นุ้ย-ธนารี พิการแขน-ขา แต่หัวใจไม่ได้พิการตาม

นุ้ย-ธนารี พิการแขน-ขา แต่หัวใจไม่ได้พิการตาม

นุ้ย-ธนารี พิการแขน-ขา แต่หัวใจไม่ได้พิการตาม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากความสมบูรณ์ทางร่างกายด้อยลง คงดีกว่าความสมบูรณ์ของหัวใจที่ไร้ความดีงาม

"พ่อมักจะคอยสอนเสมอ ว่าไม่ต้องไปเกรงกลัวสายตาใคร ลูกพิการเพียงแค่ร่างกาย คนที่รังเกียจลูกต่างหากที่พิการใจ ลูกยังเดินได้ ช่วยเหลือตัวเองได้ทุกอย่าง ไม่ได้ทำตัวเป็นภาระของใคร จงภาคภูมิใจในความสามารถของลูก พ่อสอนให้เรียนรู้ที่จะยอมรับความจริง เพื่อก้าวเดินต่อไปข้างหน้าและพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นว่า ไม่มีสิ่งไหนในโลกใบนี้ที่หากเพียรพยายามอย่างเต็มกำลังแล้ว จะทำไม่ได้ แม้ ต้องใช้กำลังกาย กำลังใจ เวลา และการทุ่มเทมากกว่าคนอื่นเป็นร้อยเท่า พันเท่า แต่เมื่อถึงประสบความสำเร็จ รางวัลก็จะมากกว่าคนอื่นเป็นร้อยเท่าพันเท่าเช่นกัน" ประโยคบอกเล่าของผู้เป็นพ่อที่พร่ำสอนให้ นุ้ย-ธนารี สร้างแรงใจเพื่อเติบโต และสร้างความสมบูรณ์ให้แก่ชีวิต

นางสาวธนารี ฟุ้งภิญโญภาพ หรือ นุ้ย อดีตศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) จากเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ชีวิตจริงยิ่งกว่านิยาย เธอเกิดมาไม่มีนิ้วมือนิ้วเท้าทั้ง 2 ข้าง แม่ไม่ยอมรับ และทิ้งเธอไปตั้งแต่เด็ก เหลือเพียงพ่อบังเกิดเกล้าเลี้ยงดู จ้างพี่เลี้ยง-ครู มาสอนหนังสือที่บ้าน เมื่อสิ้นพ่อต้องออกจากบ้าน ร่อนเร่หาที่พึ่ง โชคดีเพื่อนเก่าพ่อเมตตาให้ที่พักพิง มุ่งมั่นเรียนพร้อมทำงานส่งเสียตัวเองจนจบป.ตรี นิเทศศาสตร์ มสธ. ใช้เวลาเพียง 3 ปีครึ่ง เพราะเธอเชื่อมั่น "ถ้ามีความรู้ ย่อมมีโอกาสได้งานที่ดีทำ"

ปัจจุบันเธอได้เข้าทำงานที่ศูนย์คณะพระมหาไถ่ พัทยา ในตำแหน่งรับจองห้องพัก นุ้ย ธนารี เล่าย้อนไปในช่วงวัยเรียนว่า สมัยเรียนเธอใช้เวลาเรียนที่ มสธ. เพียง 3 ปีครึ่ง ก็สำเร็จการศึกษาเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2551 ด้วยเกรดเฉลี่ย 2.43 และเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2553 ณ อาคารอเนกนิทัศน์ มสธ. ร่วมกับเพื่อนบัณฑิตจากสาขาวิชาต่างๆ และในอนาคตอยากจะเรียนต่อระดับปริญญาโท ที่ มสธ. เพราะที่นี่ให้โอกาสทุกคนเท่าเทียมกัน

"นุ้ยต้องทำงาน และเรียนไปด้วย จึงได้ลงเรียนที่ มสธ. ซึ่งเป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเองถึงเวลาก็ไปสอบ ทำให้ง่ายสะดวกมาก สภาพร่าง กายก็ไม่ได้เป็นปัญหาต่อการเรียนเพราะเราอ่านหนังสืออยู่กับบ้านถึงเวลาก็ไปสอบซึ่งมันง่าย ถ้าต้องไปเรียนสถาบันที่ต้องเข้าเรียนทุกวันก็ไม่สะดวกในการเดินทาง ในการเรียนต้องช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด อ่านหนังสือเยอะๆแล้วสรุปทบทวนอีกครั้ง โดยหลังจากเลิกงาน 2-3 ทุ่ม ทำกิจวัตรส่วนตัวเสร็จก็อ่านหนังสือสัก 1-2 ชั่วโมงต่อวัน ถึงเวลาไปสอบที่ อ.สัตหีบ ก็ขึ้นรถสองแถวให้เข้าไปส่งถึงอาคารจ่ายเพิ่มพิเศษ" นุ้ยเล่าด้วยน้ำเสียงแห่งความภูมิใจ

นุ้ย เล่าต่อว่า กว่าเธอจะประสบความสำเร็จในการเรียนอย่างทุกวันนี้จนมีงานที่ดีทำได้นั้น เธอมีเพียงพ่อที่รักลูกเหนือสิ่งอื่นใด ยืนยันที่จะเลี้ยงเธอไว้ แม้ครอบครัวจะไม่เห็นด้วย โดยพ่อที่เปิดร้านไดนาโมจ้างพี่เลี้ยงมาคอยดูแลเธอ ต่อมาพ่อแต่งงานใหม่ มีลูกชายอีก 2 คน แต่ก็ไม่มีปัญหาใดๆ พ่อดูแลอย่างดี เปิดเผย ไม่เคยอายเวลาพาเธอไปเที่ยวข้างนอก  เมื่ออายุ 19 ปี เริ่มอยากเรียนที่ กศน. เพราะอยากมีงานทำ โดยคิดว่าเธอทำงานได้ขอเพียงมีความรู้ จึงติดต่อจนเจอหัวหน้า กศน.เขตราษฎร์บูรณะ ท่านส่งคนมาดูและลองสอบเทียบความรู้ จากที่ไม่มีวุฒิเลยก็เริ่มเรียน ม.3 ใช้เวลา 3 ปีก็จบม.6 โดยการอ่านหนังสืออยู่ที่บ้านถึงเวลาก็ไปสอบ

ชีวิตคนเรามักไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ นุ้ยก็เช่นกัน เธอเจอความหักเหอีกครั้งเมื่อปี 2543 หลังพ่อเสียชีวิตและทำบุญครบ 100 วัน ต้องออกจากบ้านเพราะไม่อยากเป็นภาระให้กับแม่เลี้ยง จึงตัดสินใจออกจากบ้านมาพร้อมกับพี่เลี้ยงที่เปรียบเสมือนแม่ ชื่อ ติ๋ม ที่โอบอุ้มเธอมาเกือบทั้งชีวิต โดยต้องย้ายไปถึง 2 แห่งกว่าจะมาเจอครอบครัว รัชตะชัยอนันต์ เพื่อนเก่าของพ่อ ซึ่งรับเธอกับแม่ติ๋มไปอยู่ด้วย ต่อมาได้พาไปเที่ยวที่พัทยา ทำให้รู้ข่าวโรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ พัทยา ที่ฝึกสอนวิชาชีพให้กับคนพิการ ทำให้มีความหวังในชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง เธอสอบติดและเข้าเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ ในหลักสูตรคอมพิวเตอร์และการจัดการธุรกิจ ภาคภาษาอังกฤษ เป็นเวลา 2 ปี และเรียนจบในเดือนมีนาคม ปี 2545

และแม้ว่าเธอจะพบผ่านอุปสรรคมามากมาย แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้หัวใจ ความรู้สึดทดถอยลง แต่กลับยิ่งผลักดันให้เธอมีแรงใจที่จะสู้ต่อโชคชะตาชีวิต หากเปรียบเทียบคนที่ร่างกายสมบูรณ์ครบ 32 แต่พอเจอปัญหามากมายกลับบอกว่า "อยากตาย" คงไร้ความหมายสิ้นดี

นุ้ย เล่าว่า เธอได้งานที่บริษัทโพสต์เวย์ ในตำแหน่งพนักงานขายทางโทรศัพท์และดูแลเรื่องงานโฆษณาก่อนจบจริงถึง 2 เดือน เมื่อต้องสอบเจ้านายอนุญาตให้หยุด เธอจึงต้องทำงานและเรียนไปพร้อมๆกัน จากนั้นจึงเรียนต่อระดับปริญญาตรี ที่ มสธ. ทว่า หลังทำงานได้เพียง 1 ปี 11 เดือน บริษัทต้องปิดตัว เธอตกงานอยู่นานถึง 1 ปีครึ่ง ก่อนกลับมามีงานทำที่ศูนย์คณะพระมหาไถ่ พัทยา ในตำแหน่งรับจองห้องพักเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

นุ้ย เล่าต่อว่า ตอนพ่อเสียเหมือนเรือที่ขาดหางเสือ ไม่รู้จะเดินไปทางไหน เคยคิดอยากจะตายตามพ่อไป แต่ก็คิดว่า สิ่งที่พ่อสู้ทำทุกอย่างเพื่อให้ทุกคนที่ดูถูกและรังเกียจได้รู้ว่า ความพิการของเราไม่เคยเป็นภาระ ให้ใคร สามารถดูแลตัวเองได้ดี เมื่อได้งานทำก็พิสูจน์ได้ว่า เรายังคงมีความสามารถทำงานได้เป็นอย่างดี ความพิการทางร่างกายมิได้เป็นอุปสรรค และคิดเสมอว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

"นุ้ยอยากเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนพิการ หลายๆ คนที่ พ่อแม่จะปิดลูกพิการให้อยู่กับบ้าน จริงๆแล้วไม่ใช่ ควรจะปล่อยให้เขาออกข้างนอกให้เขาเคยชิน เพื่อให้เขาสามารถดำรงชีวิตได้อย่างคนทั่วไป สังคมไทยเป็นสังคมที่ดี มีคนข้างนอกที่จะคอยช่วยเหลือจำนวนมาก" นุ้ยเล่าทิ้งท้าย

แม้วันนี้ เธอจะก้าวเดินได้ด้วยตัวตนของตัวเอง ด้วยหัวใจที่ไม่ได้พิการตามร่างกาย ความสมบูรณ์แบบที่มาพร้อมรอยยิ้มที่มากจากข้างใน คงบ่งบอกให้ใครหลายต่อหลายคนได้รับรู้ว่า หากเรายอมรับความเป็นจริง และสร้างกำลังใจให้ตัวเองเสมอ ไม่ว่าเส้นทางจะยากลำบากแค่ไหน แต่สิ่งสำคัญขอแค่ "หัวใจไม่ท้อถอย ทุกก้าวก็จะมั่นคงเสมอ"

 

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ นุ้ย-ธนารี พิการแขน-ขา แต่หัวใจไม่ได้พิการตาม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook