"ศุภชัย" มั่นใจ เลือกตั้งหน้า ภท.ยังอยู่ - กก.เติบโตแม้เปลี่ยนชื่อ "ชลน่าน" เชื่อ รบ.อยู่ครบเทอม
"ศุภชัย" ย้ำพรรคการเมืองต้องสมดุล เตือนก้าวไกลก้าวย่างอย่างระวัง อนาคตภูมิใจไทยยังอยู่ ขณะ "พิธา" ตั้งเป้าสิ้นปีก้าวไกลมีสมาชิกพรรคที่สูงสุดในประเทศ ด้าน "ชลน่าน" มั่นใจ รัฐบาลเพื่อไทยอยู่ครบ 4 ปี รับเป็นไปได้แก้ รธน.เสร็จยุบสภา
งานเสวนานำเสนอยุทธศาสตร์เสริมสร้างให้ระบบการเลือกตั้งได้รับการยอมรับ” จัดโดยนักศึกษาหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) รุ่นที่ 13 ในหัวข้อ “พรรคการเมืองแบบไหนที่คนไทยต้องการ” โดยนายศุภชัย ใจสมุทร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย) กล่าวว่า อาจจะต้องเปลี่ยนหัวข้อเป็น “พรรคการเมืองที่คนไทยต้องการ” เพราะประชาชนมีความหลากหลาย แต่ที่แน่ๆ “พรรคการเมืองที่คนไทยไม่ต้องการ” นั้น จบไปแล้วตั้งแต่การเลือกตั้งที่ผ่านมา ดังนั้น
พวกเราที่เหลือคือพวก Survivor พรรคการเมืองที่จะนำพาประเทศนี้เดินต่อไปได้ ต้องยอมรับว่าประเทศเสรีประชาธิปไตยที่ไม่มีการยึดอำนาจ หรือมีอำนาจอื่นเข้ามา แล้วปล่อยให้ไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย องค์กรที่สำคัญคือองค์กรพรรคการเมือง วันนี้แม้คำว่า “พิธา” จะมาแรง แต่สิ่งที่ขับเคลื่อนจริงๆ คือ “พรรคก้าวไกล” คำว่า “อนุทิน” สิ่งที่ขับเคลื่อนจริงๆ คือ “พรรคภูมิใจไทย” ทั้งนี้ การเมืองไทย
จัดเป็นการเมืองสมัยใหม่ ที่ทุกพรรคการเมืองต้องมีการทบทวนบทเรียนจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคการเมืองที่ขวาสุด เสรีนิยมมากไป ประเทศก็มีปัญหา เศรษฐกิจมีปัญหา อนุรักษ์นิยมมากไปก็ทำให้ประเทศเกิดปัญหาเช่นกัน ดังนั้น คิดว่า ถึงจุดๆ หนึ่งเราอาจจะต้องอยู่ในจุดที่มีความสมดุลทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ทำอย่างไรที่จะสนองความต้องการของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของประเทศ ผ่านพรรคการเมือง ดังนั้น บ้านเมืองคุณจะเดินหน้าต่อไปให้ดีที่สุดคือ การเป็นพรรคการเมืองที่ต้องมีความสมดุลในทุกเรื่อง และเพื่อให้ไปต่อได้ พรรคเมืองต้องปรับตัว (Disruption) เพื่อที่จะได้เกิดใหม่ มีการเปิดโอกาสนักการเมืองรุ่นใหม่ และสื่อสารการเมือง
ทั้งนี้ บทเรียนการเลือกตั้งที่ผ่านมา มีข้อเท็จจริงมากกว่า กลุ่มคนแต่ละยุคสมัย (Generation) การไม่ชอบลุงก็ทำให้ผู้คนมีอารมณ์ แต่นี่ก็ไม่ชัดเจนพอที่จะเอามาสะท้อนผลการเลือกตั้งที่พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลายได้ แต่ทุกพรรคต้องมาทบทวนเรื่องนี้ จากนี้พรรคก้าวไกลก็ต้องก้าวย่างอย่างระมัดระวัง ในส่วนของพรรคภูมิใจไทยก็ต้องทบทวนว่าจะทำอย่างไรให้เป็นพรรคที่ยังอยู่ได้ในอนาคต เพราะการที่พรรคก้าวไกลมาแรง จากครั้งที่เป็นพรรคอนาคตใหม่ได้ 62 ที่นั่ง แต่ครั้งนี้พรรคก้าวไกลมามืดฟ้ามัวดิน ในส่วนของภูมิใจไทย แม้ว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ภูมิใจไทยได้มา 51 ที่นั่ง ครั้งนี้ได้มา 71 ที่นั่ง หายไป 20 ที่นั่ง เพราะคาดการณ์ไว้ประมาณ 90 ที่นั่ง ซึ่งสาเหตุด้วยความที่บรรยากาศเริ่มต้นที่ผ่านมา ที่ภูมิใจไทยมีจุดยืนว่าไปอยู่กับลุงมากไป ทำให้คนที่อยู่ข้างลุง ก็ไปเลือกลุง ดังนั้น ที่สุดแล้ว ภูมิไทยก็มีจุดขาย คือ “พูดแล้วทำ” ซึ่งมีนักการตลาดเตือนว่าอาจจะมีปัญหาได้ เพราะจะมีพรรคไหนที่พูดแล้วสามารถทำได้บ้าง
นายศุภชัย เชื่อว่า ครั้งหน้ายังมีพรรคภูมิใจไทยอยู่แน่นอน แปลว่า พรรคก้าวไกลจะเติบโตขึ้น หรือแม้จะเปลี่ยนเป็นชื่ออื่นก็ตาม สุดท้ายแล้วเราก็พร้อมที่จะอยู่ไปกับพรรคก้าวไกล ในวันที่ก้าวไกลไปสู่ในอนาคต ก็ยังมีภูมิใจไทยอยู่ และอย่าเพิ่งตัดรอนที่จะร่วมรัฐบาล อย่างไรก็ตาม เรียกร้อง กกต.ต้องเอาจริงในการตรวจสอบการออกนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองต่างๆว่า เข้าข่ายโฆษณาชวนเชื่อหรือไม่ ทำได้หรือไม่ โดยเฉพาะที่ต้องใช้งบประมาณนั้นควรให้แบงก์ชาติเข้ามาช่วยในการตรวจสอบด้วย
ขณะ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ถ้าพวกเราเห็นตรงกันว่าพรรคการเมืองจะเป็นแบบพรรคที่ “เกิดง่าย อยู่ได้ ยุบยาก” ก็ยังจะมีอยู่ต่อไป การเป็นพรรคมวลชนที่ก้าวหน้าและตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นพันธกิจของพรรคก้าวไกล ซึ่งการจะเป็นพรรคมวลชน ก้าวหน้า และตรวจสอบนั้น ก็ต้องยึดโยงกับประชาชนได้ ซึ่งก็ต้องอยู่ในระบบนิเวศน์การเมืองที่ “เกิดง่าย อยู่ได้ ยุบยาก” โดยกว่าจะเกิดได้ต้องมีสมาชิกถึง 5,000 คนใน 1 ปี และ 10,000 คนใน 4 ปี สำหรับพรรคการเมืองที่ยังไม่มีผลผลิตยังไม่มี สส.เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งการจะทำให้ตลาดการเมืองมันคึกคักขึ้นมาได้ก็ต้องพึ่งเรื่องเหล่านี้ที่พรรคการเมืองมี 4 สาขา ใน 4 ภูมิภาค และยังต้องมีการเสียงเงินเป็นสมาชิกพรรคถ้า 5,000 คนก็คือ 500,000 บาท ถ้าจะเป็นตลอดชีพก็คนละ 2,000 บาทเป็นเงินรวม 10,000,000 บาท จึงทำให้พรรคการเมืองเกิดยากอยู่พอสมควร ซึ่งพรรคเราพึ่ง กกต.มากที่สุดที่ผ่านเงินกองทุนพัฒนาการเมืองและการบริจาค แต่ก็มีข้อจำกัดที่เยอะไป แต่พรรคสามารถหารายได้ได้จาก 3 ทาง ได้แก่ สมาชิก ขายของที่ระลึก และการจัดระดมทุนเหมือนการจัดโต๊ะจีน แต่ใน 3 ข้อนี้ก็ยังมีกฎหมายหยิบย่อยอีก
แต่สุดท้ายเราก็จะเป็นพรรคการเมืองที่เกิดง่าย อยู่ได้ และยุบยาก ถ้าทำอย่างนั้นได้ตนจะกลายเป็นพรรคมวลชนที่ไม่ต้องพึ่งทุนใหญ่ เพราะทุกวันนี้ตนสามารถอยู่ได้ด้วยทุนตนเอง ซึ่ง ณ วันนี้สมาชิกพรรคก้าวไกลมี 70,000 คน เพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน 6,000-7,000 คน และเราถือเป้าหมายว่าเราจะเป็นพรรคการเมืองที่มีสมาชิกพรรคสูงที่สุดภายในประเทศ ให้เกิน 100,000 คนภายในสิ้นปีนี้
ส่วน 4 ปีมีปัจจัยอะไรนั้น คงต้องอยู่ที่การร่วมมือของ 2 พรรค และปัจจัยที่สองอยู่ที่ตนว่าเป็นฝ่ายค้านที่เข้มข้นแค่ไหน และก็ยินดีกับรัฐบาลใหม่ที่จัดตั้งได้ยืนยันว่า ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นหลักการ และประชาชนให้ตนทำงานตรวจสอบ ปัจจัยที่สาม ในส่วนของมวลชนที่ตรวจสอบเข้มข้นแค่ไหน และปัจจัยที่สี่คือประชาชนว่า พอใจกับการทำงานของรัฐบาล ฝ่ายค้าน และสื่อมวลชนมากแค่ไหน อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่ามันมีการปรับฐานการเมืองของประชาชนที่ไม่ต้องการรัฐประหาร ไม่ต้องการคอร์รัปชัน ไม่ต้องการทุนผูกขาด
ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข และอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สังคมไทยค่อนข้างหลากหลาย มีความเป็นประชาธิปไตยและเข้าใจระบอบประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้ง พรรคเมืองที่ประชาชนต้องการนั้น ตนมองว่ามี 3 ข้อ 1. พรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมือง ที่พรรคเองต้องบอกตัวเองได้ และพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นได้ 2.การมีเสียงประชาชนสนับสนุน ทั้งทางตรง ทางอ้อม โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในการผลิตนโยบายการเมือง ตรวจสอบทางการเมือง และการนำนโยบายไปไปใช้ และ 3. ที่ถือเป็นจุดตายของพรรคการเมืองยุคใหม่ คือการสื่อสารการเมือง บวกกับการตลาดการเมือง ที่ต้องรู้ว่าประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งเป็นอย่างไร แล้วจะเอานโยบายบายอะไรไปนำเสนอ ถึงจะตอบโจทย์ แต่หากมีการสื่อสารที่ไม่ดี ก็ไม่เป็นผลและมองว่าหากต้องการให้พรรคการเมืองเป็นที่ต้องการและเป็นที่นิยม ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งเป็นสมาชิก ร่วมกิจกรรมพรรค และหากสื่อสารการเมืองที่ดีก็จะดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งเดิมเป็นเรื่องยากเพราะติดข้อกฎหมาย
ทั้งนี้ มั่นใจว่า รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยอยู่ครบ 4 ปี ไม่มีการยุบสภาแน่นอน อาจจะมีการปรับเปลี่ยนมีพรรคอื่นๆ เข้าร่วมรัฐบาลเป็นธรรมดา ส่วนเงื่อนไขอื่นที่เป็นเหตุผลเหมาะสม แต่ไม่ใช่การยึดอำนาจ หรือยุบสภาด้วยเหตุการณ์ไม่ปกติ และไม่เคยมีการพูดว่าแก้รัฐธรรมนูญเสร็จจะยุบสภา แต่โอกาสความเป็นไปได้ “มี” หากร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นที่ต้องการของประชาชน เกิดกระแสเรียกร้องบริบทการเมืองที่เหมาะสม ก็มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลมอบอำนาจไปให้ประชาชนตัดสินใจใหม่ และหากทำงานเข้าตาและประชาชนเรียกร้อง เหตุใดจะต้องยุบสภา ดังนั้นด้วยเงื่อนไขครบ จึงมั่นใจอยู่ครบ 4 ปี เดิมการเมืองมีความขัดแย้งรุนแรง แบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน เหลือแดง แต่ถูกย่อยสลายแล้ว เมื่อเหลือแดงไม่สู้ หันหน้าเข้ามากัน บรรยากาศการเมืองดีขึ้น