เปิดหลักเกณฑ์คัดเลือก “ผบ.ตร.คนใหม่” กฎเหล็ก พ.ร.บ.ตำรวจ 2565 ดู “อาวุโส - งานหลัก”
วันนี้แล้ว (27 กันยายน 2566) ที่เราจะได้รับรู้ว่ากันว่าเก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) จะเป็นของบิ๊กตำรวจคนไหน หลังจากมีการเปิดโผ 4 ตัวเต็งแคนดิเดต แล้วก็ตามมาด้วยประเด็นร้อนมากมายที่หลายคนก็เชื่อมโยงมาถึงเรื่องการคัดเลือก ผบ.ตร. คนที่ 14 อย่างไรก็ตาม การคัดเลือก ผบ.ตร. ในปีนี้ จะไม่เหมือนกับในปีก่อนๆ เนื่องจากหลักเกณฑ์การพิจารณาที่เปลี่ยนไป Sanook เปิดหลักเกณฑ์เลือก ผบ.ตร.คนใหม่ แล้วก็ไปรอลุ้นพร้อมกันว่าใครจะได้ตำแหน่งนี้ไปครอง!
การคัดเลือกแต่งตั้ง ผบ.ตร. ในปีนี้ จะนำ “พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565” มาใช้เป็นหลักในการพิจารณา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่จะมีการใช้หลักเกณฑ์จาก พ.ร.บ. ฉบับนี้มาใช้เพื่อคัดเลือก ผบ.ตร. โดยเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกัน มีดังต่อไปนี้
มาตรา 77 ระบุว่า การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่ง ให้แต่งตั้งตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้
- ตำแหน่ง “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศพลตำรวจเอก ซึ่งดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติ หรือรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
มาตรา 78 การคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 77 (1) (2) (3) (4) (5) (6) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 77 (1) ให้นายกรัฐมนตรีคัดเลือกรายชื่อพนักงานตำรวจผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 77(1) โดยคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกันโดยเฉพาะประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวนหรืองานป้องกันปราบปราม เสนอ ก.ตร.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนแล้วให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
กล่าวคือเจตนารมย์ของกฎหมายต้องการให้แต่งตั้ง ผบ.ตร. โดยคำนึงถึง “ความอาวุโส” มาเป็นเกณฑ์หลักในการพิจารณาก่อน โดยแบ่งเป็นคะแนนอาวุโสกับ “ความรู้ความสามารถ” อย่างละ 50% เท่าๆ กัน เมื่อเรียงอาวุโสแล้ว ใครอาวุโสสูงสุดก็จะได้คะแนน 50% ส่วนคนที่รองลงมาก็เฉลี่ยว่าจะได้กี่เปอร์เซ็นต์
ส่วนอีก 50% จะพิจารณาตาม 5 สายงานที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติใช้พิจารณา แต่ให้คะแนนประสบการณ์ งานสืบสวนสอบสวนและงานปราบปรามเป็นหลัก มากกว่าคะแนนด้านอื่น เนื่องจากในมาตรา 78 (1) ระบุว่า โดยเฉพาะประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวน หรืองานป้องกันปราบปราม แต่ในสายงานอื่นก็ต้องมีคะแนนด้วย การกำหนดคะแนนต้องกำหนดให้เกิดความเป็นธรรม
สำหรับการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานไว้ อย่างเช่น งานสืบสวน 12 คะแนน งานสอบสวน 12 คะแนนงานป้องกันปราบปราม 12 คะแนน งานที่เหลืออีกสองด้านด้านละ 7 คะแนน เป็น 14 คะแนน รวมเป็น 50 คะแนน ทั้งยังให้มีการกำหนดช่วงห่างการให้คะแนน ต้องกำหนดไว้เลยว่าถ้าใครผ่านงานชนิดใดมามากน้อยแค่ไหน ก็จะได้คะแนนมากน้อยเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ถ้าใครไม่ผ่านงานด้านในมาเลย ต้องไม่มีคะแนน เป็นการกำหนดกรอบการให้คะแนนไว้ เพื่อป้องกันการใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจของคณะกรรมการคัดเลือก เพื่อไม่ให้คะแนนของผู้เข้ารับการคัดเลือกแตกต่างกันมาก
ก่อนหน้านี้ ไม่มีการกำหนดกฎเกณฑ์ตั้งแต่แรก หรือกำหนดกฎเกณฑ์แบบไม่เป็นธรรม เพื่อให้การคัดเลือกครั้งนี้เป็นไปโดยเป็นธรรม และให้ได้ผู้ที่มีความอาวุโสและมีความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวนและงานป้องกันปราบปรามตามเจตนารมย์ของมาตรา 78 (1) อย่างแท้จริง