โผล่อีกเอชอีดีดี1แฝดจีที200เครื่องละ7แสนท้าพิสูจน์

โผล่อีกเอชอีดีดี1แฝดจีที200เครื่องละ7แสนท้าพิสูจน์

โผล่อีกเอชอีดีดี1แฝดจีที200เครื่องละ7แสนท้าพิสูจน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ยูนิวัล กรุ๊ป จัดแถลงข่าวเปิดตัว และทดสอบเครื่องมือตรวจจับระเบิดชนิดมือถือรุ่นเอชอีดีดี 1 (HEDD1)

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 บริษัท ยูนิวัล กรุ๊ป จัดแถลงข่าวเปิดตัว และทดสอบเครื่องมือตรวจจับระเบิดชนิดมือถือรุ่นเอชอีดีดี 1 (HEDD1) ณ โรงแรมดิ เอมเมอรัลด์ ถ.รัชดาภิเษก กทม. โดยมี นายเดวิด โวลล์มาร์ และนายแฟรงค์ ไทรเออร์ ผู้บริหารของบริษัท และดร.เฮลมุท เดอร์ราสต์ ผู้เชี่ยวด้านฟิสิกส์ และอาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมบรรยายและสาธิตการใช้งาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการแถลงข่าว และสาธิตการใช้งาน มีตำรวจจากหน่วยเก็บกู้ และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด หรืออีโอดี กองบังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ (บก.ตปพ.) พร้อมเจ้าหน้าที่ทหาร และหน่วยงานราชการบางส่วนสังเกตการณ์ใช้งานด้วย นอกจากนี้ยังมีทีมนักวิทยาศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดยนายพงษ์ ทรงพงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ ร่วมสังเกตการณ์

ทั้งนี้ รูปแบบการบรรยายหลักการทำงานของเอชอีดีดี 1 มีการแจกเอกสาร และบรรยายสรุปประสิทธิภาพของเครื่องว่า สามารถจำกัดพื้นที่กว้างๆ ให้แคบลงได้เช่นเดียวกับจีที 200 ก่อนที่จะให้เจ้าหน้าที่ชุดอีโอดีเข้าไปตรวจสอบ และใช้เครื่องมือชนิดอื่น เช่น ไฟโด หรือเซเบอร์ 4000 เข้าไปตรวจสอบในระยะใกล้ต่อไป โดยเครื่องดังกล่าวระยะการค้นหาตั้งแต่ 2-100 เมตร สามารถค้นหาสารระเบิดได้เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถค้นหายาเสพติดได้เหมือนจีที 200 โดยมีแหล่งพลังงานคือแบตเตอรี่ แต่จะไม่ใช้การ์ดเหมือนจีที 200

หลักการทำงานจะใช้การสร้างสนามแม่เหล็กผสม (เอ็มเอ็มเอฟ) ที่จะทำปฏิกิริยากับสนามแม่เหล็กโลก และสนามแม่เหล็กที่แผ่ออกมารอบวัตถุระเบิด โดยเอชอีดีดี 1 สามารถค้นหาผ่านสิ่งกีดขวางทุกประเภท เช่น คอนกรีต หรือโลหะ เป็นต้น

บริษัทผู้ผลิตยังระบุด้วยว่า ยูนิวัล กรุ๊ป เป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดสัญชาติเยอรมนี ซึ่งได้รับการยอมรับในกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต ทั้งหมดอีกด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รูปแบบการสาธิตการค้นหาวัตถุระเบิดของบริษัทดังกล่าว ได้ทดลองให้ผู้สื่อข่าวนำสารระเบิด 3 ชนิด คือ 1.ซีโฟร์ 2.ทีเอ็นที และ 3.แอนโฟ (แอมโมเนียมไนเตรต+น้ำมันดีเซล) บรรจุในกล่องพลาสติก กล่องละ 50 กรัม ไปซุกซ่อนไว้ตามจุดต่างๆ ในห้องแถลงข่าว โดยให้ผู้บริหารบริษัทเป็นผู้ค้นหา ผลการค้นหาครั้งแรกไม่สามารถค้นหาเจอ ผลการค้นหาครั้งที่ 2 เครื่องชี้ไปในแนวกลางห้อง และพบสารระเบิดในกระเป๋า ห่างจากแนวที่ชี้ราว 2 เมตร ส่วนครั้งที่ 3 ค้นหาไม่เจอ โดยจุดที่ซ่อนห่างจากจุดที่เครื่องชี้ 30-40 เมตร

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในการค้นหาดังกล่าวได้ให้ผู้บริหารบริษัท 2 คน ร่วมกันค้นหา และใช้เวลาในการค้นหาเฉลี่ย 15-30 นาทีต่อครั้ง ซึ่งน่าสังเกตว่า ผู้ค้นหาจะระบุเพียงว่า สารระเบิดน่าจะอยู่ในแนวที่เข็มชี้แบบกว้างๆ โดยไม่ได้ระบุว่าสารระเบิดอยู่ตรงจุดใด ต่างจากการทดสอบของกรมสรรพาวุธทหารบก ที่ จ.ราชบุรี ที่จะสามารถระบุจุดที่สารระเบิดซุกซ่อนอยู่ในตัวคน หรือกล่องไม้ได้อย่างชัดเจน ขณะที่การเดินค้นหาจะเดิน 2 แบบ คือ เดินวงเป็นวงกลม หรือเดินตัดเป็นแกนเอ็กซ์ และวาย เพื่อหาจุดตัดเช่นเดียวกับจีที 200

นอกจากนี้ หลังจากการค้นหารูปแบบแรกเสร็จสิ้น บริษัทยังทดสอบด้วยการให้นำเอาสารระเบิด 1 ชิ้น ไปซุกซ่อนในกล่องกระดาษจำนวน 10 กล่อง ครั้งแรกให้ผู้สื่อข่าว 10 คน ยืนถือกล่องเรียงหน้ากระดานแล้วให้เครื่องค้นหา ปรากฏว่าเครื่องตรวจไม่เจอถึง 3 ครั้ง ครั้งที่ 2 ให้เอาสารระเบิดไปซุกซ่อนในกล่องกระดาษ แล้วเอาไปวางเรียงแถวหน้ากระดาน ห่างกันประมาณ 2 เมตร ผลปรากฏว่าเครื่องตรวจหาไม่เจอ แม้จะสุ่มตรวจถึง 4 กล่อง แต่ผู้บริหารบริษัทอ้างว่า ในห้องมีสารปนเปื้อนมาก ทั้งอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และสารวัตถุระเบิดที่เป็นชุดทดสอบ (เทสเตอร์) ซึ่งบริษัทเตรียมมาเอง จึงทำให้ค่าแปรปรวน ไม่เหมือนการทดสอบในสนามฝึกที่ไม่มีสารปนเปื้อน

นายพงษ์ ทรงพงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การทดลองครั้งนี้น่าจะเป็นการสาธิตมากกว่าการทดสอบ เพราะไม่มีระบบควบคุมที่ดีพอ ส่วนการค้นหาดูแล้วไม่น่าเชื่อถือ เพราะถ้าแม่นยำจริงน่าจะชี้เจอในครั้งเดียวไปเลย แต่นี่เครื่องกลับชี้ทั่วห้องไปหมด ซึ่งดูแล้ว หากมีการทดสอบจริงๆ คงจะได้ผลไม่ต่างจากจีที 200

"น่าจะเป็นการประแป้งแต่งตัวใหม่ของจีที 200 มากกว่า แต่พยายามทำให้มีความเป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น โดยใส่แบตเตอรี่เข้าไป แต่แม้จะใส่แบตเตอรี่เข้าไปก็ยังไม่พบว่าเครื่องใช้หลักการทางฟิสิกส์ใดในการทำงาน ส่วนการใช้หลักการแม่เหล็กไฟฟ้าก็ไม่ต่างจากจีที 200 อย่างไรก็ตาม คงต้องเปิดใจไว้ก่อน และหากบริษัทพร้อมทดสอบก็ควรทดสอบเหมือนจีที 200" นายพงษ์ กล่าว

นักฟิสิกส์คนเดิมยังเปิดเผยด้วยว่า ก่อนหน้านี้เครื่องตรวจจับระเบิดรุ่นสนิฟเฟกซ์ (Sniffex) ซึ่งผลิตโดยบริษัทดังกล่าว กองทัพเรือสหรัฐสั่งระงับการใช้งานมาแล้ว เพราะไม่ผ่านการทดสอบการใช้งาน และเชื่อว่า เครื่องตัวนี้น่าจะพัฒนามาจากสนิฟเฟกซ์นั่นเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า หลังการทดสอบเสร็จ ทีมนักฟิสิกส์ได้นำเอาประทัด 2 แผง ที่ซุกซ่อนในกระเป๋า และดินประสิว ซึ่งซุกซ่อนอยู่ในไส้ปากกามาแสดงให้ผู้สื่อข่าวดู พร้อมตั้งคำถามว่า เหตุใดเครื่องดังกล่าวจึงไม่ชี้มายังจุดที่มีประทัด และดินประสิว ซ่อนอยู่ โดยผู้บริหารบริษัทดังกล่าวชี้แจงเลี่ยงว่า น่าจะเป็นเพราะมีสารปนเปื้อนมาก เครื่องจึงชี้ไปทั่ว และทำให้ผลการทดสอบไม่แม่นยำ

ทั้งนี้ หลังทดสอบเสร็จสิ้น ผู้บริหารบริษัท ยูนิวัล กรุ๊ป ได้เปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวซักถามข้อสงสัยเกี่ยวกับ HEDD1 โดยมีข้อมูลโดยสรุปว่า เครื่องดังกล่าวมีราคาประมาณ 7 แสนบาท โดยบริษัทผู้ผลิตมีสำนักงานอยู่ในประเทศเยอรมนี แต่มีโรงงานผลิตในประเทศบัลแกเรีย

ขณะที่ผู้บริหารบริษัทยอมรับว่า เคยนำเอาสนิฟเฟกซ์ไปทดสอบกับกองทัพเรือสหรัฐ เมื่อปี ค.ศ.2005 จริง แต่ไม่ผ่านการทดสอบ โดยระบุว่า เป็นเพราะผู้ทดสอบยังไม่ได้ผ่านการฝึกฝนการใช้งานอย่างเพียงพอ จากนั้นจึงได้พัฒนา เอชอีดีดี 1 ขึ้นมาเพื่อต่อยอดจากสนิฟเฟกซ์ และได้ฝึกฝนการใช้งานให้ดีขึ้น ขณะนี้ได้นำไปทดสอบให้ประเทศในยุโรปทดลองใช้งาน แต่ยังไม่ทราบผล อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าปัจจุบันยังไม่มีประเทศใดในยุโรป หรือสหรัฐมีไว้ใช้งาน แต่มีบางประเทศในเอเชียใช้งานแล้ว แต่ไม่ยอมบอกประเทศ โดยอ้างเรื่องความปลอดภัย

ส่วนข้อสงสัยของนักวิทยาศาสตร์ที่ว่า เหตุใดจึงต้องใช้พลังงานไฟฟ้าสถิตจากมนุษย์ ทั้งที่เครื่องมีแบตเตอรี่อยู่แล้ว เพราะเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ไม่ควรมีปัจจัยการใช้งานจากตัวคนเป็นหลัก ซึ่งผู้บริหารบริษัทชี้แจงสั้นๆ ว่า มนุษย์เป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งของเครื่อง

นอกจากนี้ ผู้บริหารบริษัทยังยอมรับว่า จุดประสงค์ในการแถลงข่าวเปิดตัว เอชอีดีดี 1 เพื่อต้องการสร้างทางเลือกใหม่ให้แก่กองทัพ และหน่วยราชการไทย มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพไว้ใช้งานแทนจีที 200 และยังพร้อมให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทดสอบประสิทธิภาพโดยละเอียดเช่นเดียวกับจีที 200 ด้วย พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการทดสอบการใช้งานจริงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย โดยระบุว่า เมื่อปลายปี 2552 ได้นำเครื่องไปทดสอบให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ดูแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าเครื่องมือใช้งานได้ดี ไม่มีปัญหา

เมื่อถามว่า หากทดสอบ 20 ครั้งเช่นเดียวกับจีที 200 เครื่องน่าจะหาวัตถุระเบิดได้ถูกต้องกี่ครั้ง ผู้บริหารของบริษัทกล่าวอย่างเชื่อมั่นว่า "มั่นใจว่าเครื่องจะค้นหาได้ถูกต้องโดยเฉลี่ย 60-100%"

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ถ้าจะอ้างเรื่องสารปนเปื้อนทำให้เครื่องตรวจไม่แม่นยำ แล้วจะทำงานในภาคใต้ที่มีสารระเบิดเต็มไปหมดได้หรือ ผู้บริหารบริษัทตอบเลี่ยงว่า น่าจะมีผลบ้าง ทั้งเรื่องอาวุธของเจ้าหน้าที่ และสารระเบิดที่ปนเปื้อน ซึ่งเครื่องจะชี้จุดที่มีสารระเบิดเข้มข้นที่สุด ดังนั้นการใช้งานจึงเป็นเพียงการจำกัดพื้นที่กว้างๆ ให้แคบลง จากนั้นให้เจ้าหน้าที่อีโอดี และเครื่องมือที่ละเอียดกว่าเข้าไปค้นหา

เมื่อถามย้ำว่า เหตุระเบิดในภาคใต้มักจะมีระเบิดลูกที่ 2 หรือ 3 วางดักเจ้าหน้าที่ไว้ด้วย ถ้าเครื่องตรวจจับจากจุดที่มีระเบิดเข้มข้นที่สุดจะเจอตั้งแต่จุดที่ระเบิดลูกแรกหรือไม่ และแม้จะใช้เครื่องตรวจสัญญาณตัดวงจรจุดระเบิดแล้ว จะปลอดภัยจากระเบิดแบบเหยียบหรือไม่ ผู้บริหารบริษัทพยายามตอบเลี่ยงว่า เครื่องสามารถตรวจทะลุโลหะได้ ดังนั้น ถ้ากังวลเรื่องระเบิดซ้ำก็สามารถตรวจหาจากในรถหุ้มเกราะได้

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า แม้ในการแถลงข่าวจะมีการนำบุคคลที่อ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์มาด้วย แต่เมื่อพยายามสอบถามถึงหลักการทำงานทางวิทยาศาสตร์ ทีมผู้บริหารบริษัทก็พยายามตัดบท และตอบคำถามแทนทั้งหมด โดยส่วนใหญ่จะเป็นการบรรยายจากเอกสาร และเพาเวอร์พอยต์ที่เตรียมไว้ ขณะที่นักฟิสิกส์คนดังกล่าวบอกเพียงว่า เป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เท่านั้น

ส่วนท่าทีของชุดอีโอดีของ บก.ตปพ.ที่มาสังเกตการณ์ ก็ระบุว่า ในการค้นหาผู้ค้นหามีความลังเลเกินไป หลายครั้งที่เครื่องชี้ แต่ผู้ค้นหาก็ยังไม่เชื่อมั่น โดยพยายามเดินวนไปมาหลายครั้งทำให้เสียเวลามาก และทำให้ผลการค้นหาไม่แม่นยำ หากเป็นผู้เชี่ยวชาญก็เชื่อมั่นว่าจะหาได้เจอแน่นอน แต่ก็ยอมรับว่า คงไม่สามารถระบุจุดได้เหมือนชุดอีโอดีของ ทบ. แต่จะสามารถจำกัดวงได้ที่ 3-4 ตารางเมตร เนื่องจากเครื่องดังกล่าวมีหลักการคล้ายเครื่อง เอดีอี 101 ที่ทางหน่วย และ ตชด.ใช้อยู่ แต่ถ้าจะจัดซื้อคงต้องมีการทดสอบเหมือนจีที 200 เสียก่อน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook