ยูเอ็นเตือนขยะอิเล็กทรอนิกส์จะล้นประเทศกำลังพัฒนา
โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) เตือนว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ คอมพิวเตอร์ จะเป็นอันตรายต่อสาธารณสุขและสภาพแวดล้อมของประเทศกำลังพัฒนาในอีกไม่ช้า หากไม่เร่งดำเนินการแก้ไข
รายงานของยูเอ็นดีพีเรื่อง "การหมุนเวียนใช้ใหม่ : จากขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นทรัพยากร" ระบุว่า ยอดจำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศกำลังพัฒนาอย่างจีน อินเดีย รวมไปถึงประเทศในละตินอเมริกา และแอฟริกา จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีข้างหน้า หากไม่เร่งเก็บและนำไปหมุนเวียนใช้ใหม่อย่างเหมาะสม ภูเขาขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้จะส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
รายงานอ้างข้อมูลจากประเทศกำลังพัฒนา 11 ประเทศ เพื่อประเมินขยะอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบัน และอนาคต คาดว่าภายในปี 2563 ขยะคอมพิวเตอร์รุ่นเก่าในแอฟริกาใต้และจีนจะเพิ่มขึ้น 2-4 เท่า จากปี 2550 ส่วนอินเดียจะเพิ่มขึ้น 5 เท่า ขณะที่ขยะโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเพิ่มขึ้น 7 เท่าในจีน และ 18 เท่าในอินเดีย หากนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปหมุนเวียนใช้ใหม่ให้มากขึ้น นอกจากจะลดอันตรายด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยสร้างงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดการใช้โลหะล้ำค่า
ปัจจุบันประเทศที่ผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุดในโลก คือ สหรัฐ ราว 3 ล้านตัน รองลงไปคือ จีน ราว 2.3 ล้านตัน จีนยังเป็นที่ทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์แหล่งใหญ่ของประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งที่มีกฎหมายห้ามนำเข้าขยะเหล่านี้ ขยะส่วนใหญ่ไม่ผ่านกระบวนการหมุนเวียนอย่างเหมาะสม แต่ถูกคนขายของเก่านำไปเผาปล่อยก๊าซพิษเพียงเพื่อหาโลหะล้ำค่าที่ผสมอยู่ เล็กน้อย
รายงานนี้ระบุตัวเลขที่น่าสนใจหลายเรื่อง เช่น ขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นปีละ 40 ล้านตัน การผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลใช้แร่ทองคำและแร่ เงินร้อยละ 3 ของที่ขุดพบทั่วโลกในแต่ละปี ใช้แร่พัลลาเดียม และโคบอลต์ ร้อยละ 13 และ15 ตามลำดับ ยอดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วโลก เมื่อปี 2550 ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านเครื่อง เพิ่มจาก 896 ล้านเครื่อง เมื่อปี 2549