สรุปประเด็น “ญี่ปุ่น” ปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กระทบประเทศไทยอย่างไร?

สรุปประเด็น “ญี่ปุ่น” ปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กระทบประเทศไทยอย่างไร?

สรุปประเด็น “ญี่ปุ่น” ปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กระทบประเทศไทยอย่างไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กลายเป็นประเด็นทันที หลังจาก “ญี่ปุ่น” ตัดสินใจเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีจาก “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ” ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงต่อต้านจากคนในและนอกประเทศ ว่าอาจจะนำไปสู่หายนะครั้งใหญ่ที่อันตรายต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิต เช่นเดียวกับคนในประเทศไทยที่ตั้งคำถามถึงเรื่องความปลอดภัยของอาหารทะเลนำเข้าจากญี่ปุ่น ไปจนถึงผลกระทบต่อทะเลไทย Sanook สรุปประเด็นดังกล่าวมาฝากทุกคน

เกิดอะไรขึ้นกับโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2554 ประเทศญี่ปุ่นเผชิญเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ทางชายฝั่งตะวันออกของประเทศ ส่งผลให้เตาปฏิกรณ์ได้รับความเสียหาย จนสารกัมมันตภาพรังสีปริมาณมหาศาลรั่วไหล เรียกว่าเป็น “ภัยพิบัตินิวเคลียร์” ที่เลวร้ายที่สุดในโลก นับตั้งแต่โศกนาฏกรรมเชอร์โนบิล ในปี พ.ศ.2529 ทำให้กู้ภัยต้องใช้น้ำฉีดเพื่อลดอุณหภูมิของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และกลายเป็นน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสี ที่ถูกเก็บเอาเต็มความจุ นานกว่า 10 ปี 

Getty Images

ญี่ปุ่นตัดสินใจปล่อยน้ำลงทะเล

วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2566 บริษัทโตเกียว อิเลกทริก พาวเวอร์ (TEPCO) ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะไดอิจิ ได้เผยภาพเจ้าหน้าที่เริ่มปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนกัมมันตภาพรังที “ที่ผ่านการบำบัดแล้ว” ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกเป็นครั้งแรก 

การปล่อยน้ำเสียลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการรื้อถอนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ ซึ่งการปล่อยน้ำเสียรอบแรกจะทยอยปล่อยทั้งหมด 7,800 ตัว เป็นระยะเวลา 17 วัน จากปริมาณน้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีในถังกักเก็บที่มีมากกว่า 1.3 ล้านตัว และคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ​ 30 ปี

ปลอดภัยจริงไหม

บริษัท TEPCO ได้รายงานว่าก่อนปล่อยน้ำเสียลงสู่มหาสมุทร พวกเขาได้ทำการกรองน้ำเสียด้วยระบบ Advanced Liquid Processing System (ALPS) เพื่อกำจัดสารเคมีที่ปนเปื้อนออกไปแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้จะทำการกรองด้วยระบบ ALPS แล้ว ก็ยังมีสารที่ชื่อว่า “ทริเทียม (Tritium)” ซึ่งสามารถรวมตัวกับออกซิเจนกลายเป็นน้ำได้ และปัจจุบันก็ยังไม่มีเทคโนโลยีที่สามารถจำกัดสารตัวนี้ได้ แต่ทาง TEPCO ก็ยืนยันว่าก่อนปล่อยน้ำเสียลงทะเล พวกเขาได้เจือจางด้วยน้ำทะเลจนระดับความเข้มข้นของทริเทียมเหลือเพียง 700 เบ็กเคอเรล/ลิตร ซึ่งถือว่าปลอดภัยตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดเอาไว้ที่ 10,000 เบ็กเคอเรล/ลิตร

AFP

ท่าทีของประเทศเพื่อนบ้าน

หลังจากมีข่าวนี้ออกมา ก็ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านของญี่ปุ่น อย่างประเทศจีนและเกาหลีใต้ ออกมาแสดงความกังวลถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า “กระแสน้ำอุ่นคุโรชิโอะ” จะพัดพาน้ำเสียปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีไปยังแถบประเทศรอบๆ 

รัฐบาลจีนออกมาประณามการกระทำดังกล่าวของญี่ปุ่น พร้อมประกาศระงับการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นทั้งหมด เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี ด้านชาวเกาหลีใต้ก็ได้ออกมาคัดค้านการปล่อยน้ำเสียในครั้งนี้ โดยนายกรัฐมนตรีของเกาหลีใต้เรียกร้องให้ทางการญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้าอย่างโปร่งใสและรับผิดชอบ ขณะที่รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยาของฮ่องกง ก็เปิดเผยว่าจะสั่งห้ามการนำเข้าอาหารทะเลบางประเทศจาก 10 จังหวัดของญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน 

AFP

กระทบประเทศไทยไหม

แน่นอนว่าการกระทำดังกล่าวของญี่ปุ่นได้สร้างความกังวลให้กับคนไทยด้วยเช่นกัน ว่าจะส่งผลกระทบกับสัตว์น้ำทะเลไทยและอาหารทะเลนำเข้าจากญี่ปุ่นหรือไม่ ซึ่ง ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นดังกล่าว เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา ระบุว่า ไทยไม่ห้ามการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น และขอผู้บริโภคอย่าวิตกกังวลเรื่องความไม่ปลอดภัย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะทำการตรวจสอบอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้มีการนำอาหารที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีเกินมาตรฐานที่กำหนด หากพบจะเรียกคืนและระงับการนำเข้าทันที 

ด้าน ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชี้ว่าคนไทยยังกินอาหารทะเลของไทยได้เหมือนเดิม เนื่องจากทะเลไทยห่างไกลจากฟุกุชิมะมาก นอกจากนี้ กระแสน้ำอุ่นคุโรชิโอะยังไหลขึ้นไปทางเหลือ ไม่ได้ไหลลงใต้มาทางประเทศไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook