ประวัติ เจี๊ยบ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล จากนักสู้เสื้อแดง สู่นักการเมืองตัวตึงแห่งก้าวไกล
หากพูดถึง ส.ส. พรรคก้าวไกล เชื่อว่าคนหนึ่งที่จะโผล่ขึ้นมาในความคิดของใครหลายคน คงหนีไม่พ้น “เจี๊ยบ - อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล” ด้วยการแต่งกายด้วยสีสันจัดจ้าน รอยยิ้มใจดี แต่ก็ดุดันได้เมื่อจำเป็น รวมไปถึงวาทะเดือดในรัฐสภาที่กลายเป็น “มีม” หลายต่อหลายครั้ง จนประชาชนยกให้เป็น “ตัวแม่” ที่พร้อมฟาดทุกคน Sanook จึงอยากพาทุกคนไปทำความรู้จัก “เจี๊ยบ อมรัตน์” อดีต ส.ส. ตัวแม่ ที่ยืนหยัดสู้อยู่ข้างพรรคก้าวไกลเสมอ ไม่ว่าจะในยามทุกข์หรือยามสุข
- อมรัตน์ ขออภัย ปมโผล่ไปหา ปีใหม่ FC เพื่อไทย ถึงที่ทำงาน เปิดแชตยันไม่มีข่มขู่
- อมรัตน์ แจ้งก้าวไกลให้ตัดสิทธิบริหารทุกตำแหน่ง ขอโทษที่อดทนไม่พอ ทำให้ผิดหวัง
“เจี๊ยบ อมรัตน์” คือใคร
อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล หรือ เจี๊ยบ อายุ 59 ปี เป็นบุตรสาวของ “กำนันโต” และเป็นพี่สาวคนโตในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 3 คน คุณพ่อของเธอทำธุรกิจรถเมล์ และเคยเป็นนายกสมาคมรถร่วม บขส. 2 สมัย การทำธุรกิจทำให้ครอบครัวของเธอต้องฝ่าฟันปัญหามากมาย ทำให้อมรัตน์เติบโตมาแบบโลดโผน และร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพ่อแม่มาตลอด ซึ่งทำให้เธอได้พบเจอกับคนมากมาย และเริ่มตั้งคำถามกับความไม่เท่าเทียมของคนมาตั้งแต่ตอนนั้น
Amarat Chokepamitkul อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล
อมรัตน์จบชั้นประถมศึกษา จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นหลักสูตรก้าวหน้า จึงทำให้เธอกลายเป็นเด็กค่อนข้างดื้อและคิดนอกกรอบ ทั้งยังเป็นหัวโจกชอบหนีเรียน จากนั้นจึงสอบติด ม.ศ. 4 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ก่อนจะเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี คณะบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เสรีภาพทุกตารางนิ้ว
ด้วยความชื่นชอบการเมืองมาตั้งแต่เด็ก ตอนอายุ 10 - 11 ขวบ พ่อก็พาอมรัตน์ไปดูสถานที่ในจังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นจองเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หรือประตูที่ช่างไฟฟ้าสองคนถูกแขวนคอ เนื่องจากคุณพ่อของเธอเป็นกำนัน และเป็น Active Citizen เธอจึงได้เห็นเหตุการณ์นักศึกษาโดนจับกุม
กระทั่งได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อมรัตน์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Voice ว่า “เหมือนปล่อยเสือเข้าในมหาวิทยาลัยที่มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว” เธอไม่เคยใส่ชุดนักศึกษา ไม่เคยขึ้นเรียน แต่เข้าไปสอบอย่างเดียว และทำกิจกรรมมากมาย
จุดเริ่มต้นนักกิจกรรม “คนเสื้อแดง”
ในช่วงปี 2552 - 2553 มีการเรียกร้องของคนเสื้อแดงให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นยุบสภา แล้วจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่อภิสิทธิ์ไม่ยอมยุบ อมรัตน์จึงเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง เดินทางไปร่วมชุมนุมบ้าง แต่ไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็น “ขี้ข้าทักษิณ”
Amarat Chokepamitkul อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล
กระทั่งเมื่อเกิดรัฐประหาร ปี 2557 อมรัตน์จึงเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเต็มตัว มีเตนท์ “แดงนครปฐม” เป็นของตัวเองในการชุมนุมที่ ถ.อักษะ เริ่มทำกิจกรรมทางคืนสัญญาเลือกตั้ง คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ตัดสินให้การเลือกตั้งปี 2557 เป็นโมฆะ รวมไปถึงการจัดกิจกรรมจุดเทียนในนครปฐม ซึ่งทำให้เธอโดนคดี ม.44 ไปทั้งหมด 2 คดี พร้อมกับโดนคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ
เดินหน้าเข้ารัฐสภา
อมรัตน์เข้าร่วมสังกัดพรรค “อนาคตใหม่” ตามคำเชื้อเชิญของแกนนำพรรค เนื่องจากรู้สึกสนใจแนวทางการทำงานของพรรค และตอบโจทย์ความศรัทธาทางการเมืองของตัวเอง โดยช่วงแรกเธอได้ตั้งศูนย์ประสานงานที่นครปฐม โดยตั้งใจช่วยเหลืออยู่เบื้องหลัง คันหา คัดกรองผู้สมัคร แต่สุดท้าย ปิยบุตร แสงกนกกุล ก็ชวนให้เธอมาลงรับสมัครเลือกตั้งในแบบบัญชีรายชื่อ และได้รับการเลือกตั้งในที่สุด
อมรัตน์ถูกมองว่าเป็น “คู่ปรับ” คนหนึ่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เธออภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ อย่างมั่นใจและตั้งใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุจริตในกองทัพ การสร้างอนุสาวรีย์ก่อนเปิดซองประมูล หรือการฮั้วประมูล ไปจนถึงกรณีบ้านหลวงของ พล.อ.ประยุทธ์ อมรัตน์มีหลักฐานที่ชัดเจนในการอภิปรายทุกครั้ง ทั้งยังสามารถตอบโต้ได้ทันทีและตรงใจใครหลายคน และด้วยลีลาการฟาดฟันที่ดุเดือด ก็ทำให้เธอกลายเป็นมีมมากมาย และเป็นที่จดจำของประชาชนทั่วไป อมรัตน์เล่าว่าที่ตอบโต้เก่ง ก็เพราะเถียงคุณพ่อมาตั้งแต่เด็ก
Amarat Chokepamitkul อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล
อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2566 อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ประกาศไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. โดยให้เหตุผลว่าไม่ชอบงานการเมือง แต่เธอยังลงพื้นที่ช่วยหาเสียง และติดตามพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อยู่ตลอด
อัลบั้มภาพ 8 ภาพ