อยากรู้ไหม? ใครคือกำนันคนแรกของประเทศไทย
เคยสงสัยกันไหมว่า กำนันคนแรกของประเทศไทยคือใคร ทำไมถึงได้มาเป็นกำนันคนแรก เป็นกำนันของตำบลอะไร และมาเป็นกำนันได้อย่างไร
ในหนังสือลำดับสกุลเก่าบางสกุล ภาคที่ 2, พ.ศ. 2465 ในคำนำที่เขียนโดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีการกล่าวถึงการเลือกกำนันและผู้ใหญ่บ้านไว้ ดังนี้
“ต่อมาถึง พ.ศ. 2437 ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ ได้ทรงเปนสมุหเทศภิบาลมณฑลอยุธยา เมื่อลงมือจัดการปกครองท้องที่ พวกราษฎรชาวบางปะอินเลือกพระยารัตนกุลฯ เปนผู้ใหญ่บ้าน แล้วเลือกเป็นกำนันด้วยอีกชั้น…”
พระยารัตนกุลฯ ที่กล่าวถึงในบทความข้างต้น คือ พระยารัตนกุลอดุลยภักดี หรือ นายจำรัส รัตนกุล เกิดในราชการที่ 4 ซึ่งตรงกับวันอังคารที่ 22 พ.ศ. 2402 ปีมะแม เป็นบุตรหลวงพิเศษสุวรรณกิจ (ชื่น) เป็นหลานของพระราชสมบัติและเป็นเหลนของเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (ถุน) สมุหนายกคนแรกของประเทศไทย ในสมัยรัชกาลที่ 2 เป็นต้นตระกูล “รัตนกุล”
เมื่อจบการศึกษานายจำรัส รัตนกุล ได้เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในสมัยรัชกาลที่ 5 และได้รับบรรดาศักดิ์เป็น ขุนวรกิจพิศาล ผู้รักษาพระราชวังบางปะอิน และได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นหลวงราชภพ บริหารตำแหน่งเจ้ากรมรักษาพระราชวัง เป็นคนแรก
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงจัดระเบียบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล ภายใต้ดูแลของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้รวมเอา 8 หัวเมือง คือ
กรุงเก่า (พระนครศรีอยุธยา) อ่างทอง สระบุรี ลพบุรี อินทบุรี (ปัจจุบันคืออำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี) พรหมบุรี (ปัจจุบันคืออำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี) พระพุทธบาท (ปัจจุบันคือ อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี) และสิงห์บุรีเข้าเป็นมณฑลกรุงเก่า
และตั้งที่ว่าการมณฑลที่มณฑลกรุงเก่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ (พระนามในขณะนั้น พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์) ทรงดำรงตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลของมณฑลกรุงเก่าพระองค์แรก
และทรงมีพระราชดำริที่จะจัดระเบียบการปกครองตำบล หมู่บ้านเสียใหม่ เพื่อให้เป็นแบบแผนเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ใน ร.ศ.111 (พ.ศ.2435) ทรงมอบให้หลวงเทศาจิตรวิจารณ์ ไปทดลองจัดการปกครองตำบล หมู่บ้าน โดยให้มีการเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ปกครองที่บางประอิน
โดยให้ราษฎรเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ปกครองในเขตหมู่บ้าน และให้ผู้ใหญ่บ้านในเขตตำบลเลือกกันเอง เพื่อเลือกกำนัน โดยในขณะนั้นผู้ใหญ่บ้านที่เข้าร่วมประชุมเลือกหลวงราชภพ เป็นกำนันประจำตำบลบ้านเลน หลวงราชภพจึงเป็นกำนันคนแรกของประเทศไทย
ต่อมาหลวงราชภพ ได้รับแต่งตั้งเป็นนายอำเภออุไทน้อย (อำเภอบางปะอินในปัจจุบัน) และได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ เป็น พระยาวิเศษไชยชาญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เมื่อ พ.ศ.2439 และเมื่อ พ.ศ. 2542 ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอมรินทรฤาไชย
และต่อมา พ.ศ.2445 ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี และได้ลาออกจากราชการเนื่องจากอาการป่วย เมื่อปี พ.ศ.2447 พระยาอมรินทรฤาไชยถึงอนิจกรรมเมื่อวันเสาร์ ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2465 เมื่ออายุได้ 63 ปีเศษ
จากประวัติข้างต้น ทำให้เราทราบว่า กำนันคนแรกของประเทศไทย คือ หลวงราชภพ (พระยารัตนกุลอดุลยภักดี หรือ นายจำรัส รัตนกุล) กำนันประจำตำบลบ้านเลน
เกิดจากการที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ ทรงมอบให้หลวงเทศาจิตรวิจารณ์ ทดลองจัดการปกครองตำบล หมู่บ้าน โดยให้มีการเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ปกครองที่บางประอิน ด้วยวิธีให้ราษฎรเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน และให้ผู้ใหญ่บ้านในตำบลเลือกกันเอง เพื่อเป็นกำนัน