“ทะลุวัง” คือใคร นักขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวหน้า หรือ “เยาวชนเจ้าปัญหา” ที่สังคมตั้งข้อสงสัย

“ทะลุวัง” คือใคร นักขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวหน้า หรือ “เยาวชนเจ้าปัญหา” ที่สังคมตั้งข้อสงสัย

“ทะลุวัง” คือใคร นักขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวหน้า หรือ “เยาวชนเจ้าปัญหา” ที่สังคมตั้งข้อสงสัย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • ทะลุวังเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของนักกิจกรรม 3 คน คือ ตะวัน ใบปอ และสายน้ำ โดยทั้ง 3 คนร่วมกันยืนถือกระดาษทำโพลตั้งคำถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการยกเลิกมาตรา 112 
  • กลุ่มทะลุวังถูกดำเนินคดีและส่งตัวเข้าเรือนจำหลายคน เช่นเดียวกับวิธีการประท้วงด้วยการ “อดอาหาร” ที่ถูกนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการเรียกร้องที่แตกต่างกันออกไป 
  • กิจกรรมล่าสุดที่ทำให้กลุ่มทะลุวังถูกตั้งคำถามเรื่องพฤติกรรมและการแสดงออกที่ก้าวร้าว คือกรณีที่ทะลุวังบุกไปประท้วงที่พรรคเพื่อไทย
  • หลังจากกลุ่มทะลุวังบุกพรรคเพื่อไทย ก็มีภาพของหยกปรากฏออกมา และสร้างความกังวลให้กับหลายฝ่าย ถึงพฤติกรรมรุนแรงของการเป็นด่านหน้าการเคลื่อนไหว เช่นเดียวกับควรได้รับการคุ้มครองในฐานะเยาวชน

มาจนถึงวันนี้ เชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จักชื่อของ “ทะลุวัง” กลุ่มนักกิจกรรมที่มีบทบาทและเคลื่อนไหวในเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ การเมือง ระบบการศึกษา และนักโทษทางการเมือง ด้วยกิจกรรมที่โดดเด่นและสร้างความสนใจให้กับคนในสังคม นำมาซึ่งการถกเถียง ตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเผ็ดร้อนในโลกออนไลน์ แล้ว “ทะลุวัง” ที่มีวิธีการเรียกร้องที่อาจจะดู “รุนแรง” ในสายตาคนส่วนใหญ่ในสังคม คือใคร? และทำไมต้องออกมาเรียกร้องในลักษณะนี้

Sanook พาทุกคนไปทำความรู้จักกลุ่มทะลุวัง นักขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวหน้า หรือ “เยาวชนเจ้าปัญหา” ที่สังคมตั้งข้อสงสัย

จุดเริ่มต้น “ทะลุวัง”

ทะลุวังเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของนักกิจกรรม 3 คน คือ ตะวัน ใบปอ และสายน้ำ โดยทั้ง 3 คนร่วมกันยืนถือกระดาษทำโพลตั้งคำถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการยกเลิกมาตรา 112 บริเวณลานหน้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งกิจกรรมในครั้งนั้นมีคนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก โดยทั้ง 3 คนให้เหตุผลที่เลือกทำกิจกรรมทำโพลว่าเป็นกิจกรรมที่มีความรัดกุม ไม่ต้องปราศรัยที่อาจจะเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี 

ทะลุวัง - ThaluWang

ต่อมา ตะวัน ใบปอ และสายน้ำ ได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ด้วยการชูสามนิ้วและชูป้าย “ยกเลิกมาตรา 112” ขณะที่ในหลวงเสด็จบริเวณพื้นที่วงเวียนใหญ่ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังรวบตัว และถูกดำเนินคดีในข้อหาส่งเสียงกังหรือกระทำการอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควร ก่อนที่นักกิจกรรมทั้ง 3 คนจะเคลื่อนไหวอีกครั้งที่ห้างสรรพสินค้าไอคอนสยาม เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งการเคลื่อนไหวของตะวัน ใบปอ และสายน้ำ เป็นการจุดประกายให้นักกิจกรรมอื่น ๆ เคลื่อนไหวในพื้นที่ของตัวเอง

เฟสบุ๊กเพจ “ทะลุวัง” ถูกสร้างขึ้นในวันที่ 28 มกราคม 2565 โดยมีตะวัน ใบปอ และสายน้ำ เป็นสมาชิกรุ่นแรก และยังทำกิจกรรมสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปผ่านการทำโพลต่อไป โดยเฉพาะโพลเรื่อง “ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่” ที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรง การถูกดำเนินคดี และรูปแบบการต่อสู้ที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่ทะลุวังก็มีสมาชิกใหม่ ๆ เข้ามาร่วมทำกิจกรรมด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของกลุ่มทะลุวังก็ทำให้สมาชิกทั้งในอดีตและปัจจุบัน ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 และอีกหลายคดี

ทะลุวัง - ThaluWang

การประท้วงอดอาหาร

กลุ่มทะลุวังถูกดำเนินคดีและส่งตัวเข้าเรือนจำหลายคน เช่นเดียวกับวิธีการประท้วงด้วยการ “อดอาหาร” ที่ถูกนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการเรียกร้องที่แตกต่างกันออกไป เริ่มจากการอดอาหารประท้วงของบุ้งและใบปอ หลังจากศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว กรณีทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ ซึ่งทั้ง 2 คนประท้วงอดอาหารนานถึง 62 วัน

ตะวันและแบมก็ประท้วงด้วยการอดอาหารเช่นเดียวกัน หลังจากยื่นขอถอนประกันตัวเอง เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้กับนักกิจกรรมคนอื่นที่ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ พร้อมประกาศข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่

  1. ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอย่างแรก มาก่อนสิ่งอื่นใด ต้องเป็นอิสระปราศจากอำนาจนำ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผู้บริหารศาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี 
  2. ยุติการดำเนินคดีความกับประชาชนที่ใช้สิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และการแสดงออกทางการเมือง 
  3. พรรคการเมืองทุกพรรค ต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยการยกเลิกมาตรา 112 และมาตรา 116 

ทะลุวัง - ThaluWang

การแสดงออกที่ถูกตั้งคำถาม

กิจกรรมล่าสุดที่ทำให้กลุ่มทะลุวังถูกตั้งคำถามเรื่องพฤติกรรมและการแสดงออกที่ก้าวร้าว คือกรณีที่ทะลุวังบุกไปประท้วงที่พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีการแถลงจัดตั้งรัฐบาล ของแกนนำพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย มีการใช้อารมณ์และใช้ถ้อยคำด่าทอที่หยาบคาย เช่นเดียวกับการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่าง ๆ ทั้งชูป้ายเรียกร้อง ฉีดแอลกอฮอล์หน้าที่ทำการพัก พ่นสเปรย์สีดำ ขว้างพลุสี ไปจนถึงการขวางรถของนักการเมือง จนทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างแกนนะทะลุวังกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และสื่อมวลชนในพื้นที่ 

เช่นเดียวกับการหารือจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐ ที่ทะลุวังก็บุกเข้าไปในพื้นที่ พร้อมนำป้าย “เห็นด้วยหรือไม่ถ้าเพื่อไทยจับมือกับเผด็จการ” ให้ประชาชนใส่ความเห็น ก่อนที่จะตะโกนต่อว่าและโรยแป้งบบริเวณที่ทำการพรรคเพื่อไทย ขณะที่พรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐจะลงมาแถลงข่าวผลการหารือต่อสื่อมวลชน ทำให้ต้องยกเลิกการแถลงข่าวไป 

ไข่แมวชีส

การแสดงจุดยืนของกลุ่มทะลุวังในครั้งนี้ ส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนในสังคมอย่างหนัก ขณะที่สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้ให้สัมภาษณ์กับ PPTV ระบุว่ารู้สึกห่วงใยกลุ่มทะลุวัง พร้อมชี้ว่าหากยังใช้วิธีการชุมนุมประท้วงในลักษณะนี้ ก็มีโอกาสจะทำให้การเคลื่อนไหวถูกลดทอนคุณค่า และสุดท้ายทะลุวังจะเคลื่อนไหวอย่างโดดเดี่ยว 

อย่างไรก็ตาม ทะลุวังยังคงทำกิจกรรมเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับนักโทษทางการเมือง และประเด็นทางสังคมอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง 

เสียงสะท้อนจากสมาชิกเก่า

หลังจากกลุ่มทะลุวังบุกพรรคเพื่อไทย ก็มีภาพของหยก เยาวชนวัย 15 ปีที่ร่วมขับเคลื่อนกับกลุ่ม ปรากฏออกมา และสร้างความกังวลให้กับหลายฝ่าย ถึงพฤติกรรมรุนแรงของการเป็นด่านหน้าการเคลื่อนไหว เช่นเดียวกับควรได้รับการคุ้มครองในฐานะเยาวชน ซึ่งประเด็นนี้ ก็ทำให้พลอย อดีตสมาชิกกลุ่มทะลุวังและผู้ลี้ภัย ม.112 ออกมาโพสต์เล่าเรื่องราวของตัวเอง ขณะอยู่ภายใต้การดูแลของบุ้ง โดยเธอระบุว่า “บุ้งชอบให้เด็กออกมาเคลื่อนไหว เทคแอคชั่นแรงๆ โดยบุ้งบอกกับเราว่าเรายังเด็ก ต่อให้โดนคดีก็ยังไม่โดนหนักเพราะยังมีศาลเยาวชน และเด็กถ้าเจอค.รุนแรงเช่น ตำรวจจับ บลาๆ จะเป็นข่าวง่าย ขอทุนง่าย ไวรัลง่ายกว่า แล้วบุ้งอ้างว่าจะซัพพอร์ตน้องๆอยู่ข้างหลังแทน”​ 

สอดคล้องกับมิน นักกิจกรรมกลุ่มนักเรียนเลว ที่ออกมาทวีตข้อความว่า “พลอยกับบุ้งเคยเคลื่อนไหวกับนักเรียนเลวในช่วงแรก (ก่อนต้นปี 64) ตอนนั้นก็เกิดข้อขัดแย้งคล้าย ๆ กัน หนึ่งในนั้นคือความเป็นผู้ใหญ่เพียงหนึ่งเดียวของบุ้งที่เข้ากับบางคนในกลุ่มที่เป็นเด็กซะส่วนใหญ่ไม่ได้ ก็มีการเปิดวงคุยกันเพื่อเคลียปัญหาหลายรอบ จนมีการเชิญคนนอกมาเป็นคนกลางในการพูดคุย แต่ก็ไม่ลงตัวกัน

ด้านจอม ไฟเย็น ผู้ลี้ภัย ม.112 ก็ได้ออกมาเล่าเรื่องราวแม่ของหยก โดยเขาระบุว่าแม่ของหยกรับรู้และเคารพแนวทางการต่อสู้ของหยก แต่วันที่หยกถูกปล่อยจากเรือนจำ บุ้งกลับพาหยกกลับบ้านตัวเองและแนะนำให้หยกคัดทะเบียนบ้านออกจากบ้านของแม่ พร้อมชี้ว่า ที่บุ้งบอกว่าติดต่อแม่หยกไม่ได้ ไม่เป็นความจริง 

แม่น้องไม่เคยคุยกับบุ้งเพราะไม่รู้จัก ไม่รู้ว่าบุ้งคือใคร (ไอ้ที่บุ้งไปหลอกสื่อว่าติดต่อแม่น้องไม่ได้-หาแม่น้องไม่เจอ-น้องไม่มีผปค. นั่นเรื่องโกหกทั้งเพ) วันแรกน้องขอพักกับพี่ๆก่อนแม่น้องก็ยังไม่ได้ว่าอะไร ปรากฎว่าวันต่อมาบุ้งพยายามแนะนำให้น้องแอบไป "คัดทะเบียนบ้านออกจากบ้านแม่ไปอยู่บ้านบุ้ง" โดยไม่บอกแม่น้องก่อน

เช่นเดียวกับเมนู อีกหนึ่งอดีตสมาชิกทะลุวัง ก็ออกมาตั้งคำถามเรื่องสมาชิกของกลุ่มที่มีประวัติข่มขืน การใช้ถ้อยคำหรือพฤติกรรมโจมตี รปภ. และการโพสต์ข้อความเหยียดกลุ่มออทิสติก 

เรื่องราวที่ถูกเล่าอ้างจากหลาย ๆ คนที่เคยเกี่ยวข้องกับกลุ่มทะลุวัง ทำให้หลายคนเป็นห่วงสวัสดิภาพของหยก แต่หยกก็ได้โพสต์ข้อความชี้แจง ระบุว่าบุ้งดูแลและสนับสนุนเธอเป็นอย่างดี และเธอไม่ใช่เหยื่อของบุ้ง เช่นเดียวกับนักกิจกรรมทะลุวังคนอื่น ๆ ที่ออกมายืนยันว่าบุ้งไม่เคยบังคับหรือบงการใคร และยังไม่มีแถลงอย่างเป็นทางการจากกลุ่มทะลุวัง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook