เอ๊า! พ่อทิ้งพินัยกรรมไว้ 19 ฉบับ ลูกหลานตีกันแย่งมรดก สุดท้ายถูกตัดสินเป็นโมฆะหมด
พ่อทิ้งพินัยกรรมไว้ 19 ฉบับ ลูกหลานตีกันอุตลุดเรื่องทรัพย์สิน สุดท้ายเพราะเหตุผลหนึ่ง ผู้พิพากษาตัดสินให้พินัยกรรมทั้งหมดเป็นโมฆะ
การเขียนพินัยกรรมก่อนเสียชีวิต และการแบ่งทรัพย์สินอย่างเหมาะสม เป็นการป้องกันสมาชิกในครอบครัวไม่ให้วิวาทกัน หรือแม้แต่ขึ้นศาลเรื่องมรดก
เว็บไซต์ HK01 รายงานว่า เรื่องราวของชายชราวัย 80 ปี ชาวเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน หลังจากเขาทำให้ลูกๆ และหลานทะเลาะกันเรื่องมรดก เนื่องจากในช่วง 4 ปี ก่อนเขาเสียชีวิต ชายชราเขียนพินัยกรรมไว้ถึง 19 ฉบับ
ตามรายงานของสื่อท้องถิ่น ระบุว่า หลังจากชายวัย 80 ปี ชื่อเฉา ซึ่งอาศัยอยู่ในเซี่ยงไฮ้ เสียชีวิตในปี 2564 ลูกสาวสองคนของเขาได้ยื่นฟ้องคดีทรัพย์สิน
ที่มาของเรื่องคือชายชราเขียนพินัยกรรม 19 ฉบับ ในระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2556 - 2560 และแบ่งทรัพย์สินให้กับลูกสาว 2 คน และหลานสาว 1 คน ตามลำดับ แต่เนื้อหาขัดแย้งกันและทำให้เกิดความสับสนในที่สุด
ผู้รับผลประโยชน์ในพินัยกรรมฉบับที่ 1 ซึ่งเป็นลูกสาวคนที่ 2 ของชายชรา มีข้อพิพาทเรื่องมรดกกับลูกสาวคนโตและหลานสาว ซึ่งลูกสาวคนที่ 2 เชื่อว่าพินัยกรรมของเธอถูกต้อง
หลังจากประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญด้านลายมือแล้ว ศาลก็ยืนยันว่าพินัยกรรมทั้ง 19 ฉบับ เป็นของชายชราจริง อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษายังพบว่าชายชรามีความสามารถจำกัดในระหว่างกระบวนการทำพินัยกรรม และต้องมีผู้ปกครองจัดการเรื่องแทนเขา
ต่อมาผู้พิพากษาได้ไปเยี่ยมบ้านพักคนชรา 2 แห่ง ที่ชายชราอาศัยอยู่ก่อนเสียชีวิต เจ้าหน้าที่ยังยืนยันว่าสติของชายชราเริ่มเลอะเลือนแล้ว และเนื่องจากชายชราเป็นโรคอัลไซเมอร์ จึงเป็นเรื่องยากที่จะตัดสินว่าเขามีความสามารถทางแพ่งในการเขียนพินัยกรรม
สุดท้ายผู้พิพากษาตัดสินให้พินัยกรรมทั้งหมดเป็นโมฆะ และทรัพย์สินจะได้รับการจัดการตามลำดับทางกฎหมายในการสืบทอด
คดีความดังกล่าวยืดเยื้อมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว ลูกสาว 2 คนและหลานสาวของชายชราเพิ่งบรรลุข้อตกลงขั้นสุดท้าย
ลูกสาวคนที่ 2 ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินจะได้รับส่วนแบ่งอสังหาริมทรัพย์ 50 เปอร์เซ็นต์ และต้องเสียภาษีมรดก ในขณะที่ลูกสาวคนโตและหลานสาวจะได้รับมรดก คนละ 25 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นการยุติคดีพิพาททรัพย์สินแปลกประหลาดนี้
ในกรณีนี้ผู้พิพากษาเตือนประชาชนว่า หากมีผู้สูงอายุในครอบครัวที่ป่วยและต้องการทำพินัยกรรม ควรไปที่ศาลหรือสำนักงานทนายความเพื่อยืนยันว่าผู้สูงอายุมีความสามารถในการทำพินัยกรรมได้ แล้วทำพินัยกรรมกับพยานบุคคลภายนอกเพื่อหลีกเลี่ยงข้อโต้แย้ง