บล็อกเชนคืออะไร ทำไมเงินดิจิทัล 10,000 บาทของเพื่อไทยต้องใช้เทคโนโลยีนี้
นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทย นับว่าได้รับความสนใจอย่างมากและสร้างความยินดีให้กับคนจำนวนไม่น้อย แต่การแจกเงินดังกล่าวก็ยังมีข้อสงสัยอยู่หลายอย่างที่รอพรรคเพื่อไทยตอบคำถามต่อสังคม หนึ่งในนั้นคือคำถามว่าทำไมต้องใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (ฺBlockchain)
คำถามต่อมาก็คือ บล็อกเชน คืออะไร Sanook.com จึงขอสรุปเป็นคำตอบง่ายๆ เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจเทคโนโลยีนี้มากขึ้น
บล็อกเชน มาจากคำว่า บล็อก (Block) ที่เป็นแม่พิมพ์สำหรับหล่อวัสดุบางอย่าง ในที่นี้วัสดุดังกล่าวหมายถึงชุดข้อมูล เช่น ข้อมูลการโอนเงิน ข้อมูลการซื้อขาย ส่วน เชน (Chain) ก็คือ โซ่ ที่เชื่อมต่อชุดข้อมูลเหล่านี้เป็นเครือข่าย
ดังนั้น บล็อกเชน คือ รูปแบบการเก็บข้อมูลแบบเป็นเครือข่าย โดยที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกเครื่องในเครือข่ายจะบันทึกข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้นเอาไว้ทั้งหมดพร้อมกัน สมมติว่าเครือข่ายนี้มี 4 คนคือ A, B, C และ D ถ้า A โอนเงินให้ B 500 บาท โทรศัพท์ของ A, B, C และ D จะบันทึกข้อมูลนี้เอาไว้ ดังนั้นโอกาสที่ B จะแอบแก้ไขข้อมูลเป็นโอนเงิน 1,000 จึงเป็นไปได้ยาก เพราะในเครื่องอื่นบันทึกไว้ว่า 500 บาท
ต่างจากเทคโนโลยีเดิมที่ข้อมูลจะวิ่งตรงไปเก็บที่อุปกรณ์ตัวกลางหรือเซิร์ฟเวอร์ ที่ถ้าหากมีการแอบแก้ไขข้อมูลหรือแฮกเกิดขึ้นก็จะทำได้ง่ายกว่า ดังนั้นเทคโนโลยีบล็อกเชนจึงถูกคาดหหวังว่าจะสร้างความโปร่งใสมากๆ
นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทย ที่ยืนยันว่าจะใช้บล็อกเชนนั้น ถูกตั้งคำถามว่าเทคโนโลยีนนี้มีความเหมาะกับการใช้งานมากแค่ไหน เพราะเครือข่ายนี้จะมีอุปกรณ์ถึง 51 ล้านเครื่องโดยประมาณ การให้อุปกรณ์แต่ละเครื่องบันทึกข้อมูลของเครื่องอื่นๆ อีก 50,999,999 ล้านเครื่องและตรวจสอบกันเองจะต้องใช้เวลาประมวลผลนานแค่ไหน และถ้าหากต้องใช้เวลานาน การซื้อและขายสินค้าจะล่าช้าหรือไม่
เหตุนี้เองทำให้เกิดคำถามข้อต่อไปว่า ถ้าหากคุณสมบัตินี้ถูกตัดออกไปเป็นการบันทึกข้อมูลที่อุปกรณ์ส่วนกลางของรัฐบาล ความโปร่งใสจะเหลือมากน้อยแค่ไหน หรือจะกลายเป็นเงินดิจิทัลเหมือนการแจกเงินผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังค์หรือไม่