด้วย เพราะผู้ใช้เองในขณะนี้ก็ไม่มั่นใจในตัวเครื่องเช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook