ย้อนดู 4 นักการเมืองหญิง ถูกถอนสิทธิลงสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต ด้วยคดีอะไรบ้าง
4 นักการเมืองหญิง ถูกศาลพิพากษาถอนสิทธิลงสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต ศาลฟันผิดจริยธรรมร้ายแรง ด้วยคดีอะไรบ้าง?
ภายหลังที่ศาลฎีกา สนามหลวง ศาลฎีกามีคำพิพากษา นางสาวพรรณิการ์ วานิช อดีต สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคอนาคตใหม่ ถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฐานฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงตามกฎหมาย ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมอย่างร้อนแรงในเวลานี้
อนึ่ง นางสาวพรรณิการ์ไม่ใช่คนเดียวที่ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต จากการถูกตัดสินว่าทำผิดจริยธรรม เพราะในช่วงปี 2565-2566 มีนักการเมืองที่ถูกถอนสิทธิลงสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิตอีกหลายราย
ปารีณา ไกรคุปต์ - ครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.โดยมิชอบ
น.ส. ปารีณา ไกรคุปต์ สส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2564 หลังศาลฎีการับคำร้องของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ขอให้ศาลวินิจฉัยการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
หลังจากผลการไต่สวนพบว่า น.ส. ปารีณาได้ร่วมกับ นายทวี ไกรคุปต์ บิดา เข้ายึดถือ ครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบในพื้นที่หมู่ที่ 6 ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี จำนวน 711-2-93 ไร่ เมื่อ 18 ปีก่อน
(7 เม.ย.65) ศาลพิพากษาว่า น.ส.ปารีณา ฝ่าฝืน หรือ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง มีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง สส. นับจากวันที่ 25 มี.ค. 2564 ซึ่งเป็นวันที่ศาลฎีกาสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านตลอดไป มีผลให้ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิ์รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สว. ผู้บริหารท้องถิ่น และดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 235 วรรคสี่ และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 81, 87 และมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ข้อ 3 ข้อ 17 ประกอบข้อ 27 วรรคสอง ทั้งนี้ คำพิพากษาให้มีผลทันที และให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบต่อไป
กนกวรรณ วิลาวัลย์ - ครอบครองที่ดินเขาใหญ่
นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สส.พรรคภูมิใจไทย ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เมื่อ 26 ส.ค. 2565 หลัง ป.ป.ช.ยื่นคำร้องว่า เมื่อ 14 ก.พ. 2545 นางกนกวรรณ ดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินในพื้นที่หมู่ที่ 15 ตำบลเนินหอม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี โดยอ้างว่าซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวมาจาก นายทิว มะลิซ้อน เมื่อปี 2533 แต่นายทิวไม่มีตัวตน อีกทั้งไม่เคยมีการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และแนวเขตป่าไม้ถาวรป่าเขาใหญ่ การออกโฉนดที่ดินเลขที่ 41158 ตำบลเนินหอม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี
ข้อเท็จจริงพบว่า นางกนกวรรณออกโฉนดที่ดินโดยไม่มีคุณสมบัติตามกฏหมาย ไม่ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามที่กล่าวอ้าวว่า มีการทำสวนปลูกผลไม้ รวมทั้งการตรวจสอบจากภาพถ่ายดาวเทียมและเจ้าหน้าที่ ก็ไม่พบการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ และการได้โฉนดที่ดินมาตั้งแต่ปี 2554 และยังถือครองที่ดินดังกล่าวมาจนถึงวันที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และจนถึงปัจจุบัน จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเองตามมาตราฐานจริยธรรม และถือว่ามีลักษณะร้ายแรงตามมาตรฐานจริยธรรม
ต่อมา เมื่อ 22 ก.พ. 66 ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษาคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ร้อง นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ศาลเห็นว่าการกระทำดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง แม้มิได้เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของตนโดยตรงก็ตาม เพราะอาจทำให้สาธารณชนขาดความเชื่อถือศรัทธา จึงพิพากษาว่านางกนกวรรณ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง พิพากษาให้นางกนกวรรณพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษา นับตั้งแต่วันที่ 26 ส.ค. 2565 อันเป็นวันที่ศาลฎีกามีคำสั่งให้ หยุดปฎิบัติหน้าที่ ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของนางกนกวรรณตลอดไป รวมถึงไม่มีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 235 วรรคสาม วรรคสี่ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี นับแต่วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ - เสียบบัตรแทนกันในการประชุมสภา
น.ส. ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ สส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2564 หลังศาลฎีกาได้รับคำร้อง กรณีถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์เสียบบัตรลงคะแนนแทนกันไว้พิจารณา เ
ต่อมา ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาว่า น.ส. ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ มีความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 จำคุก 1 ปี และปรับ 200,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี แต่ น.ส. ธณิกานต์ ยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 20 ก.ค. ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ พิพากษายืน จำคุก 1 ปี ปรับ 2 แสน แต่ให้รอลงอาญา
ต่อมา วันที่ 3 ส.ค.66 องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ คมจ.2/2564 ที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ยื่นคำร้องกรณี น.ส.ธนิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ กทม. มีพฤติการณ์ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง กรณีเสียบบัตร สส. แทนกันในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
พิพากษาว่า น.ส. ธณิกานต์ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กร อิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 6-8 ประกอบข้อ 27 วรรคหนึ่ง
จึงให้ น.ส. ธณิกานต์ พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ 11 ส.ค.64 อันเป็นวันที่ศาลฎีกามีคำสั่งให้ผู้คัดค้านหยุดปฏิบัติหน้าที่ สั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไป และ ไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 วรรคสามและวรรคสี่ พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 87 ประกอบมาตรา 81 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
พรรณิการ์ วานิช - โพสต์พาดพิงสถาบัน
(20 ก.ย.66) ศาลฎีกา สนามหลวง อ่านคำพิพากษา ให้ถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งของ นางสาวพรรณิการ์ วานิช ตลอดไป และไม่ให้มีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ อีก
คำพิพากษานี้เกิดขึ้นหลังจากนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบ ช่อ พรรณิการ์ จากการโพสต์ภาพและข้อความลงเฟซบุ๊ก ที่ตนเชื่อว่ากล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในแง่ร้าย
ต้นปี 2565 กรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่านางสาวพรรณิการ์ ที่เคยเป็น สส. พรรคอนาคตใหม่ เข้าข่ายละเมิด "มาตรฐานทางจริยธรรมของ ตุลาการศาลรัฐธรรมนญ และผู้ดารงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561" จึงส่งเรื่องให้ศาลพิจารณาต่อ
การตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งดังกล่าวยังเป็นการซ้ำเติมโทษทางการเมืองที่นางสาวพรรณิการ์เผชิญอยู่แล้ว จากการยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อปี 2563 ที่มีการตัดสิทธิทางการเมืองของงนางสาวพรรณิการ์และกรรมการบริหารพรรคคนอื่นๆ เป็นเวลา 10 ปี
อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือน พ.ค. 66 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เคยยกฟ้องคดีที่อัยการยื่นฟ้องนางสาวพรรณิการ์ว่าละเมิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ จากการโพสต์พาดพิงสถาบันกษัตริย์มาแล้ว ซึ่งครั้งนั้นศาลมองว่าข้อความที่นางสาวพรรณิการ์โพสต์ไม่ใช่การนำความเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์และไม่ได้ทำให้สังคมตื่นตระหนก