สรุปนโยบายศึกษาฯ ใต้ปีก “เพิ่มพูน ชิดชอบ” แจกแท็บเล็ต ลดภาระ ครู-นักเรียน-ผู้ปกครอง
Highlight
- การดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ จะอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
- การทำงานภายใต้การนำของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ จะเป็นการทำงานแบบ “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” โดยเน้นนโยบาย "เรียนดี มีความสุข"
- นโยบายเร่งด่วนสำหรับครูคือ ลดภาระงานครู แก้ไขปัญหาหนี้สิน และจัดสวัสดิการ "1 ครู 1 แท็บเล็ต"
- นโยบายเร่งด่วนสำหรับนักเรียน คือเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) มีระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยนโยบาย 1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต
วันที่ 14 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา “พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แถลงนโยบายการศึกษาและแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ที่ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากโลกโซเชียลพอสมควร หลังจากท่านรัฐมนตรีฯ ได้แนะนำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อลดภาระหนี้ อย่างไรก็ตาม นโยบายการศึกษาภายใต้การนำของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน จะมีอะไรบ้าง Sanook สรุปนโยบายที่จะช่วยให้ระบบการศึกษาของประเทศไทยปรับตัวไปในทางที่ดีขึ้น
- ประวัติ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ แนะครูลดใส่ซอง อยู่อย่างพอเพียง
- รัฐมนตรีศึกษาฯ แนะใช้เศรษฐกิจพอเพียงแก้หนี้ครู รวมกันขึ้นรถไปสอน-ลดใส่ซอง
เรียนดี มีความสุข
“พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า การดำเนินงานของกระทรวงศึกษาฯ จะอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พร้อมนำนโยบายของรัฐบาลมาขับเคลื่อนการทำงาน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยการทำงานภายใต้การนำของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน นั้น จะเป็นการทำงานแบบ “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน”
ขณะที่การยกระดับการทำงานของกระทรวงศึกษา จะเน้นไปที่การ “เรียนดี มีความสุข” โดยการเรียนการสอนจำเป็นต้องเริ่มจากความสุขของผู้เรียน ผู้สอน ไปจนถึงผู้ปกครอง เพราะเมื่อมีความสุข ก็จะส่งผลให้การเรียนดีขึ้น และเมื่อการเรียนดีขึ้น ก็จะส่งผลกลับมาทำให้รู้สึกมีความสุขมากยิ่งขึ้น
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ยังได้ย้ำถึงความร่วมมือของผู้บริหาร ครูผู้สอน บุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนผู้ปกครองและชุมชน เพื่อจะขับเคลื่อนผลักดันในเรื่องการศึกษาให้เจริญรุดหน้ายิ่งขึ้นไป โดยแบ่งเป็น 2 แนวคิดการจัดการศึกษา คือ การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต
ลดภาระงานครู
นโยบายสำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาที่สำคัญ คือ “ลดภาระครู” ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่
- ปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดขั้นตอนมุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ด้วยการปรับระบบการประเมินวิทยฐานะที่เน้นตามสภาพจริง ลดการทำเอกสาร-ขั้นตอนการประเมิน ไม่ซับซ้อนและเป็นธรรม
- ครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น สามารถโยกย้ายกลับภูมิลำเนาด้วยความโปร่งใส ไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง พร้อมสำรวจครูขาดแคลยในแต่ละพื้นที่ตามภูมิลำเนาเดิม
- แก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ด้วยการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการวางแผนการใช้เงิน และการเก็บออมเงิน น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิต รวมทั้งเร่งช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ NPL โดยเร่งด่วน
- จัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการ “1 ครู 1 แท็บเล็ต” ด้วยการสนับสนุน จัดหาอุปกรณ์ในการช่วยจัดการเรียนการสอนต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพ สามารถเชื่อมโยงระบบออนไลน์รองรับการใช้งานให้เพียงพอกับจำนวนครูผู้สอน
1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต
สำหรับนโยบายของนักเรียนนั้น มีนโยาบายที่ต้องเร่งดำเนินการทั้งหมด 6 ด้าน ได้แก่
- เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เรียนฟรี มีงานทำ “ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” มีระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยนโยบาย 1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต นำแพลตฟอร์มการเรียนรู้แห่งชาติมาผสมผสานการเรียนการสอนแบบเดิมกับการเรียนการสอนออนไลน์ (Hybrid Education) และขยายการเรียนรู้ไปถึงประชาชนทุกช่วงวัย พร้อมพัฒนาการศึกษาผ่านระบบการสะสมหย่วยการเรียนรู้ (Credit Bank System)
- 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ จัดให้มีการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพต้นแบบ อย่างน้อย 1 โรงเรียนในแต่ละอำเภอหรือเขตพื้นที่การศึกษา นำร่องการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพ สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน สื่อ อุปกรณ์ และงบประมาณ
- ระบบแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิต พัฒนาและปรับปรุวหลักสูตร กระบานการเรียนรู้ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงโลก มุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกระดับการศึกษาให้มีทักษะที่เหมาะสมและจำเป็นต่อการดำรงชีวิต
- การจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate) ให้ผู้เรียนสามารถเรียนเพิ่ม เพื่อรับประกาศนียบัตรในการประกอบอาชีพ ด้วยการนำหน่วยกิตที่สะสมมาใช้เทียบคุณวุฒิรับรองมาตรฐานวิชาชีพ
- การจัดทำระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษา และประเมินผลการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนที่มีความเป็นเลิศไม่ต้องเสียเวลาเรียนในระบบ ด้วยการจัดทำระบบการเทียบเคียงหรือเทียบโอนผลการเรียน ทักษะ ความรู้ ประสบการณ์ หรือสมรรถะจากระบบเดียวกัน แต่ต่างสถานศึกษาหรือต่างระบบ
- มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn) มุ่งเน้นการผลิตและพัฒนากำลังคนในสาขาที่มีควมจำเป็นเร่งด่วน และตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนการศึกษาแห่งชาติ โดยเน้นรูปแบบการเรียนรู้สู่การปฏิบัติ
ลงพื้นที่อย่างเรียบง่ายและประหยัด
หลังจากแถลงนโยบายการศึกษาเป็นที่เรียบร้อย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ก็ได้มีข้อสั่งการและแนวทางปฏิบัติสำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน โดยขอให้ผู้บริหารทุกภาคส่วนในสังกัดนำนโยบายที่แถลงไปสู่การปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมเน้นย้ำเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ทั้งเรื่องการบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย ไปจนถึงการจัดซื้อจัดจ้าง
นอกจากนี้ ยังได้ฝากให้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ พร้อมให้ร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาด ส่งเสริมการอ่านอย่างเป็นกระบวนการ ไปจนถึงการลงพื้นที่ตรวจราชการหรือตรวจเยี่ยม ที่พล.ต.อ.เพิ่มพูน ขอให้มีเฉพาะผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง โดยดำนเนินการอย่างเรียบง่ายและประหยัด