ก้าวไกลจี้อีก กฟผ.เซ็นยาว 29 ปี ซื้อไฟฟ้าเขื่อนปากแบง เรื่องนี้กระทบคนทั้งชาติ!
ก้าวไกลจี้เอาคำตอบ กฟผ.ด่วนเซ็นยาว 29 ปี ซื้อไฟฟ้าเขื่อนปากแบง หวังว่า รมต.พลังงาน จะไม่เบี้ยว อยากฟังชัดๆ ในอนาคตจะกระทบค่าไฟคนทั้งชาติยังไงบ้าง?
วันที่ 25 กันยายน 2566 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Wiroj Lakkhanaadisorn - วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ระบุถึงกรณีซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบง กระทบคนทั้งชาติ จะรีบเซ็นทำไม ทำไมไม่รอแผนพลังงานชาติ 2023 ก้าวไกลตั้งกระทู้ถามแล้ว หวังว่าสัปดาห์นี้ รัฐมนตรีพลังงานจะไม่เบี้ยว
ตามที่ประชาชนทราบอยู่แล้วว่า ปัจจุบันปริมาณกำลังไฟฟ้าสำรองนั้น มีสูงกว่าความต้องการ มากกว่า 50% ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของค่าไฟฟ้าแพง ก็ไม่เข้าใจว่า จะเซ็นซื้อไฟฟ้า จากเขื่อนปากแบง ด้วยสัญญาระยะยาวถึง 29 ปี (ราคาหน่วยละ 2.76 บาท) มาเพิ่มอีกทำไม
เรื่องนี้ทางพรรคก้าวไกลได้ยื่นกระทู้ถามสดไปแล้ว โดยคุณศุภโชติ ไชยสัจ สัปดาห์ก่อนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานก็ไม่มาตอบ สัปดาห์นี้หวังว่าคงไม่เบี้ยวนะครับ เพราะกรณีนี้เป็นผลประโยชน์ของชาติ ที่จะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนทั้งประเทศ
ผมคิดว่า สิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานควรต้องตอบประชาชนให้ได้ ก็คือ
ก่อนหน้านี้ ก็ได้ลงนามซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากลาย และเขื่อนหลวงพระบางมาแล้ว ตามมติ กพช. ครั้งที่ 159 วันที่ 22 มิ.ย.65 [1] จะลงนามซื้อไฟฟ้าจากเจื่อนปากแบงมาเพิ่มอีกทำไม
ครั้นจะอ้างมติ กพช. ครั้งที่ 164 เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 66 [2] ก็ฟังไม่ขึ้น เพราะแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) 2023 (ล่าช้ามาจากแผนพลังงานชาติ 2022 ที่เข้า ครม. ไม่ทัน) ก็ยังไม่แล้วเสร็จ จะรีบลงนามซื้อไฟฟ้าทำไม ทำไมไม่รอดูแผนพลังงานชาติ 2023 [3] เสียก่อน ถ้าลงนามซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบงไปแล้ว แล้วพบในภายหลังว่า ไม่สอดคล้องกับแผนพลังงานชาติ 2023 ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
ครั้นจะอ้างว่า การลงนามซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบงนั้น กว่าจะจ่ายไฟฟ้าเพื่อการซื้อขายได้ (Commercial Operation Date: COD) ก็ต้องรอนานถึง 10 ปี ถึงเวลานั้นปริมาณความต้องการไฟฟ้าอาจจะเพิ่มขึ้นแล้วก็ได้ ก็ฟังไม่ขึ้นอีก ยิ่ง COD นานถึง 10 ปี รัฐบาลยิ่งควรต้องรอดูทิศทางของแผนพลังงานชาติ 2023 ให้ชัดเจนเสียก่อน ไม่ใช่คาดคะเนลอยๆ แบบนี้
ครั้นจะอ้างว่า ราคาไฟฟ้าที่ซื้อถูกกว่าไฟฟ้าที่ผลิตด้วยก๊าซธรรมชาติ ก็ต้องบอกว่า ผมเห็นด้วยที่จะเพิ่มสัดส่วน ของพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน แต่การเพิ่มขึ้น ของพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน จะต้องทำให้ ประชาชนมีความมั่นคงด้านพลังงานควบคู่ไปด้วย ไม่ใช่ไปเพิ่มความมั่งคั่งให้กับนายทุนโรงไฟฟ้า แล้วทำให้ประชาชนตกอยู่ในสภาวะถูกมัดมือชก ค่าไฟเท่าไหร่ก็ต้องหาเงินมาจ่าย ผมสงสัยว่า ทำไมรัฐบาล จึงไม่ส่งเสริมให้ภาคประชาชนผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และสามารถขายไฟฟ้าให้กับรัฐ ในราคาเดียวกับที่ซื้อจากรัฐ หรือที่เรียกว่า Net Metering ได้ ซึ่งไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ นั้นเป็นพลังงานไฟฟ้าที่สะอาด และไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญยังเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ที่ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อีกด้วย
ครั้นจะอ้างว่า การซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบง นั้นเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ผมคิดว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะกล้าพูดได้อย่างเต็มปากได้อย่างไร เพราะรัฐมนตรีก็รู้อยู่แก่ใจว่า การสร้างเขื่อน นั้นต้องมีการทำลายพื้นที่ป่าเป็นจำนวนมาก และมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อวิถีชีวิต ของทั้งคน และสัตว์ป่านพื้นที่อย่างมหาศาล
เอาเป็นว่า รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน มาตอบกระทู้เถอะครับ สัปดาห์ก่อนก็เบี้ยวมาแล้ว สัปดาห์นี้อย่าเบี้ยวอีกเลยครับ ประชาชนในพื้นที่เขาอยากจะรู้ว่า รัฐบาลได้ประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเอาไว้แค่ไหน อย่างไร มีมาตรการอะไรที่จะชดเชยเยียวยาให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ในเรื่องของเขตแดนระหว่างไทย-ลาว รัฐบาลมีข้อสรุปที่ชัดเจนกับประเทศลาว แล้วใช่ไหม มั่นใจว่าจะไม่มีข้อพิพาทระหว่างประเทศในอนาคต ใช่หรือไม่
สำหรับประชาชนคนอื่นๆ ในฐานะผู้ใช้ไฟฟ้า เขาก็อยากรู้คำตอบว่า รัฐบาลจะสำรองไฟฟ้าเพิ่มอีกทำไม และการตัดสินใจในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าในอนาคตอย่างไร
พรุ่งนี้ (26 ก.ย.) เวลา 12.30 น. ผมจะเข้าไปร่วมรับฟัง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อกรณีนี้ ร่วมกับ คุณนิวัฒน์ ร้อยแก้ว กลุ่มรักษ์เชียงของ คุณเพียรพร ดีเทศน์ International Rivers และคุณทองสุข ธรรมวงศ์ ตัวแทนประชาชนจาก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ที่ Facebook Live ของ The Reporters ท่านใดที่สนใจ สามารถร่วมติดตามรับชม รับฟัง ได้นะครับ
อัลบั้มภาพ 41 ภาพ