เปิดเหตุผลว่าทำไมคนไทยไม่อยากมีลูก?
กลายเป็นประเด็นดราม่าร้อนในโซเชียลมีเดียทันที หลังจาก “หมอชลน่าน ศรีแก้ว” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้ชี้แจงนโยบายการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข ถึงประเด็นปัญหาเรื่อง “เด็กเกิดใหม่น้อย” ระบุถึงเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ที่กระทรวงจะผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ และทัศนคติของประชาชนที่ต้องได้รับการแก้ไข
“...ลูกมากจะยากจน ต้องเอาออกจากสมองคนไทย คนไทยไม่ยอมมีลูกครับ โดยเฉพาะคนที่มีพื้นฐานการศึกษาที่ดี มีความรู้มีความสามารถ มีฐานเศรษฐกิจที่รองรับ ไม่ยอมมีลูก หลายคู่แต่งงานปุ๊บ บังคับให้สามีทำหมันเลย ไม่อยากมีลูก นั่นคือสิ่งที่กำลังบิดเบี้ยวในสังคมไทย”
- ชลน่าน ลั่นคนไทยไม่ยอมมีลูกเป็นความคิดบิดเบี้ยว ก้าวไกลจวกมันเป็นเรื่องของเขา
- “สวัสดิการเด็กเล็ก” ปัญหาของมนุษย์ตัวจิ๋วที่ผู้ใหญ่มองข้าม
คำพูดดังกล่าวของหมอชลน่านนำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนอย่างร้อนแรง หลายคนแสดงความคิดเห็นว่าเรื่องไม่อยากมีลูกไม่ใช่เรื่องของทัศนคติ แต่เป็นเรื่องค่าใช้จ่ายและเวลาที่ต้องทุ่มเทให้กับเด็กคนหนึ่งที่เกิดมา อย่างไรก็ตาม การที่คนไทยจำนวนมากเลือกที่จะไม่มีลูกย่อมมีเหตุผลที่แตกต่างกัน แต่อะไรคือ “ปัจจัยหลัก” ของคนรุ่นใหม่เหล่านี้ Sanook เปิดงานวิจัยที่ช่วยทำให้เราเข้าใจว่า “ทำไมคนไทยไม่อยากมีลูก?”
คนไทยมีลูกน้อยลง
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จับมือกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมกันแถลงสถานการณ์ทางสังคม ประเด็น “วิกฤตเด็กเกิดน้อย ผลกระทบต่อสังคมไทย” โดยให้ข้อมูลว่า ในปี พ.ศ.2565 ประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่เพียง 5.02 แสนคน ซึ่งถือเป็นอัตราการเกิดที่ต่ำที่สุดในรอบ 71 ปี
และในปี พ.ศ.2566 ก็มีการคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะมีเด็กเกิดใหม่ ประชากรวัยเด็ก 10.9 ล้านคน คิดเป็น 16.3% ขณะที่ประชากรวัยแรงงานจะมีทั้งหมด 42.6 ล้านคน หรือ 63.6% และประชากรวัยสูงอายุทั้งหมด 13.5 ล้านคน คิดเป็น 20.2% ของประชากรทั้งประเทศ
ทำไมคนไทยไม่อยากมีลูก?
งานวิจัยเรื่อง “การส่งเสริมการมีบุตรผ่านการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ” โดยมนสิการและคณะ เมื่อปี พ.ศ.2559 ได้แบ่งปัจจัยที่ทำให้คนเจนวาย (Gen Y) ไม่พร้อมมีลูก ได้แก่
- งานยุ่ง ไม่มีเวลาเลี้ยงลูก
- ถ้าเลี้ยงลูกได้ไม่ดี ก็อย่ามีดีกว่า
- คนเจนวายอยากทุ่มเทชีวิตให้กับการทำงานก่อน
- อยากใช้ชีวิตให้คุ้ม เพราะการมีลูกอาจทำให้เสียโอกาสในการทำงานและการใช้ชีวิตตามที่ต้องการ
ขณะที่ ผศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร อาจารย์ประจำสถาบันวิจับประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้ให้ข้อมูลกับเว็บไซต์ the101 ระบุว่า สาเหตุที่คนไทยไม่อยากมีลูกเป็นเพราะเรื่อง “ค่าใช้จ่าย” เพราะค่าเฉลี่ยที่ต้องใช้ต่อการมีลูก 1 คนอยู่ที่ประมาณ 1.9 ล้านบาท นอกจากนี้ คนเจนวายก็ไม่ได้มองว่าการมีลูกเป็น “โว่ทองคล้องใจ” เหมือนกับคนในสมัยก่อนแล้ว
ด้าน พม. ก็ได้กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้อัตราการเกิดของเด็กไทยลดลงเช่นกัน โดยยก 4 ปัจจัยหลัก ดังต่อไปนี้
- การที่ผู้หญิงมีบทบาทอื่นในสังคมและมีส่วนร่วมในกลุ่มแรงงานมากยิ่งขึ้น
- ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ความกังวลต่อภาระค่าใช้จ่าย
- ความไม่สมดุลระหว่างงานและครอบครัว
- การบีบคั้นทางเศรษฐกิจและสังคมการเมืองความเหลื่อมล้ำ