“เรื่องตลก 69 เดอะซีรีส์” และวิกฤตชีวิตของ “ประชาชน” ตัวน้อยนิดในประเทศ
ซีรีส์ไทยสุดฮอตบน Netflix ตอนนี้ คงจะหนีไม่พ้น “เรื่องตลก 69 เดอะซีรีส์” งานซีรีส์ครั้งแรกของ “เป็นเอก รัตนเรือง” ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน “เรื่องตลก 69” หรือ “6ixtynin9” ที่เขาเคยกำกับไว้เมื่อปี พ.ศ.2542 และกลายเป็นภาพยนตร์ที่สร้างความฮือฮาให้กับสังคมไทยในตอนนั้น ด้วยความตลกร้ายที่สะท้อนภาพของสังคมที่กำลังการเผชิญภาวะทางเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เป็นเอกกลับมาอีกครั้งในปี พ.ศ.2566 แต่ดัดแปลงเนื้อหาให้ออกมาในรูปแบบของซีรีส์ พร้อมหยิบเอาสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในช่วง “การระบาดของโควิด-19” มาเป็นตัวผลักดันสำคัญของเรื่อง
ในขณะที่ภาพยนตร์และซีรีส์ชื่อเดียวกัน โฟกัสชีวิตของหญิงสาวนามว่า “ตุ้ม” ที่ชีวิตพลิกผันตามสถานการณ์การดำเนินเรื่อง แต่เรื่องราวของประชาชนตัวน้อยนิด ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ถูกนำมาใช้เป็นฉากหลังของเรื่อง ก็ขมขื่นและปวดร้าวไม่แตกต่างจากตัวละครนำของเรื่องเลย Sanook พาทุกคนย้อนดู “วิกฤตเศรษฐกิจ” ที่กลายเป็นวิกฤตชีวิตของประชาชนตัวเล็กตัวน้อยในประเทศ
- เรื่องย่อ เรื่องตลก 69 เดอะซีรีส์ ซีรีส์แนวดาร์กคอมเมดี้
- รีวิว เรื่องตลก 69 เดอะซีรีส์ ภาพยนตร์ไทยแนวแฟนตาซียิ่งกว่าเดิม
วิกฤตต้มยำกุ้ง 2540
ประเทศไทยผ่านวิกฤตต่างๆ มามากมาย แต่วิกฤตใหญ่ที่คนทั่วไปยังคงจดจำได้คงหนีไม่พ้น “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ที่เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2540 ในยุครัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ เป็นผลมาจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมาก มีการโจมตีค่าเงินบาท และนำไปสู่การลอยตัวค่าเงินบาท จากประมาณ 25 บาท/ดอลลาร์ เป็นประมาณ 52 บาท/ดอลลาร์ ส่งผลให้ธุรกิจเอกชน เช่น บริษัทบ้านจัดสรร อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง สถาบันทางการเงิน ธนาคาร ล้วนได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้อย่างรุนแรง หนี้สินเพิ่มขึ้น 2 - 3 เท่าตัวทันที หลายแห่งต้องปิดกิจการ ทำให้พนักงานจำนวนมากถูกปลดจากงาน และวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ยังส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างมาเลย์เซีย อินโดนีเซีย เกาหลี ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ อีกด้วย
สถิติที่น่าสนใจของช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนตัวเล็ก มีดังต่อไปนี้
- ในช่วงปี พ.ศ.2541 มีจำนวนผู้ประกอบการที่ปิดกิจการเพิ่มจำนวนขึ้นมาก ส่งผลให้การว่างงาน “เพิ่มสูงขึ้น” มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 6.5 ของกำลังแรงงาน หรือเรียกว่าสูงที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในรอบ 10 ปี
- ภาวะความยากจนเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 11.4 ของประชากรทั้งประเทศ เป็นร้อยละ 15.9
- กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยที่สุด 20% แรก มีสัดส่วนรายได้ลดลงจาก ร้อยละ 4.2 เป็นร้อยละ 3.8 ขณะที่กลุ่มคนที่มีรายได้สูงที่สุด 20% แรก มีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 56.5 เป็นร้อยละ 58.5
- จำนวนคนว่างงานเนื่องจาก “ถูกปลด” เพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเกือบ 1 ล้านคน
- รายได้ครัวเรือนลดลงเยอะมาก เมื่อเปรียบเทียบรายได้ครัวเรือนในครึ่งปีแรกของ ปี พ.ศ.2542 กัับปี พ.ศ.2541 พบว่าร้อยละ 41.4 ของจำนวนครัวเรือนมีรายได้ลดลง
- วิกฤตเศรษฐกิจส่งผลต่อการพัฒนาสติปัญหาของนักเรียนในระดับต่างๆ จากการประมาณการในปี พ.ศ.2540 พบว่า นักเรียนชั้ย ป.6, ม.3, ม.6 และปวช. ปีที่ 3 ไม่ได้เรียนต่อและต้องออกมาหางานทำจำนวนทั้งสิ้น 188,915 คน
- สถิติการฆ่าตัวตาย ปี พ.ศ.2540 อยู่ที่ 6.92 ต่อแสนประชากร ก่อนจะไต่ระดับขึ้นมาเรื่อยๆ จนในปี พ.ศ.2542 ที่ตัวเลขพุ่งขึ้นไปถึง 8.59 ต่อแสนประชากร
วิกฤตโควิด-19
วิกฤตเศรษฐกิจถดถอยโควิด-19 ถือเป็นวิกฤตที่มีความรุนแรงทั่วโลก และเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย โดยเริ่มต้นจากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อรับมือกับโควิด-19 รวมถึงมาตรการอื่นๆ ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะ “เศรษฐกิจถดถอย” อีกครั้ง โดยในช่วงปี พ.ศ.2563 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ติดลบต่อเนื่องมา 4 ไตรมาส และทั้งปีก็ติดลบ 6.1% ถือว่าต่ำสุดในรอบ 22 ปี นับจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุุ้ง
สถิติที่น่าสนใจของช่วงวิกฤตโควิดที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนตัวเล็ก มีดังต่อไปนี้
- ปี พ.ศ.2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่าจำนวนผู้ว่างงานและผู้ที่เสมือนว่างงาน (มีงานทำแต่ต้องหยุดงานชั่วคราว) ไว้ที่ 6.9 ล้านคน
- สำนักงานสติถิแห่งชาติเปิดเผยข้อมูล ระบุว่า หลังเกิดการระบาดของโควิด-19 ในช่วงไตรมาส 1 - 3 ปี พ.ศ.2563 ส่งผลให้จำนวนผู้ว่างงานในไทยเพิ่มจาก 3.70 แสนคน เป็น 6.26 แสนคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 69.20 จากสถานการณ์ปกติ
- ภาคอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวต่ำอยู่แล้ว ในปี พ.ศ.2562 ที่การขยายตัวทั้งหมดเป็นศูนย์ แต่เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ก็ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมอย่างรุนแรง ติดลบถึงร้อยละ 5.9
- ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยของภาคเอกชนลดงเท่ากับ 42.8 ชั่วโมง/สัปดาห์ จาก 43.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในช่วงเดียวกันของปี พ.ศ.2562
- หลังมาตรการล็อกดาวน์ช่วงปี พ.ศ.2563 พบว่าจำนวนผู้ทำงานทำในภาคการบริการและภาคการผลิต “ลดลง” สวนทางกับผู้มีงานทำในภาคการเกษตรที่เพิ่มขึ้น
- กรมสุขภาพจิต เปิดเผยข้อมูลสายด่วน 1323 ตั้งแต่ ตุลาคม 2564 - สิงหาคม 2563 พบว่า ผู้รับบริการมีพฤติกรรมคิดฆ่าตัวตาย 1,554 ราย หรือเฉลี่ยคิดฆ่าตัวตาย 141 รายต่อเดือน
- วิกฤตโควิด-19 ทำให้ตัวเลขการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นในรอบ 17 ปี นับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง คือเพิ่มขึ้นถึง 7.37 ต่อแสนประชากรในปี พ.ศ.2563
อัลบั้มภาพ 16 ภาพ