6 ใน 7 ของเหยื่อกราดยิงพารากอน เป็น “ผู้หญิง” สิ่งนี้คือ "Femicide" หรือเปล่า?
จากเหตุการณ์กราดยิงที่เกิดขึ้นภายในห้องสรรพสินค้าสยามพารากอน ศูนย์เอราวัณรายงาน “ผู้ถูกยิงทั้งหมด 7 ราย เป็นชาย 1 ราย เป็นหญิง 6 ราย” ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย โดยเป็นหญิงชาวจีนหนึ่งรายและหญิงชาวเมียนมาหนึ่งราย ข้อมูลจากปากของเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงหรือตามข่าวที่ถูกนำเสนอ มีเพียงการระบุว่าผู้ก่อเหตุเริ่มยิง “ในห้องน้ำหญิงชั้น M” และไม่มีการกล่าวถึงประเด็น “เรื่องเพศ” แต่อย่างใด แต่หากเราลองมองให้ลึกไปกว่าการรายงานตัวเลขของเหยื่อจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นี่อาจกำลังสะท้อนเรื่อง “การฆาตกรรมเพราะเป็นผู้หญิง” หรือ “Femicide” ที่โลกโซเชียลมีเดียกำลังถกเถียงกันอย่างร้อนแรง
- สรุปเหตุ “กราดยิงพารากอน” เรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่มันเกิดขึ้นแล้ว!
- “ความเป็นชาย” ที่ผู้ชายแบกรับและกดทับทุกคน
- Femicide คืออะไร ฆาตกรรมจาก “เหตุแห่งเพศ” เมื่อเป็น “ผู้หญิง” ก็ผิดแล้ว
Sanook พาไปดูปม Femicide ที่อาจเปลี่ยนจากการกราดยิงที่ไม่ระบุเป้าหมายไปเป็นเจตนาเลือกเหยื่อที่เป็นผู้หญิงแทน
อิตถีฆาต: เมื่อผู้หญิงโดนฆ่า
อ้างอิงจากสำนักข่าว Spectrum ระบุว่า สื่อหลายสำนักไม่ได้ระบุว่าห้องน้ำที่เป็นจุดเริ่มต้นของการกราดยิงเป็นห้องน้ำสำหรับเพศใด แต่ข้อมูลนี้ความสำคัญ โดยจากรายงานผู้ถูกยิงทั้งหมด 6 ใน 7 รายเป็นผู้หญิง และข้อมูลของพยานที่อยู่ในเหตุการณ์ที่เป็นผู้ชาย ก็ระบุว่าได้สบตากับผู้ก่อเหตุ แต่ผู้ก่อเหตุไม่ยิงเขา
“เลือกแบบสุ่มอย่างไรจึงมีผู้ชายที่เป็น รปภ. เท่านั้นที่ถูกยิง? เลือกเหยื่อแบบสุ่มอย่างไรถึงเลือกก่อเหตุที่ห้องน้ำหญิง? ที่น่าตกใจคือไม่มีองค์กรสื่อ ตำรวจ หรือหน่วยงานรัฐมดมดเลย ที่ขานรับต่อความผิดปกติในเหตุกราดยิงนี้” สำนักข่าว Spectrum ตั้งคำถาม
หรือนี่จะเป็น “อิตถีฆาต” หรือการฆาตกรรมเพราะเป็นผู้หญิงจริงๆ
อิตถีฆาต (Femicide) คือพฤติกรรมจงใจฆาตกรรมผู้หญิง เพียงเพราะพวกเธอเป็นผู้หญิง เป็นพฤติกรรมที่มีปัจจัยทางเพศเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจ หรือเป็นการเจตนาทำร้ายให้ถึงแก่ชีวิตที่มีแรงจูงใจเกี่ยวกับเพศสภาพ และส่วนใหญ่ผู้ก่อเหตุมักจะเป็นผู้ชาย ถือเป็นอาชญากรรมทางเพศที่เลวร้ายอย่างมาก
ข้อมูลที่เกี่ยวกับอิตถีฆาตมีค่อนข้างจำกัด เนื่องจากเป็นอาชญากรรมที่ไม่ค่อยมีการจดบันทึก แต่ข้อมูลจากการรายงานของ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ระบุว่า ในปี 2560 มีผู้หญิงราว 87,000 คน ถูกฆาตกรรมจากเหตุดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม แรงจูงใจสำคัญที่นำไปสู่การจงใจฆาตกรรมผู้หญิงมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง ความรุนแรงในครอบครัว บทบาททางเพศแบบเหมารวม ความเป็นชายที่เป็นพิษ (Toxic Masculinity) ไปจนถึงแรงจูงใจเรื่อง “ความเกลียดชังผู้หญิง (Misogyny)”
เหตุกราดยิงกับเพศหญิง
สำนักข่าว Mother Jones รายงานข้อมูลความเชื่อมโยงระหว่างผู้ก่อเหตุกราดยิงกับการใช้ความรุนแรงกับผู้หญิง ระบุว่า เหตุกราดยิงอย่างน้อย 22 ครั้ง ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2011 มากกว่า 1 ใน 3 ของการโจมในพื้นที่สาธารณะในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา มีเหตุให้เชื่อได้ว่ามีรากฐานจากความเกลียดชังผู้หญิง โดย 86% ของผู้ก่อเหตุมีประวัติความรุนแรงในครอบครัว 32% มีประวัติเป็นสตอล์กเกอร์และคุกคามทางเพศ
ทั้งนี้ 50% ของผู้ก่อเหตุกราดยิง เลือกลงมือโดยพุ่งเป้าไปที่ผู้หญิง
สถิติเหตุกราดยิงในสหรัฐอเมริกา ระบุว่าตั้งแต่ปี 1996 มือปืน 172 คน เป็นชาย 168 คน และเป็นหญิง 4 คน โดยเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาอย่างน้อย 2 เหตุการณ์ คือ เหตุกราดยิงไนท์คลับที่เมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา ปี 2016 และเหตุกราดยิงโบสต์ในซัตเทอร์แลนด์สปริงส์ รัฐเท็กซัส ปี 2017 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 175 ราย และเหตุสังหารหมูอย่างน้อย 8 ครั้ง ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 61 ราย นับตั้งแต่ปี 2014 ผู้ก่อเหตุทั้งหมดเป็นชายที่มีสัญลักษณ์ของกลุ่ม “อินเซล (Incels)” ระบุว่าตัวเองเป็นอินเซล หรือเคยกล่าวถึงชื่อหรืองานเขียนที่เกี่ยวกับอินเซลในพื้นที่โซเชียลมีเดียของตัวเอง โดยกลุ่มอินเซลดังกล่าวเป็นกลุ่มในโลกออนไลน์ มีลักษณะเกลียดชังผู้หญิง สนับสนุนความรุนแรง เผยแพร่คตินิยมสุดขีด และบ่มเพาะความคิดหัวรุนแรงให้กับสมาชิก
อินเซล = โสดโดยไม่สมัครใจ
อินเซล (Incels) มาจากคำว่า “โสดโดยไม่สมัครใจ” (Involuntary Celibate) เป็นสมาชิกของวัฒนธรรมย่อยออนไลน์ ที่ประกอบด้วยผู้คนที่นิยามว่าไม่สามารถหาคู่รักได้ การพูดคุยกับอยู่ในกระทู้ออนไลน์ของคนกลุ่มอินเซลมีลักษณะแสดงความคับข้องใจหรือความเกลียดชัง ทั้งเกลียดชังผู้หญิง เกลียดชังเพื่อนมนุษย์ เกลียดชังตัวเอง มีอคติทางเชื้อชาติ รู้สึกว่าตัวเองสมควรได้รับสิทธิพิเศาทางเพศ และสนับสนุนการใช้ความรุนแรงกับผู้หญิง
กระบวนการอินเซลเติบโตบนโลกอินเทอร์เน็ต และกระจายตัวอยู่ทั่วทั้งโลก มีอินฟลูเอนเซอร์หลายคนที่กลายเป็น “ไอดอล” ของกลุ่มอินเซล เช่น แอนดรูว์ เทต (Andrew Tate) เป็นต้น โดยมีการสอดแทรกอุดมการณ์ของอินเซลและความเกลียดชังผู้หญิงไปตามแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ อีกทั้งยังมีมียอดเอนเกจเมนต์สูง สะท้อนถึงความนิยมที่คนเหล่านี้ได้รับจากผู้ติดตามอายุน้อย และเป็นตัวจุดเชื้อเพลิงความรุนแรงในหมู่เยาวชนได้เป็นอย่างดี
สำนักข่าว Spectrum อ้างอิงคำอธิบายของวิลเลียม คอสเทลโล อธิบายคุณลักษณะของกลุ่มอินเซล 4 ข้อ ได้แก่
- อยากเป็นที่ยอมรับ
- เชื่อว่าตัวเองมีศีลธรรมสูงกว่าคนอื่น
- ไม่มีความเห็นอกเห็นใจ
- หมกมุ่นกับเรื่องที่ตัวเองเป็นผู้ถูกกระทำ
นอกจากนี้ คนกลุ่มนี้ยังเชื่อแบบแผนของการโต้กลับสังคมที่ทำให้พวกเขากลายเป็นผู้แพ้ด้วยความรุนแรงสุดขีด
สุดท้ายนี้ เราคงไม่อาจล่วงรู้หรือด่วนสรุปได้ว่าแรงจูงใจของผู้ก่อเหตุกราดยิงในพารากอนครั้งนี้จะมีความเชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ แต่ความสูญเสียที่เกิดขึ้นก็สะท้อนให้เห็นความไม่ปลอดภัยในชีวิตของประชาชนในพื้นที่สาธารณะ ถ้าคนในสังคมยังไม่ตระหนัก และหันมาช่วยกันเปลี่ยนแปลงทัศนคติหรือค่านิยม “บางอย่าง” ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา นี่ก็อาจจะไม่ใช่เหตุการณ์ความรุนแรงสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นกับสังคมของเรา